ปอดอักเสบทำให้เราตายได้ยังไง ?

ปอดอักเสบทำให้เราตายได้ยังไง ?
 
 
เคยสงสัยไหมครับว่า เวลาที่คนเสียชีวิตจากปอดอักเสบนั้น กลไกภายในร่างกายมันเกิดอะไรขึ้น ?
 
วันนี้ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังครับ แต่ในการจะเข้าใจว่าปอดอักเสบทำให้เสียชีวิตได้อย่างไร มีเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจสองเรื่องกันก่อนครับ หนึ่งคือ ภาวะอักเสบคืออะไร และทำหน้าที่อะไร สองคือ ปอดทำงานอย่างไร ?
 
 
ก่อนอื่น มารู้จักกับภาวะอักเสบกันก่อน
 
 
ปกติเมื่อพูดถึงคำว่าอักเสบ เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำนี้ดี เพราะทุกท่านน่าจะเคยหกล้มหรือโดนมีดบาดกันมาบ้าง บางคนอาจจะเคยข้ออักเสบ หรือบางคนอาจจะเคยตาอักเสบ
 
 
เมื่อการอักเสบเกิดขึ้นกับอวัยวะที่อยู่ตื้น ๆ อย่าง ข้ออักเสบ ตาอักเสบ หรือ แผลถลอกแล้วอักเสบ เราจะเห็นว่าภาวะการอักเสบต่างๆ จะมีลักษณะร่วมกันคือ อาการ บวม แดง ร้อน และเจ็บปวด
 
 
เช่นเดียวกันครับ อวัยวะภายในร่างกายที่อยู่ลึกๆ เช่น ปอด เวลาอักเสบก็จะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ บวม แดง ร้อน และอาจจะเจ็บปวด (ถ้าอวัยวะนั้นมีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด)
 
 
คำถามถัดมาคือ ภาวะอักเสบเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่บ้าง ?
 
หากเป็นอวัยวะที่อยู่ตื้น ๆ หรืออยู่ที่ผิวของร่างกาย เราพอจะนึกออกว่า การอักเสบมักจะเกิดตามมาหลังจากที่อวัยวะนั้นได้รับอันตรายจากการกระทบกระแทก เช่น ผิวฉีกขาดเพราะหกล้มเข่าถลอก นิ้วจิ้มตา ข้อเท้าแพลง กล้ามเนื้ออักเสบหลังเล่นกีฬา
 
 
อันตรายที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจากติดเชื้อ เช่น ข้ออักเสบจากติดเชื้อ ตาอักเสบจากติดเชื้อไวรัส
 
เช่นเดียวกัน สาเหตุใหญ่ๆ ของปอดอักเสบก็อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือ เกิดอันตรายจากการถูกระคายเคือง เช่น หายใจเอาฝุ่นควัน หรือ สารระเหยที่มีฤทธิ์ระคายเคืองเข้าไป แต่บางครั้งสิ่งที่อันตรายกับปอดอาจจะเข้าทางเส้นเลือดหรือจากการกินเข้าไปก็ได้ เช่น กินยาบางอย่างที่มีผลข้างเคียงกับเนื้อเยื่อของปอด
 
 
คำถามต่อไปคือ แล้วอาการอักเสบนี้มันมีหน้าที่อะไร ?
 
 
คำตอบคือ การอักเสบเป็นส่วนหนึ่งของการซ่อมแซมตัวเองครับ คืออย่างนี้ครับ
 
 
ลองนึกภาพการหายของแผลนะครับ หลังจากที่เราได้แผลมา อาจจะจากล้มเข่าถลอกหรือ มีดบาด สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ประมาณวันรุ่งขึ้น รอบ ๆ แผลจะมีอาการแดงและบวมเกิดขึ้น แผลที่หายเจ็บไปตอนแรกแล้วจะเริ่มรู้สึกระบม ตัวแผลเองจะดูแฉะ ๆ เยิ้ม ๆ มีน้ำสีเหลือง ๆ ซึมออกมา
 
 
หน้าที่ของกระบวนการนี้จะเป็นเหมือนการเคลียร์พื้นที่ก่อนที่การซ่อมแซมจะเกิดขึ้น เพื่อให้เห็นภาพ ผมอยากชวนให้ลองนึกถึงภาพของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีรถสิบล้อ รถเก๋ง รถเมล์ชนกันรุนแรงหลายคัน เสาไฟหักล้มลง เลือดนองพื้น เศษกระจกกระจายไปทั่ว พื้นถนนลื่นไปด้วยน้ำมันที่เจิ่งนอง
 
