เพิ่มจุดตรวจโควิดเชิงรุกวันละ 1 หมื่นราย เริ่ม 12 ก.ค.เป็นต้นไป หากพบติดเชื้อจับคู่ให้คลินิกชุมชนอบอุ่นดูแลที่บ้าน

 สปสช.จับมือ สปคม. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทีมตรวจโควิด-19 เชิงรุก ใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test รู้ผลใน 30 นาที

 

 

ตั้งเป้าตรวจวันละ 10,000-12,000 ราย เริ่ม 12 ก.ค.เป็นต้นไป หากพบว่าติดเชื้อจะเข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้านภายใต้การดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่น แจกอุปกรณ์วัดไข้และออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร มีหมอวิดีโอคอลติดตามอาการทุกวัน พร้อมส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ และถ้าอาการแย่ลงก็จะส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดหนักจนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่ต้องการเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบให้ สปสช.ประสานกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกกระจายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าตรวจให้ได้วันละ 10,000-12,000 คน เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการประมาณ 1-2 สัปดาห์

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อดังกล่าว จะใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที โดยหากปรากฎว่าผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและเตียงในโรงพยาบาลใน กทม. ก็ใช้งานจนเต็มแล้ว ดังนั้นกรมการแพทย์จึงได้วางแนวทางให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation)

"ขอย้ำว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งให้ท่านกลับไปอยู่บ้านเฉยๆ เราได้ออกแบบระบบรองรับไว้แล้ว โดยให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ในพื้นที่ที่ท่านพักอาศัยคอยติดตามดูแลสุขภาพของท่าน หากไม่สามารถดูแลที่บ้านได้เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยไม่พร้อมก็จะเป็นการดูแลโดยชุมชนในสถานที่ที่ชุมชนจัดไว้ เช่น ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคประชาสังคมได้ดำเนินการแล้ว โดยเมื่อทราบผลว่าติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่การพบการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มการตรวจเชิงรุกคือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือกลุ่มสีเขียว ก็จะมีการรายงานผลเข้าระบบฐานข้อมูลของ สปสช. ส่วนท่านกลับไปกักตัวที่บ้านก่อน อย่าออกไปไหน สปสช.จะจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อการดูแลให้ ซึ่งก็จะมีคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อไปหาท่านภายใน 48 ชั่วโมง" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า เมื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว ก็จะส่งเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ที่บ้าน รวมถึงยาฟ้าทะลายโจร โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ของคลินิกนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทำวิดีโอคอล หรือ Telehealth ติดตามประเมินอาการวันละ 2 ครั้งทุกวัน ขณะเดียวกันก็จะจัดส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถกักตัวอยู่ในบ้านได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดหาอาหาร

นอกจากนี้แล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการแย่ลงหรือเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง คลินิกชุมชนอบอุ่นจะประสานกับโรงพยาบาลรับส่งต่อของตัวเองให้รับตัวผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาล และในกรณีที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ ก็เตียงเต็มอีก ก็จะประสานสายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เพื่อหาเตียงให้ ซึ่งระหว่างที่รอเตียงอยู่ก็จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน เพื่อประคองอาการไปก่อนจนกว่าจะได้เตียงในโรงพยาบาล

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถรักษาที่บ้านได้ ขณะที่ สปสช.มีเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นในพื้นที่ กทม. 204 แห่ง แต่ละแห่งมีศักยภาพ (capacity) ดูแลผู้ป่วยได้ 200 ราย รวมแล้วสามารถดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่รักษาตัวที่บ้านได้ประมาณ 40,000 ราย ซึ่งเมื่อผู้ติดเชื้อสีเขียวเข้าสู่ระบบการรักษาตัวเองที่บ้าน ก็จะทำให้มีพื้นที่เตียงว่างในโรงพยาบาลสำหรับรองรับผู้ป่วยที่อาการปานกลางและอาการรุนแรงได้มากขึ้น


อย่างไรก็ตาม นอกจากการจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้ว กรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการที่ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาหรือต่างจังหวัด สปสช.เปิดสายด่วน 1330 ให้ประชาชนแสดงความจำนงที่จะกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัด แล้ว สปสช.จะประสานจังหวัดและจัดรถไปส่งที่โรงพยาบาลให้ โดยค่าพาหนะเบิกจาก สปสช.ได้ตามหลักเกณฑ์

ทั้งนี้จุดตรวจเชิงรุกโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ที่จะเริ่มในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไป เวลา 8.00 น.เป็นต้นไปจนกว่าจะตรวจครบ ดังนี้ 1.สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 2.สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) เขตบางกะปิ กทม. ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ ทางสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จะเป็นผู้ตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ตั้งเป้าจุดละ 3,000 รายต่อวัน และ 3. ลานจอดรถชั้น 5 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ โดย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้ตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test (เนื่องจากวันแรกจะทดลองระบบวันละ 500 รายก่อนจะเพิ่มจนได้ตามเป้าหมายวันละ 3,000 ราย)

และในวันพุธที่ 14 ก.ค.เป็นต้นไป เวลา 8.00 น.เป็นต้นไปจนกว่าจะตรวจครบ จะเพิ่มอีก 1 จุดคือ 3,000 รายต่อวันเช่นกัน คือที่สนามฟุตบอลกองพล ปตอ. เกียกกาย เขตดุสิต กทม. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จะเป็นผู้ตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test

ทั้งนี้ สปสช.มีแผนขยายการตรวจโควิด-19 เชิงรุกโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ในคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น ลดความแออัดที่จุดตรวจเชิงรุก และลดการรอคอย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330

 

ที่มา : สปสช

Visitors: 1,380,209