อย่าไปทักใครว่า ‘อ้วน-ผอม’ เข้าใจ 3 โรคที่เกิดจากการกิน

อย่าไปทักใครว่า ‘อ้วน-ผอม’ เข้าใจ 3 โรคที่เกิดจากการกิน

อย่าไปทักใครว่า ‘อ้วน-ผอม’  เข้าใจ  3 โรคที่เกิดจากการกิน
16 มิถุนายน 2564
 

จากกรณีไอซ์ ศรัณยู นักร้อง ออกมายอมรับว่าตนเองกำลังเป็น "โรคกินไม่หยุด" สาเหตุส่วนหนึ่งจากการถูกทักว่า "อ้วน" เมื่อ 5 ปีก่อน นอกจากโรคนี้แล้ว ยังมีโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินที่ส่งผลต่อภาวะ "อ้วน-ผอม" แบบเป็นทุกข์ อีก 2 โรค คือ...

ในยุคสมัยแห่งการเรียกร้องความเท่าเทียม เรื่องรูปร่างหน้าตากลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยในโลกโซเชียล “อ้วน” หรือ “ผอม” หุ่นอย่างไรก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง แต่การกระทำ หรือค่านิยมบางอย่างของสังคมกำลังสร้างบาดแผลให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของสังคม ด้วยคำว่า “อ้วนผอม” 

ไอซ์ ศรัณยู วินัยพานิช นักร้องหนึ่งในผู้อยู่ในวงการบันเทิง ออกมายอมรับพร้อมให้ข้อมูลผ่านทางช่อง ทางยูทูบแชนแนล ICE SARUNYU OFFICIAL ว่าตนเองกำลังเผชิญกับโรค Binge Eating Disorder (BED) หรือโรคกินไม่หยุด 

 

 

 

พร้อมกับเล่าสาเหตุจากโรคนี้ส่วนหนึ่งคือ การที่ตนเองถูกทักว่าอ้วน เมื่อ 5  ปีก่อน จนส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน และเป็นโรคกินไม่หยุดในเวลาต่อมา พร้อมกับย้ำว่ามันส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ

นอกจากโรคกินไม่หยุดแล้ว ยังมีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินอาหารเช่นเดียวกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความเข้าใจโรคที่เกิดความผิดปกติจากการกิน เพื่อตอกย้ำว่าสังคมไม่ควรให้ความสำคัญกับคำว่า “อ้วน” หรือ “ผอม” มากเกินไป 

 

  • รู้จัก Eating disorder กลุ่มโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาผู้คนหันมาใส่ใจกับคำว่า “โรคอ้วน(Obesity)” กันมากขึ้น แต่ยังมีอีกกลุ่มโรคหนึ่งที่ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือ กลุ่มโรคที่เรียกว่า Eating disorder

Eating disorder คือ โรคที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทําให้นํ้าหนักตัวมากหรือน้อยกว่าปกติชัดเจนหรือทําให้มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

Eating disorder จัดเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ในขณะที่ โรคอ้วน จัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดกับร่างกาย 

 

เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า “Eating disorder หรือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน” มากนัก แต่ถ้าให้นึกเชื่อมโยงไปถึงวงการนางแบบ ที่มักจะมีกรณีนางแบบกินสำลีเพื่อรักษาหุ่นให้อิ่มนาน หรือเหตุการณ์โก่งคออ้วกอาหาร เพราะกลัวอ้วน ตัวอย่างเหล่านี้ก็หนึ่งในโรคกลุ่ม Eating disorder โดยปัจจุบันกลุ่มโรคนี้ถูกแยกมาเป็น 3 โรคย่อยคือ 

 
 
  • โรคกินไม่หยุด

โรค Binge Eating Disorder หรือแปลในบริบทภาษาไทยคือ “โรคกินไม่หยุด” ที่นักร้องไอซ์ ศรัณยูออกมายอมรับว่าตนเองเป็นอยู่นั้น คือโรคที่มีการรับประทานอาหารเป็นปริมาณมากๆ ผิดปกติ ซ้ำๆหลายครั้งโดยควบคุมไม่ได้ หลังจากทานไปแล้ว จะจิตตก รู้สึกกังวล รู้สึกผิด โทษตัวเองว่าไม่ควรกิน  แต่ไม่สามารถหักห้ามใจได้ ซึ่งบ่อยครั้งจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวล 

