“Squid Game” เปลือยสังคม - การเมือง - เศรษฐกิจ “เกาหลีใต้”
“Squid Game” เปลือยสังคม - การเมือง - เศรษฐกิจ “เกาหลีใต้”
ความจริงอันโหดร้ายถูกถ่ายทอดผ่าน "วัฒนธรรมเคป๊อป" บอกเล่าเรื่องราวความคิด "กลุ่มคนมิลเลนเนียล และเจนแซด" ที่ไม่แยแสสังคม แต่มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเผชิญทางยากลำบาก เพราะโจทย์ใหญ่รออยู่ข้างหน้า คอยทวงถามว่า จะลงคะแนนให้ใครเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
“Squid Game” เปลือยสังคม - การเมือง - เศรษฐกิจ “เกาหลีใต้”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เป็นเวลาหลายสิบปี ตลาดกลางกรุงโซลในย่านซินดัง ส่วนใหญ่เป็นร้านค้า และสตรีทฟู้ดแบบติดดิน กลายเป็นแหล่งพบปะกันของคนวัยเกษียณที่มองหาอาหาร เสื้อผ้า และเครื่องครัวราคาถูก
ทุกวันนี้ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดย่านซินดังต้องแข่งขันเพื่อตึงพื้นที่ร้านค้าดั้งเดิมไว้จากเหล่าฮิปสเตอร์ที่มาเปิดร้านเน้นบริการลูกค้ากลุ่มส้นสูง หนุ่มสาวออฟฟิศ และเหล่าคนรักสุขภาพ อย่างที่เห็นว่า เริ่มมีร้านคาเฟ่เก๋ๆ แทรกตัวขึ้นมา ระหว่างร้านข้าวกับร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าๆ ในตลาด แต่ค่าเช่าที่ถีบตัวสูงลิ่ว และพื้นที่รอบๆ กำลังถูกรุกคืบด้วยตึกสูงใหญ่ เป็นปัจจัยเสริมที่สร้างความบาดหมางในสมรภูมิคนต่างวัย
ภาพความขัดแย้งเหล่านี้ แฝงอยู่ในหลายฉากของซีรีส์เกาหลีใต้ “Squid Game” หรือ "สควิดเกม เล่นลุ้นตาย" แบบไม่อาจปฏิเสธได้!!
"ลี ยองแจ" วัย 78 ปี เจ้าของร้านอุปกรณ์ทำครัวมือสอง เปิดมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 บอกว่า ยิ่งเห็นวัยรุ่นพวกนี้เท่าไร ยิ่งกังวลอนาคตประเทศมากขึ้นเท่านั้น
ในเมื่อขณะนี้ เกาหลีใต้เริ่มต้นก้าวสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก แต่เด็กพวกนั้นยังบ่นว่า สังคมและชีวิตไม่ยุติธรรม ในทางกลับกันจงชินกับมันซะ! เพราะพวกเขาทำได้แค่ก่นด่าประเทศ แต่ไม่เคยเต็มใจจะชื่นชมกับสิ่งที่ได้รับ
ห่างออกไปจากร้านของยองแจไม่เกิน 10 เมตรได้พบกับโช อึนบยอล นักการสื่อสาร วัย 33 ปี ซึ่งกำลังจิบลาเต้ในคาเฟ่หรูที่เคยเป็นร้านขายข้าวมาก่อน เธอค้านความเห็นของยองแจ และบอกว่า เป็นเรื่องไร้สาระ นั่นเกิดขึ้นในสมัยเก่าที่ทุกคนจะสามารถซื้อบ้านหลังใหญ่ หากเรียนและทำงานหนัก แต่ตอนนี้เป็นเพียงหนึ่งหน้าบันทึกประวัติศาสตร์
คนเกาหลีใต้กลุ่มมิลเลนเนียลช่วงวัย 30 ปี และเจนแซดช่วงวัย 20 ปี กำลังแสดงความเห็นโต้แย้ง และชี้ถึงสังคมที่แตกแยก รวมถึงเศรษฐกิจประเทศกำลังแย่ลง บางคนเรียกตัวเองว่า“คนรุ่นใหม่ที่ยอมแพ้” และเยาะเย้ยประเทศของตนเองว่า “ขุมนรกโชซอน” ซึ่งหมายถึงราชวงศ์ที่ปกครองคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นเวลาครึ่งสหัสวรรษ
แม้คนกลุ่มนี้เป่าประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า เกาหลีใต้มีนโยบายการเงินที่หละหลวม มากไปกว่านั้นเร็วๆนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของคนที่นี่ ทำให้ต้องลุ้นต่อ โดยเฉพาะอนาคตการเมืองของประเทศ
ปัญหาเหล่านี้ กัดกร่อนความจงรักภักดีที่จะมีผลต่อเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2565 เพื่อหาคนมาแทนที่ปธน.มุน แจ อิน วัย 68 ปี
ประเด็นสังคมและเศรษฐกิจประเทศที่ผุดขึ้นเรื่อยๆ ถูกนำมาถกเถียงอย่างดุเดือด ตั้งแต่ค่าเช่าที่สูงขึ้น การเล่นพรรคเล่นพวก และการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงทั้งที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล และพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นฝ่ายค้าน
“เกาหลีใต้” สังคมแบ่งแยกเพศ
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานว่าเกาหลีใต้มีช่องว่างค่าจ้างที่กว้างที่สุดระหว่างชายและหญิง
เกาหลีใต้ มีอัตราความยากจน 16.7% เป็นอันดับ 4 ในบรรดาประเทศสมาชิกของ OECD ประกอบด้วย 38 ประเทศ โดยเกาหลีใต้ มีช่องว่างค่าจ้างสูงสุดระหว่างชาย และหญิง อยู่ที่ 32.5%
