ผู้หายป่วยจากโควิด อาจเกิดภาวะลอง โควิด (Long COVID)

ผู้หายป่วยจากโควิด อาจเกิดภาวะ “ลอง โควิด” (Long COVID)
 
 
 
 
คืออาการที่ยังหลงเหลือ หากมีอาการไข้ ลิ้นไม่รับรส ปวดกล้ามเนื้อให้รีบพบแพทย์
 
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผย ขณะนี้แนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาหายรายวันมีจำนวนเพิ่มขึ้น สูงกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ สะท้อนถึงคุณภาพระบบการดูแลรักษา ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงวันนี้รวม 1,405,374 ราย หลายรายแม้จะหายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว อาจจะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ภาวะลอง โควิด” (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด 19 ระยะยาว ซึ่งสามารถพบภาวะนี้ได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยโรคโควิด 19 จึงไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจแต่อย่างใด
 
ทางด้านนายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของ“ภาวะลองโควิด” แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และบางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย โดยผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการน้อย 

เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด 19 จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดด้วย เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เรื่องเพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
 
ที่มา : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
Visitors: 1,380,214