The American Psychological Association’s (APA) ได้เพิ่มโรคกินไม่หยุดในรายชื่อของโรคทางจิตเวชในปี 2013 

โดยมีพฤติกรรมดังนี้ 

  • การกินไวกว่าปกติ
  • การกินจนรู้สึกอิ่มมากไป 
  • การกินเยอะมากถึงแม้ว่าจะไม่หิว 
  • การกินเพียงลำพัง เนื่องจากรู้สึกอับอายกับปริมาณที่ตัวเองกิน 
  • รู้สึกรังเกียจ ซึมเศร้า หรือรู้สึกผิดหลังกิน 

 และเมื่อเกิดการกินอาหาร ความรู้หลังจากการกินจะเกิดความรู้สึกผิด 

  • รู้สึกว่าควบคุมพฤติกรรมการกินไม่ได้ 
  • พยายามลดน้ำหนักหลายครั้งแต่ทำได้ยาก  
  • วางแผนที่จะกินเยอะ และซื้ออาหารเผื่อไว้ก่อน 
  • กักตุนอาหาร 
  • ซ่อนอาหาร 
  • มีความรู้สึกตื่นตระหนก ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล และ สิ้นหวัง 

โดยมีวงจรความคิดต่อพฤติกรรมอาหารดังนี้ 

  1. รู้สึกสิ้นหวังที่เป็นโรคกินไม่หยุดและหาทางออกไม่ได้ 
  2. รู้สึกผิด 
  3. พยายามบังคับตัวเอง 
  4. กินเยอะอีกครั้ง 

การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกินไม่หยุดได้ ผู้ป่วยต้องมีอาการกินไม่หยุดอย่างน้อย  1 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 3 เดือนหรือมากกว่านั้น 

นอกจากนี้อาการพ่วงนอกจากความอ้วน ยังมีอาการจิตเวชอย่างอื่นแทรกซ้อนตามมา เช่น 

  • โรคเกี่ยวกับอารมณ์และความวิตกกังวล
  • โรคซึมเศร้ารุนแรง 
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ 
  • โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรง 
  • การใช้แอลกอฮอลล์และสารเสพติดอย่างผิด ๆ 
  • ความผิดปกติทางบุคลิกแบบก้ำกึ่ง
 

162384344572

 

  • Anorexia nervosa โรคคลั่งผอม 

โรคคลั่งผอมหรือที่เรียกว่า Anorexia Nervosa ผู้ป่วยจะมีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตนเอง โดยกลัวว่าจะอ้วนเกินไป เกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่เคยมีปัญหาเรื่องรูปร่างและในคนที่มีรูปร่างปกติอยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจะพยายามควบคุมน้ำหนักให้ต่ำลงเรื่อยๆ กระทั่งต่ำกว่ามาตรฐาน รูปร่างของผู้ป่วยจะผอมมากจนเห็นได้ชัด แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และลดน้ำหนักต่อไป หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ประเภทของโรคคลั่งผอม

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • อดอาหารหรือออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
  • อดอาหารหรือออกกำลังกายร่วมกับกระตุ้นให้อาเจียนออกมา

สาเหตุของโรคคลั่งผอม

จุดเริ่มต้นของโรคคลั่งผอม คือผู้ป่วยจะไม่พอใจในตนเอง เกิดจากพื้นฐานความรู้สึกว่าตนเองยังไม่ดีพอ หรือยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ผู้ป่วยโรคนี้มักเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง เช่น เป็นคนเรียนดี หรือมีความสามารถด้านอื่นที่ดี แต่คนกลุ่มนี้มักมีความคาดหวังในตนเองสูงเกินไป และไม่รู้สึกพอใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น อยากทำให้สำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อถูกกระตุ้นในเรื่องของรูปร่าง เช่น โดนทักว่าอ้วน ผู้ป่วยจะกังวลเกี่ยวกับรูปร่างตนเองมากเกินไป และเริ่มควบคุมน้ำหนัก เมื่อน้ำหนักลดลงจะรู้สึกภูมิใจที่ทำได้ แต่จะยังไม่พอใจในรูปร่างและอยากลดน้ำหนักต่อไปเรื่อย ๆ เพราะทุกครั้งที่น้ำหนักลดลงผู้ป่วยจะภูมิใจและมั่นใจ กระทั่งน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานและอาจเป็นอันตรายในที่สุด