ส่วนราคาบ้านในเขตพื้นที่มหานครโซล มีประชากรกว่าครึ่งของประเทศเกือบ 52 ล้านคนอาศัยอยู่ ขณะนี้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว ในช่วง 5ปีที่ผ่านมา แม้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 20% แต่อัตราการว่างงานก็สูงประมาณ 4% ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี
“นี่แหละ ความจริงที่โหดร้าย ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีบ้านในกรุงโซล และยากมากที่จะได้งานทำที่ดี แม้ว่าคุณจะจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำก็ตาม”
ความเครียดของคนเกาหลีใต้ที่หวังหาทางออก ได้ถูกถ่ายทอดอย่างละเอียดใน “Squid Game” บอกเล่าเรื่องราวคนที่เป็นหนี้ท่วมหัวกว่า 400 คน ยอมเล่นเกม เดิมพันชีวิตหวังชิงรางวัล แม้ต้องเสี่ยงตาย โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่า เป็นเพียงความสนุกสนานของกลุ่มคนวีไอพีที่ร่ำรวยเท่านั้น
ทำนองเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” ที่ได้รับรางวัลออสการ์ บอกเล่าเรื่องราวครอบครัวยากจนที่วางแผนเข้าไปทำงานในบ้านคนรวย โดยการเพิ่มคุณสมบัติตัวเองให้สูง และแสร้งว่า พวกเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งที่ความจริงพวกเขาเป็นพ่อแม่ลูก
จนถึงขณะนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อย ซึ่งเคยลงคะแนนเสียงให้กับปธน. มุน เพื่อขับไล่อดีต ปธน.ปาร์ค กึน เฮ ผู้อื้อฉาวข่าวทุจริต ตอนนี้พวกเขากำลังหงุดหงิดใจในความล้มเหลวจากการบริหารประเทศของปธน.มุน และยังถูกสั่นคลอนด้วยเรื่องอื้อฉาวการใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาที่รัฐมนตรียุติธรรมในขณะนั้นใช้อิทธิพลของเขา เพื่อให้ลูกๆ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
“จุดเหมือนและต่าง” ทางการเมืองของคนต่างวัย
กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อยรู้สึกอุ่นใจกับพรรคพลังประชาชน หรือพีพีพี เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม ขณะนี้ทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน และเริ่มฝากความหวังกับอี จุน-ซ็อก นักการเมืองชาวเกาหลีใต้ วัย 36 ปี ที่เพิ่งคว้าชัยชนะในการลงคะแนนเลือกขึ้นเป็นประธานพรรคพีพีพี ปูทางสู่การลงชิงชัยเลือกตั้ง ปธน.เกาหลีใต้ ในปีหน้า
ในการสำรวจของ Realmeter ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า พรรคพีพีพี เป็นที่ชื่นชอบของชาวเกาหลีใต้ในช่วงอายุ 20 ปี และ 30 ปี เช่นเดียวกับฐานเสียงเดิมเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในช่วงอายุ 60 ปี และ 70 ปี
ลี มุนจิน วัย 45 ปี อาศัยในจังหวัดชุงชอง อีกหนึ่งสมรภูมิเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีการแข่งขันอย่างดุเดือด กล่าวว่า สมัยนี้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มีความเป็นปัจเจกเกินไป พวกเขาให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ชุมชน ดูจากการตัดสินใจออกจากงาน ด้วยเหตุผลง่ายเกินไป
" MZ เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ในสังคมเกาหลีใต้ที่รวมกลุ่มมิลเลนเนียล และเจนแซดไว้ด้วยกัน ตอนนี้กลุ่ม MZ เลือกที่จะละทิ้งการแต่งงาน มีลูก และซื้อบ้าน ไปมีชีวิตที่เลือกเองได้ ไม่เดินตามแบบแผนเดิม"
ลี แสดงความหวังว่า ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนต่อไป ไม่ว่าเขาจะเป็นตัวแทนของพรรคไหนก็ตาม จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และคาดว่าอย่างน้อยเขาหรือเธอจะมีความเห็นอกเห็นใจมากกว่านี้ และพยายามทำให้สังคมเกาหลีใต้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แน่นอนว่า "ฉันจะลงคะแนนให้คนที่เต็มใจต่อสู้ เพื่อความยุติธรรม"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.blockdit.com/posts/6174c53bcf47960cab3b4b31 |