สิ่งที่ผู้ปกครองต้องรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด-19ให้เด็ก

สิ่งที่ผู้ปกครองต้องรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิด-19ให้เด็ก

4 ต.ค.นี้ดีเดย์ฉีดวัคซีนโควิด-19ให้กับเด็ก12- 17ปี 4.5 ล้านคน แต่ก่อนที่ผู้ปกครองจะตัดสินใจสมัครใจยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีนหรือไม่ ควรต้องรู้อย่างน้อย 5 ข้อ และอย่าลืมว่า “ผู้ปกครองมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ให้เด็กรับวัคซีนได้ โดยไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน”

 


1. เด็กอาการไม่รุนแรง-อัตราตายต่ำ

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย จากข้อมูลการติดเชื้อในเด็กวัยเรียนวัยรุ่น 6-18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 - 11 ก.ย. 2564 ติดเชื้อสะสม 129,165 ราย กว่า 90% เป็นคนไทย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่ มีโรคประจำตัว ทั้งนี้เมื่อดูรายเดือนพบว่าเม.ย.ติดเชื้อ 2,426 ราย พ.ค. ติดเชื้อ 6,432 ราย มิ.ย. ติดเชื้อ 6,023 ราย ก.ค. ติดเชื้อ 31,377 ราย และส.ค.ติดเชื้อ 69,628 ราย ถือว่ามีแนวโน้มติดเชื้อมากขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้เปิดเรียน ส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัวและการเดินทางสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน ส่วนการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูล 5 ก.ย. ฉีดแล้ว 897,423 ราย คิดเป็น 88.3% ยังไม่ได้ฉีด 118,889 ราย คิดเป็น 11.7% ส่วนกลุ่มเด็ก 12-18 ปี ซึ่งมีการฉีดในคนที่มีโรคประจำตัวนั้น ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม1 จำนวน 74,932 ราย เข็ม 2 จำนวน 3,241 ราย

 

นอกจากนี้ ในเอกสารแสดงความประสงค์ของผู้ปกครองเพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นเอกสารที่จะให้ผู้ปกครองอ่านก่อนตัดสินใจลงนามยินยอมหรือไม่ ระบุว่า โรคโควิด-19 การติดเชื้อในเด็กสามารถมีอาอาการได้หลากหลายตั้งแต่ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต

 

โดย 90 %ของผู้ป่วยเด็กติดเชื้อมักมีอาการไม่รุนแรง พบอาการเพียงเล็กน้อบ เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ และมีเพียง 5 % ของผู้ป่วยเด็กติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึง ภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก ภาวะแทรกซ้อนมักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ในประเทศไทยพบว่าแม้จะมีการติดเชื้อในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก

2. วัคซีนโควิด-19กับเด็ก

ขณะนี้ประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ให้ใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไป เฉพาะชนิด mRNA โดยมี 2 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยวัคซีนชนิดนี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ เริ่มใช้ในวัคซีนโควิด-19 มาราว 1 ปี ยังไม่ทราบถึงผลการติดตามในระยะยาว และยังไม่เคยใช้เป็นแพลตฟอร์มในการผลิตวัคซีนเด็ก แต่หากผู้ปกครองประสงค์ให้เด็กรับวัคซีนชนิดนี้สามารถเข้ารับได้ในช่วงเดือนต.ค.นี้ทันที

ส่วนวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยสำหรับใช้ในเด็ก โดยเฉพาะชนิดเชื้อตาย ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลในประเทศจีนมีการฉีดในเด็กไปแล้วกว่า 90 ล้านโดส และแพลตฟอร์มนี้ใช้ผลิตวัคซีนมานานแล้ว แต่หากผู้ปกครองประสงค์ให้เด็กรับวัคซีนชนิดนี้ จะต้องใช้เวลารอคอยการได้รับวัคซีน จนกว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จะพิจารณาอนุมัติปรับทะเบีบนให้สามารถฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ และคณะกรรมการวิชาการพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถนำมาฉีดให้กับเด็กได้ โดยหากทั้ง 2 ขั้นตอนสามารถดำเนินการได้ภายในต.ค. ก็จะสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายได้ในเดือนต.ค. เนื่องจากมีวัคซีนซิโนแวคที่จะส่งมอบในเดือนต.ค.ราว 6 ล้านโดส

 

3.ภาวะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนไฟเซอร์

กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สะสม 869,811 โดส มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องสอบสวนโรคจาก 90 ราย คิดเป็น 10.35ต่อแสนโดส เกี่ยวข้องกับวัคซีน กรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย คิดเป็น 0.11ต่อแสนโดส หายเป็นปกติ เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน

สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA รายงานอุบัติการณ์การเกิดประมาณ 16 ราย ใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ส่วนใหญ่พบภายในที่ 7 วัน พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 เพศชายที่อายุ 12-17ปีจะมีอัตราการเกิดสูงสุด

รองลงมาช่วงอายุ 18-24 ปี และผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย ใจสั่น หากมีอาการภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีนควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ กรณีเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA


4. "เด็กปกติ”ควรฉีด 16 ปีขึ้นไปไม่ใช่ 12 ปีขึ้นไป

คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ฉบับล่าสุดของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ระบุว่า แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีจนถึงน้อยกว่า 18ปีทุกรายหากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่ปรกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรง เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเดิบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคชีนป้องกันโรคโควิด-19 มากเพียงพอ

สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ดังต่อไปนี้

1. บุคคลที่มีโรคอ้วน (คัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเต็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)

2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง

3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

4. โรคได้วายเรื้อรัง

5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

6. โรคเบาหวาน

7. กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

5. ผู้ใหญ่แวดล้อมเด็กต้องฉีดวัคซีน

ไม่ว่าเด็กจะเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ปกครอง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่แวดล้อมเด็กควรต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน และทุกคนแม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/social/960999

 

Visitors: 1,380,210