ปัจจัยที่ส่งผลต่อโรคคลั่งผอม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคคลั่งผอมมีหลายอย่าง อาจเกิดจากตนเองหรือครอบครัวและอื่น ๆ ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยบางรายเติบโตในครอบครัวที่มีความคาดหวังสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยพึงพอใจในตนเอง เมื่อเกิดปัญหาเรื่องรูปร่าง จึงกลายเป็นความคลั่งที่อยากจะผอมมาก ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

162384347329

 

  • Bulimia nervosa โรคล้วงคอ 

โรคบูลิเมีย เนอโวซา หรือเรียกสั้นๆว่า “บูลิเมีย Bulimia” เป็นภาวะความผิดปกติในเรื่องของการรับประทานอาหาร โดยเป็นความผิดปกติที่มีลักษณะเป็นวงจรที่เริ่มจากการรับประทานอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีแคลอรีสูง แล้วตามด้วยการพยายามกำจัดอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปนั้น ด้วยการทำให้ตัวเองอาเจียนและ/หรือการใช้ยา เช่น ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ยาบ้า ผู้ที่เป็น Bulimia มักจะเป็นหญิงสาวในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงช่วงวัยยี่สิบต้นๆ

อาการของโรค Bulimia

– โรค Bulimia แสดงอาการได้หลายอย่างแตกต่างกันไป ทั้งด้านความคิด พฤติกรรม และอาการทางกาย ซึ่งได้แก่
– มีการกินอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วตามด้วยการทำให้อาเจียน
– ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หรือไปเข้าห้องน้ำหลังอาหารเพื่อที่จะอาเจียนอาหารที่เพิ่งกินเข้าไป
– มีพฤติกรรมแอบกักเก็บอาหารไว้รับประทาน
– หมกมุ่นกับการอดอาหารและการออกกำลังกาย
– หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมและอาจมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง

ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวขึ้นๆ ลงๆ แต่ก็มักจะมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทว่าผู้ป่วยก็มักจะยังคิดว่าตนเองมีรูปร่างอ้วน ซึ่งไม่ตรงกับสภาพร่างกายที่เป็นอยู่จริง อาการทางกายอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ปวดท้อง ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย ท้องผูกหรือท้องเสีย ขาดน้ำ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นลมหมดสติ

ภาวะแทรกซ้อนของโรค Bulimia

– การทำให้ตนเองอาเจียนบ่อยๆ สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายดังนี้
– กรดจากกระเพาะอาหารทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร
– ฟันผุ ฟันเปลี่ยนสี มีเหงือกอักเสบและมีกลิ่นปาก เนื่องมาจากกรดของกระเพาะอาหาร
– ใบหน้าดูเหมือนบวมฉุจากการที่ต่อมน้ำลายบวม
– ไตอาจเสียหาย มีนิ่วไต จากการสูญเสียน้ำมากเกินไป
– การทำงานของหัวใจผิดปกติ ใจสั่น จากการเสียสมดุลของเกลือแร่
– ผิวหนังแห้ง ผมร่วง
– ถ้าผู้ป่วยใช้ยาระบายเป็นประจำ อาจทำให้กล้ามเนื้อลำไส้เสียหายได้

 

ที่มา

ICE SARUNYU OFFICIAL

Review of the drug treatment of binge eating disorder

Binge Eating Disorder

Anorexia Nervosa

Krabi Nakharin International Hospital


กรุงเทพธุรกิจ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/943880

 
Visitors: 1,213,565