ใกล้ยึดประเทศ ‘สายพันธุ์เดลต้า’ แพร่ระบาดทั่วไทย

ใกล้ยึดประเทศ ‘สายพันธุ์เดลต้า’ แพร่ระบาดทั่วไทย

ใกล้ยึดประเทศ ‘สายพันธุ์เดลต้า’ แพร่ระบาดทั่วไทย
4 กรกฎาคม 2564 
 

'สายพันธุ์เดลต้า' สายพันธุ์โควิด 19 ที่น่ากลัวมากที่สุดในขณะนี้ และกำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดได้เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น

 

ความหวั่นวิตกของคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19ในไทยเข้าขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น ภาวะวัคซีน ไม่เพียงพอ เตียงตึง หลายโรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 และล่าสุด ได้รับข้อมูลการศึกษาว่าเดือนที่ผ่านมา พบว่าอัตราส่วนสายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย สูงขึ้นเร็วมาก จนขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลต้า อีกทั้ง สายพันธุ์เดลต้า ที่เริ่มพบในคนงาน ก่อสร้าง ระบาดได้ง่ายกว่า สายพันธุ์อัลฟ่า  หรือ สายพันธุ์อังกฤษ อยู่ 1.4 เท่า 

  • ค้นพบความน่ากลัวของ ‘สายพันธุ์เดลต้า’

อย่างที่ทราบกันดีว่า สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เป็นสายพันธุ์ที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมถึงองค์กรระดับโลก นานาชาติ และหน่วยงานในไทย ต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า สายพันธุ์เดลต้า น่ากลัวมากที่สุด เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ แถมเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

162532172126

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก ‘WHO’ เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่พบครั้งแรกในอินเดียได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ แล้วกว่า 80 ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) โดยพบว่าเชื้อไวรัส สายพันธุ์เดลต้า ยังคงมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ในสหรัฐตรวจพบไวรัส สายพันธุ์เดลต้า เป็นจำนวน 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั้งหมด

 
  • WHO’ ติดตามตรวจสอบสายพันธุ์เดลต้า พลัส

นอกจากนี้ WHOยังติดตามรายงานการตรวจพบ ‘สายพันธุ์เดลต้า พลัส’ (Delta Plus) เมื่อไม่นานมานี้ โดย ดร. มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเทคนิคของ  WHO กล่าวว่า คิดว่ารายงานนี้หมายถึงมีการตรวจพบการกลายพันธุ์แบบใหม่ จึงทำให้เราต้องตรวจสอบทั้งหมด

ขณะเดียวกัน WHO ก็ได้เพิ่มรายชื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีกตัวหนึ่งในรายชื่อสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม โดยให้ชื่อว่า ‘สายพันธุ์แลมบ์ดา’ (Lambda)

162532173678

ทั้งนี้ WHO มีการติดตามเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 50 สายพันธุ์ แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์จะเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยระดับโลกจนต้องเพิ่มในรายชื่อเฝ้าระวัง

ดร. มาเรีย ระบุว่า ไวรัส ‘สายพันธุ์แลมบ์ดา’ มีการกลายพันธุ์หลายจุดในโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราการแพร่กระจายของเชื้อได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอที่จะทำความเข้าใจเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ได้อย่างสมบูรณ์

 

 
  • คาด 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลต้า แซงสายพันธุ์อัลฟ่า

สำหรับประเทศไทยนั้น จุดเริ่มต้นที่พบการระบาด ‘สายพันธุ์เดลต้า’ คือ แคมป์คนงานหลักสี่ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยล่าสุด นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สรุปภาพรวมการแพร่ระบาดระลอกสาม พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) 86.31% มียอดผู้ป่วยสะสม 7,859 ราย รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 12.3% มียอดผู้ป่วยสะสม 1,120 ราย พบใน 35 จังหวัด และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 1.39% มีผู้ป่วยสะสม 127 ราย พบใน 8 จังหวัด

“ในรอบสัปดาห์ วันที่ 21-27 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา สายพันธุ์เดลตาเริ่มมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในกรุงเทพฯ โดยมีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ด้วยสายพันธุ์นี้ 32.39% หรือคิดเป็นจำนวน 331 รายภายในสัปดาห์เดียว ส่วนใหญ่อยู่ในแคมป์คนงาน ส่วนสายพันธุ์อัลฟ่าคิดเป็น 67.51% ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2-3 เดือน จะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟ่า นพ. ศุภกิจ กล่าว

162532175965

 

  • กทม.ส่วนใหญ่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าร้อยละ 70

ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยข้อมูลพบมีกลุ่มผู้ตืดเชื้อ แล้วกว่า 10 ราย เป็นกลุ่มคนไข้ ที่เข้ารับการรักษาตัว  แต่ยังต้องรอข้อมูลการสอบสวนโรคอีกครั้งว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ หรือไม่

