Smiling Depression เพราะว่ายิ้ม ไม่ได้แปลว่ามีความสุข

Smiling Depression เพราะว่ายิ้ม ไม่ได้แปลว่ามีความสุข
 
ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่เรื่องเครียดให้คิดจนปวดหัวเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน การเงิน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ ไม่ว่าเรื่องไหนก็มีแต่ปัญหา ไม่เป็นไปตามที่หวัง จะเข้าโซเชียลหาอะไรดูให้สบายใจขึ้นสักหน่อย ก็เจอแต่ข่าวสถานการณ์บ้านเมืองและโควิดที่นับวันมีแต่แย่ลงเรื่อยๆ จะออกไปไหน เจอคนสักหน่อยก็ยังทำไม่ได้
.
ความสุขในแต่ละวันที่มีแต่ลดน้อยถอยลง ตรงกันข้ามกับความเครียดที่มีแต่เพิ่มพูนสูงขึ้น เมื่อเกิดความรู้สึกไม่ดี เครียด เสียใจ หรือเศร้า หลายคนคงเลือกที่จะระบายผ่านการร้องไห้ หรือแสดงออกมาด้วยการเล่าให้ใครสักคนฟัง แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนเลือกที่จะ ‘ยิ้ม’ กลบเกลื่อนความรู้สึกจมดิ่งเหล่านี้ที่อยู่เบื้องลึกภายในจิตใจไว้คนเดียว
.
.
 
ซึมเศร้าแต่ไม่แสดงออก
.
เมื่อพูดถึง ‘ความเศร้า’ คนทั่วไปอาจนึกถึงความหมองหม่น ใบหน้าที่ปราศจากรอยยิ้ม และคราบน้ำตา แต่ความจริงแล้วในบางครั้ง ความเศร้าอาจไม่ได้ถูกแสดงออกให้เห็นโดยตรงแบบนั้นเสมอไป มีหลายคนเลือกที่จะปกปิดความรู้สึกหดหู่เหล่านั้นเอาไว้ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแสนสดใส ทั้งที่ภายในมีแต่ความเศร้าอันเต็มเปี่ยม นักจิตบำบัดจึงเรียกอาการนี้ว่า ‘Smiling Depression’
.
คนที่ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส สร้างเสียงหัวเราะกับผู้อื่น อาจเป็นคนเดียวกับคนที่นอนเศร้าเมื่ออยู่ตัวคนเดียว คนที่เป็น Smiling Depression อาจมีชีวิตที่คนภายนอกมองเห็นว่าดูดี มีความสุข ทั้งที่ความจริงแล้วภายในใจคนนั้นกลับรู้สึกว่างเปล่า มีแต่ความทุกข์ที่เกาะกุมอยู่เต็มในหัวใจ ความคิดข้างในจิตใจไม่ได้มีความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’ อย่างที่แสดงออกไปเลย
.
 
อาการนี้มักจะพบบ่อยๆ ยิ่งเมื่อเห็นข่าวการฆ่าตัวตาย หลายๆ ครั้งก็มักจะเห็นคนรอบตัวออกมาพูดกับเคสเหล่านี้ว่า “ปกติก็เห็นเป็นคนร่าเริง ไม่คิดว่าจะเครียด” อย่างจากรายงานของกรมสุขภาพจิต พบว่าในปี 2561 มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน และในแต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายกว่า 4,000 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในสองไตรมาสแรกของปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 แสดงให้เห็นว่า หลังจากนี้เราควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป
.
.
 
อาการของรอยยิ้มที่เปื้อนคราบน้ำตา
.
คนที่ยิ้มแย้มที่สุดในกลุ่ม อาจกำลังเป็นคนที่เศร้าที่สุดอยู่ก็ได้ คนที่คุณเห็นยิ้มอยู่บนหน้าไทม์ไลน์ อาจกำลังกุมความเจ็บปวดภายในอยู่ด้วยเช่นกัน อาการของคนที่เป็น Smiling Depression ก็เหมือนกับอาการของโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) คือ รู้สึกไร้ค่า เบื่อหน่ายกับชีวิต ความอยากอาหารและการนอนเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสมาธิ และไม่มีความสุขกับสิ่งที่เคยชอบทำ ไปจนถึงความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
.
คุณเองก็สามารถลองทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าเบื้องต้นของกรมสุขภาพจิตได้ที่: https://bit.ly/2TQ1q66
.
 
