กระโดดได้ กระโดดดี แต่ก็มี ‘ข้อ’ ควรระวัง

สมัยเรียนจบวิทยาศาสตร์การกีฬาใหม่ๆ มักจะมีคนมาถามผู้เขียนเนืองๆ ว่าการออกกำลังกายควรออกเวลาไหนดีที่สุด ซึ่งบอกตามตรงว่า ตอนแรกๆ นี่เป็นคำตอบที่ตอบยากมาก เพราะมันมีหลายทฤษฎีมากๆ จนไม่กล้าที่จะตอบได้แบบสั้นๆ ต้องอธิบายกันยาวๆ จนคนถามเบื่อฟังไปเอง

จนมาตอนหลัง ผู้เขียนได้ตกตะกอนคำตอบ ที่เมื่อตอบตัวเองแล้ว ก็รู้สึกพึงพอใจอย่างมาก (เลิกคิดว่าจะถูกใจใครมั้ย มาเป็นถูกใจตัวเองและคิดว่าไม่ค้านกับทฤษฎีของใครๆ ก็โอเคแล้ว)

คำตอบคือ เวลาที่เรารู้สึกว่าจะทำได้อย่างสบายและทำได้เป็นประจำ เช้า สาย บ่าย เย็น ก็ไม่ติด เพราะไม่มีทฤษฎีไหนออกมาบอกชัดๆ ว่าห้ามออกเวลาไหน เช่นเดียวกับการเลือกชนิดของการออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบไหนที่เราทำแล้วชอบ สะดวกที่จะทำได้บ่อยๆ มีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้นๆ พอประมาณ ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีสำหรับเราทั้งนั้น

ซึ่งวันนี้ผู้เขียนอยากมาแนะนำการออกกำลังกายที่ผู้เขียนชื่นชอบมากชนิดหนึ่ง เพราะทำได้ง่าย ทำคนเดียวก็ไม่ขัดเขิน ใช้พื้นที่ไม่มาก อุปกรณ์ก็ไม่ต้องเยอะ การออกกำลังกายชนิดนั้นคือ ‘การกระโดดเชือก’

 

 

เชือกเส้นเดียวแต่ให้ประโยชน์หลายต่อ…มาก

1. ช่วยกระตุ้นระบบหายใจและไหลเวียนเลือดได้ดีมาก เพราะการกระโดดต้านแรงโน้มถ่วงโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานสูงมาก ระบบหายใจและไหลเวียนเลือด จะต้องลำเลียงออกซิเจนไปให้กล้ามเนื้อเกือบทั้งตัว ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจับเชือกกระโดด เช่น ขา แขน ไหล่ คอ หลัง

2. เผาผลาญพลังงานได้สูงมาก การกระโดดเชือกนั้นสามารถเผาผลาญพลังงานได้มากถึง 800-1,000 แคลอรีต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของแต่ละคนด้วย ยิ่งน้ำหนักเยอะ ก็ยิ่งต้องใช้พลังงานเยอะในการกระโดดแต่ละครั้ง

3. ช่วยเสริมสร้างสติและสมาธิดีมาก ตรงนี้เข้าใจได้ง่ายมากเลย เพราะเราต้องโฟกัสกับเชือกเกือบตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เราสะดุดเชือกล้ม นอกจากเราจะฝึกกระโดดจนเชี่ยวชาญชำนาญมากๆ ก็อาจจะกระโดดแบบเหม่อลอยได้บ้าง

4. ใช้พื้นที่น้อยมาก ตรงนี้เหมาะสำหรับคนเมืองมากๆ จะหยิบเชือกไปกระโดดที่สวนสาธารณะ จะกระโดดหน้าบ้าน หรือใต้ตึกคอนโด ก็สามารถทำได้ง่ายๆ

แต่ทั้งหมดนี้ก็มีข้อควรระวังอยู่ว่า การกระโดดเชือกควรทำด้วยความระมัดระวังในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะมาก หรือข้อเข่าไม่ค่อยดี ถ้ามีปัญหานี้มากอยู่ การออกกำลังกายวิธีนี้อาจไม่ดีต่อตัวเองนัก

 

 

วอร์มให้ดีก่อนเริ่มกระโดดเชือก

ท่ายืดกล้ามเนื้อขาและหลัง

1. ยืนตรง มือเท้าเอว ย่อเข้าซ้ายพร้อมกับยื่นเท้าข้างขวาไปด้านหน้าพร้อมกระดกปลายเท้าขึ้น
2. โน้มตัวไปด้านหน้า หลังตรง หน้ามองตรงไปข้างหน้า ค้างไว้นับ 1-10 ท่านี้ถ้าทำอย่างถูกต้อง จะต้องรู้สึกตึงตั้งแต่ที่กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และตึงไปถึงหลังส่วนล่างด้วย
3. สลับข้าง

 

ท่ายืดกล้ามเนื้อหัวไหล่และด้านข้างลำตัว

1. ยืนตรง แยกเท้านิดหน่อยให้รู้สึกมั่นคงและทรงตัวได้ดี
2. สองมือจับเชือกให้ห่างกันประมาณช่วงไหล่ ดึงเชือกให้ตึง ค่อยๆ ชูเชือกขึ้นเหนือศีรษะ แขนเหยียดตรง
3. เอนตัวไปทางขวาจนรู้สึกตึงทั้งแขนและด้านข้างลำตัว ค้างไว้ นับ 1-10
4. สลับข้าง

นอกเหนือจาก 2 ท่านี้ ผู้อ่านสามารถเพิ่มการยืดเหยียดในท่าอื่นๆ ได้อีกตามความต้องการ เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการกระโดดเชือก และเป็นการเซฟร่างกายเราด้วย

ข้อควรระวังในการกระโดดเชือก

• ท่ากระโดดเชือกคงไม่ต้องอธิบายเยอะมาก เพราะเชื่อว่าหลายท่านกระโดดกันได้มาตั้งแต่เด็กแล้ว
• จึงขอเสริมเรื่องข้อควรระวังและการเลือกรองเท้าสำหรับกระโดดแทน เพราะหลายคนไม่ได้ระวังตรงนี้ ใส่เพียงรองเท้าแตะ หรือบางคนก็กระโดดด้วยเท้าเปล่า
• ตรงนี้ไม่ได้ผิดอะไรถ้าจะกระโดดเล่นๆ นิดหน่อย แต่หากตั้งใจกระโดดนานๆ ขอแนะนำให้ใส่รองเท้ากีฬาที่มีพื้นหนาพอสมควร เพราะการกระโดดจะเกิดแรงกระแทกลงที่ข้อต่อต่างๆ สูงมาก ได้แก่ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อต่อกระดูกสันหลังข้อต่อคอ ซึ่งอาจเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายๆ หากไม่ใส่รองเท้าออกกำลังกายให้ดี

ถึงตรงนี้แล้วก็จับเชือกในมือให้มั่น แล้วมากระโดดกัน!

 

ข้อมูลจาก: Greenery

Visitors: 1,409,230