มีการคาดการณ์ ว่าประเทศไทย ‘สายพันธุ์เดลต้า’ (อินเดีย)จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเหมือนสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ)  ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) มีความไวในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ)  40%

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่าจากการศึกษาวิจัยของเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กว่า 700 ตัวอย่าง ในเดือนที่ผ่านมา พบว่าอัตราส่วนในการพบสายพันธุ์เดลต้า สูงขึ้นเร็วมาก จนขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลต้า

162528358876

สายพันธุ์เดลต้า ติดต่อได้ง่ายมาก ดังนั้นในบางครั้งจะไม่รู้เลยว่ารับเชื้อมาจากที่ใด และการระบาดจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างมาก

การดูแลป้องกันลดการระบาด จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ในการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ระเบียบวินัย ใส่หน้ากากอนามัยตลอด ล้างมือใช้แอลกอฮอล์เป็นนิจ กำหนดระยะห่าง ลดจำนวนการรวมคน และต้องตระหนักเสมอว่า โอกาสที่จะติดโรคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าไม่จำเป็นอยู่บ้านจะดีที่สุด

  • สถานการณ์เตียง น่าห่วงพอกับ 'สายพันธุ์เดลต้า'

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นอกจากปัญหาเรื่องของสายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังแพร่ระบาดมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ประเทศไทย ยังประสบปัญหาเรื่องของเตียง รอบรับผู้ป่วยโควิด 19 โดยเฉพาะสถานการณ์ในเดือนก.ค.นี้

นพ.สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมแพทย์ กล่าวสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น กำลังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเดือนก.ค.นี้ หนักแน่ และตอนนี้จำนวนเตียงทั้งประเทศหากมองภาพรวม ยังพอรับได้ โดยในภาครัฐยังมี 70,000 กว่าเตียง แต่ในกทม.และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดทางภาคใต้ สถานการณ์ค่อนข้างหนัก เดิมมีการขยายเตียงทั้ง เตียงในห้องไอซียู และเตียงในโรงพยาบาล ใน โรงพยาบาลสนาม แต่ในส่วนของเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงอาจจะขยายได้น้อย เพราะต้องมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ส่วนกลุ่มสีเหลือง และสีเขียวได้ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เรื่องเตียง เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ดูว่าสถานการณ์โควิด 19 แย่ลง แต่ปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมและกำจัดโควิด 19 ได้ ต้องอาศัย 5 มาตรการ สำคัญ คือ นโยบายที่ชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ระบบควบคุมโรคต้องดี รักษาพยาบาลต้องเข้มแข็ง และการฉีดวัคซีนครอบคลุม ถ้า 5เรื่องนี้ไปด้วยกันดี เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย การขยายเตียง การหาอุปกรณ์ไม่ใช่เรื่องยากแต่บุคลากรหน้างานเขาตึงจริงๆ แต่ถ้า 5 มาตรการ นี้ช่วยกันได้สถานการณ์จะแก้ไขไปด้วยกันได้

                

 

  • เช็คอาการป่วย สายพันธุ์เดลต้า

สำหรับอาการของผู้ป่วย สายพันธุ์เดลต้า นั้น จากผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ผู้ติดเชื้อเดลตามักแสดงอาการป่วยที่ต่างออกไปจากอาการป่วยที่เกิดจากเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม

โดยสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า อาการป่วยของโรคโควิด-19 แบบดั้งเดิมคือ ไอต่อเนื่อง มีไข้ และสูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติ

ศ.ทิม สเปคเตอร์ ผู้นำโครงการศึกษา โซอี โควิด ซิมป์เทิม (Zoe Covid Symptom) กล่าวว่าแม้อาการไข้สูงยังคงพบได้บ่อยในผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แต่การสูญเสียการรับรสและกลิ่นไม่ได้อยู่ในอาการป่วย 10 อันดับแรกอีกต่อไปแล้ว

162532177861

ปัจจุบันอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในหมู่ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในสหราชอาณาจักรคือ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ทั้งนี้  การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอาจทำให้คนหนุ่มสาวมีอาการป่วยเหมือน ไข้หวัดรุนแรง และแม้คนกลุ่มนี้มักไม่ล้มป่วยหนัก แต่พวกเขายังสามารถแพร่เชื้อ และทำให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้

  • AstraZeneca’ประสิทธิภาพป้องกัน ‘สายพันธุ์เดลต้า’

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดจากสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) แสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด-19  ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าสามารถป้องกัน  สายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2 เดิมคือสายพันธุ์อินเดีย) ได้ในระดับสูง

โดยสาธารณสุขประเทศอังกฤษ พบว่าหลังการ ฉีดวัคซีนโควิด 19 ของ AstraZeneca ครบทั้งสองเข็มแล้ว วัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจาก สายพันธุ์เดลต้า  ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน โดยรายงานดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ AstraZeneca ที่สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7 เดิมคือสายพันธุ์อังกฤษหรือเคนท์) โดยมีประสิทธิผลสูงถึง 86% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน

162532179750

ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca มีประสิทธิผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการน้อย (mild symptomatic disease) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 74% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์อัลฟ่า และ 64% จากสายพันธุ์เดลต้า

ประสิทธิผลที่สูงขึ้นของวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคและการนอนรักษาในโรงพยาบาล พิสูจน์ได้จากการที่ “ที-เซลล์” มีการตอบสนองต่อ วัคซีนโควิด-19 ของAstraZeneca ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสัมพันธ์กันกับการป้องกันที่นานและมีประสิทธิภาพสูงด้วย

  •  ‘WHO’ แนะนำ‘AstraZeneca’ ป้องกันโควิด 19

เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนา BioPharmaceuticals กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้วัคซีนจริงแสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca สามารถป้องกันเชื้อไวรัส สายพันธุ์เดลต้า  ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผู้คนต่างมีความกังวล เนื่องจากสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

ในแถลงการณ์บริษัทฯ กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19  สายพันธุ์เดลต้า รวม 14,019 ราย ในประเทศอังกฤษ มี 166 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 12 เม.ย. ถึง 4 มิ.ย. 2564 โดยข้อมูลการใช้วัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้านี้ รวบรวมจากการติดตามผลแบบเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการประเมินประสิทธิผลของวัคซีน

  • 'Pfizer’ วัคซีนป้องกัน ‘สายพันธุ์เดลต้า’ 

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานการพัฒนาวัคซีนโควิดรอบโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีน ดังนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อไวรัส โควิด-19  สายพันธุ์เดลต้า หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิม B.1.617.2  เริ่มมีการแพร่ระบาดจากประเทศอินเดียไปยังอีกกว่า 62 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาด้วย

จากข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศอังกฤษ พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จาก สายพันธุ์เดลต้า  กว่า 60% ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จาก สายพันธุ์เดลต้า มากกว่า 6 % เช่นเดียวกัน

162532181373

นพ.แอนโทนี ฟาวซี่ (Dr.Anthony Fauci) หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ของทำเนียบขาวและผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อและโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ได้กล่าวถึงรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca  และ Pfizer ครบ 2 โดส มีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากการติดเชื้อ โควิด-19  สายพันธุ์เดลต้า ได้ถึง 60% และ 88% ตามลำดับ

การ ฉีดวัคซีน เพียง 1 โดสนั้น วัคซีนจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากการติดเชื้อ โควิด-19  สายพันธุ์เดลต้า ได้เพียง 33% เท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 โดส โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

  •  ต้องฉีด 2 โดส Pfizer และ AstraZeneca ป้องกันเดลต้าได้

ผลการศึกษของ PHE บ่งชี้ว่า วัคซีน 1 โดสของPfizer และ AstraZeneca มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพียง 33% เมื่อเทียบกับ 50% สำหรับสายพันธุ์อัลฟา อย่างไรก็ตามระดับการปกป้องจะเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 โดย Pfizer อยู่ที่ระดับ 88% และ AstraZeneca อยู่ระดับที่  60%

ส่วนผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดยืนยันว่าวัคซีนทั้งของ Pfizer และของ AstraZeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตาและแคปปาในอินเดียได้

ขณะที่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ไม่พบหลักฐานว่าเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวข้างต้นจากสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้เป็นวงกว้าง และวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังสามารถป้องกันเชื้อเหล่านี้ได้

162532186212

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า วัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพเต็ม 100% เสมอไป ซึ่งเชื้อโรคโควิดกลายพันธุ์อาจทำให้ผู้ได้รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับไปแค่โดสเดียวอาจล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรืออาจเสียชีวิตได้

ข้อมูลล่าสุดจาก CDC ระบุว่า จนถึงวันที่ 14 มิ.ย.สหรัฐฯ มีผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วกว่า 144 ล้านคน แต่ยังพบว่าในจำนวนนี้ 3,729 คนติดโควิด และอีก 671 คนเสียชีวิตจากเชื้อโรคชนิดนี้

ปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีการนำเข้าวัคซีน Pfizer  แต่ได้มีการทำสัญญาไปแล้ว 2 ฉบับ และจะทำสัญญาสั่งซื้อทันทีหลังจากนำเข้าคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 ก.ค. 2564 นี้  จะทำให้ไทยมี วัคซีนโควิด 19 2 ชนิด ที่สามารถป้องกัน สายพันธุ์เดลต้า ได้ นั่นคือ AstraZeneca ที่อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนและนำเข้ามาฉีดให้แก่ประชาชนคนไทยแล้ว กับ  วัคซีน COMIRNATY ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด หรือที่ทุกคนเรียกว่า วัคซีน Pfizer ที่จะนำเข้ามาเร็วๆ นี้

อ้างอิง :กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,สถาบันวัคซีนแห่งชาติ,กรมควบคุมโรค,ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ,ฺBBC Thai

 

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/946913

 

Visitors: 1,427,795