แต่สำหรับอาการ Smiling Depression จะต่างไปตรงที่ คนประเภทนี้มักจะไม่แสดงความรู้สึกเศร้าออกมา และใช้รอยยิ้มคอยกลบเกลื่อนความรู้สึกตัวเอง ซึ่งคนที่มีอาการนี้อาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองมีอาการของโรคซึมเศร้าแอบแฝงอยู่ เพราะมักจะกดทับความรู้สึกตัวเองอยู่บ่อยๆ จนอาจหลงลืม ไม่เข้าใจความรู้สึกจริงๆ ของตัวเอง
.
.
 
เหตุผลภายใต้หน้ากากแห่งรอยยิ้ม
.
มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะสวมใส่หน้ากากแห่งรอยยิ้มปิดบังหยดน้ำตาข้างใน ทั้งเพราะว่าไม่อยากเป็นภาระ ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี หรือกลัวการถูกตัดสินจากคนรอบข้าง กลัวถูกหาว่าเรียกร้องความสนใจ อีกทั้งยังถูกคาดหวังจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ร่าเริง จึงคิดว่าการยิ้มหรือหัวเราะอาจจะทำให้ค่อยๆ เลือนความรู้สึกเศร้าในใจไปได้เอง และไม่อยากยอมรับความรู้สึกตัวเองออกมา คิดว่าการแสดงออกถึงความเศร้าคือความอ่อนแอ หรือบางคนอาจไม่รู้ตัวเองว่าเศร้าอยู่เลยด้วยซ้ำ เพราะมัวแต่คอยกดทับความรู้สึกตัวเอง ไม่แสดงออกถึงความรู้สึกให้ใครเห็นจนเคยชิน จึงมีแต่รอยยิ้มที่แสดงออกมาแทนรอยร้าวที่พบเจอ
.
.
 
หากคุณรู้ตัวว่ามีอาการเหล่านี้อยู่ล่ะก็ สามารถลองเข้าไปพบจิตแพทย์ เพื่อพูดคุยทำจิตบำบัด อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนรอบข้าง ให้ทุกคนหมั่นใส่ใจความรู้สึกคนรอบตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ตัดสินคนอื่นจากแค่เพียงสิ่งที่เห็นภายนอก แต่ทำความเข้าใจผ่านการสอบถามและรับฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่นำความคิดจากทัศนคติตัวเองมาเปรียบเทียบให้ใครต้องรู้สึกแย่ ไม่กล้าแสดงออกมามากกว่าเดิม
.
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ ‘การรักษาจิตใจตัวเอง’ หาสิ่งที่ชอบทำ อยู่กับคนที่ทำให้สบายใจ และยอมให้ตัวเองได้ปลดปล่อยความรู้สึกและแสดงอารมณ์ออกมาบ้าง อารมณ์เศร้าก็เป็นความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ การปลดปล่อยมันออกมา ย่อมดีกว่าการกดทับมันเอาไว้ ปล่อยให้ตัวเองได้เศร้าบ้าง ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งหรือมีความสุขตลอดเวลาก็ได้
.
 
และถ้าเมื่อไรคุณพร้อมจะเล่าให้ใครสักคนฟัง คุณก็จะเห็นว่ายังมีคนรอบข้างอีกมากมายที่รอฟังคุณระบายความรู้สึกที่แท้จริงออกมา อีกทั้งยังพร้อมสนับสนุนและมอบความรักที่จริงใจให้กับคุณอยู่เสมอเหมือนกัน แต่ถ้าหากคุณรู้สึกไม่มีใครอยู่เลยจริงๆ แล้วล่ะก็ อย่างน้อยก็ยังมี ‘ตัวคุณ’ ที่จะอยู่กับคุณเสมอ แค่หันกลับมาโอบกอดตัวเอง และโอบรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างขึ้นมาเป็น The Best Version of You ในตอนนี้ ลองปล่อยให้ตัวเองได้มีอารมณ์และความรู้สึกดูบ้าง ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้วยังไงก็ไม่มีใครสามารถรักคุณได้เท่ากับการที่คุณรักตัวเองได้อีกแล้ว
.
.
 
เพราะการแสดงความรู้สึกตัวเองออกมา ร้องไห้ให้ใครสักคนเห็น ก็ไม่ได้แปลว่าคุณอ่อนแอซะหน่อย
พยายามมาได้ขนาดนี้ คุณก็เก่งมากแล้วนะ
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
 
ที่มา : Mission To The Moon
 
 
Visitors: 1,378,050