 
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินเช่นนี้คือ การปิดถนนเพื่อให้ รถดับเพลิง รถพยาบาล เข้ามาถึงพื้นที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ตำรวจจะนำป้ายสัญญานเตือนมาวางกั้น ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเคลียร์พื้นที่ มีการนำคนป่วยขึ้นรถพยาบาลเพื่อนำส่งไปที่โรงพยาบาล มีการเก็บเศษกระจกที่แตกกระจายอยู่บนท้องถนน มีการเคลื่อนย้ายซากรถที่จอดขวางทางการจราจรออกไป หลังจากเคลียร์พื้นที่เรียบร้อยแล้วการซ่อมแซมพื้นที่ซึ่งเสียหาย เช่น ซ่อมพื้นถนน ซ่อมเสาไฟฟ้า ล้างคราบเลือดคราบน้ำมันจึงเกิดขึ้นตามมา
 
 
เช่นเดียวกันกระบวนการอักเสบก็คือการเคลียร์พื้นที่ ช่วงเวลานี้ เส้นเลือดฝอยทุกสายที่มุ่งตรงมายังแผลจะขยายตัวขึ้น เหมือนเป็นการเปิดทางให้เซลล์ต่างๆในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เม็ดเลือดขาวเข้ามาถึงในที่เกิดเหตุได้เร็วที่สุด เม็ดเลือดที่เข้ามาจะทำการต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมสกปรกที่เข้ามาในแผล เนื้อเยื่อที่บาดเจ็บจนซ่อมแซมไม่ไหวจะถูกย่อยสลายไป เส้นเลือดฝอยที่ขยายเพื่อให้เลือดซึ่ง อุ่น และแดง เข้ามายังบาดแผลได้มาก จะมีผลให้บริเวณแผลบวมแดงและอุ่น
 
 
เม็ดเลือดขาวยังหลั่งสารเคมีที่ทำให้เจ็บออกมาเพื่อให้เราระวังไม่ขยับหรือถูบริเวณที่เป็นแผล ซึ่งอาจทำให้แผลบาดเจ็บเพิ่มขึ้น
 
 
อาการนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 วัน แล้วอาการจะค่อย ๆ หายไป ความบวมจะค่อยๆ เหี่ยวลง สีแดงจะจางลง แผลจะแห้งมากขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันแผลก็จะแห้งแล้วผิวก็จะค่อย ๆ ผสานเข้าด้วยกันจนเกือบเหมือนเดิม
 
 
สำหรับกรณีของการติดเชื้อก็คล้ายกัน
 
 
เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น เซลล์ต่างๆในระบบภูมิคุ้มกันก็จะเข้าไปต่อสู้กับเชื้อโรคนั้น แต่ผลเสียที่ตามมาคือ สมรภูมิของการต่อสู้มักจะเสียหายจากอาวุธหนักที่เม็ดเลือดขาวและเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ ขนมาถล่มเชื้อโรค การติดเชื้อต่าง ๆ จึงมักจะเกิดภาวะอักเสบตามมา
 
 
โดยสรุปจะเห็นว่ากระบวนการอักเสบเป็นกระบวนการแรกๆ ของกลไกการซ่อมแซมตัวเองของร่างกาย
 
 
พอจะเข้าใจเกี่ยวกับการอักเสบคร่าว ๆ แล้วนะครับ คราวนี้เรามาดูกันบ้างว่าปอดทำงานยังไง
 
 
ก่อนที่เราจะเข้าใจว่าปอดอักเสบทำให้เราเสียชีวิตได้อย่างไร เราต้องเข้าใจก่อนว่าปอดในภาวะปกติทำงานอย่างไร
 
ผมอยากจะชวนให้ลองจินตนาการว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างแบคทีเรีย หรืออาจจะเป็นไวรัสก็ได้ แล้วถูกพัดพาเข้าไปปอดพร้อมกับลมที่คนๆหนึ่งหายใจเข้าไป
 
 
เราจะไหลไปตามอากาศ ผ่านจมูก ลงไปตามหลอดลมที่แยกย่อยเล็กลงไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจะไปถึงทางตันซึ่งมีรูปร่างเป็นกระเปาะที่มีชื่อเรียกว่าถุงลม
 
หากเราเป็นฝุ่นที่อยู่ในถุงลมนั้น เราจะเห็นว่าถุงลมตอนที่อากาศยังไม่เข้าไปจะเหมือนลูกโป่งที่เป่าลมเข้าไปเพียงเล็กน้อย ยังไม่โตเต็มที่ แต่เมื่อหายเข้าไปเรื่อย ๆ อากาศจะดันให้ถุงลมพองขึ้นจนผนังถุงลมมีความบางเฉียบ ขณะที่อยู่ในถุงลมนั้นแล้วมองไปรอบ ๆ ตัว เราจะเห็นว่าผนังถุงลมนั้นมีความบางจนกระทั่งสามารถมองทะลุออกไปได้ และเราก็จะเห็นว่าที่ผนังด้านนอกของถุงลมนั้นมีเส้นเลือดฝอยมาเกาะอยู่รอบ ๆ ดูคล้ายกับรากฝอยของต้นไม้ที่เกาะอยู่บนผนังของถุงลม
 
 
ผนังถุงลมที่บางมากนี้ ทำให้ออกซิเจนในอากาศที่หายใจเข้ามาสามารถผ่านผนังถุงลมเข้าไปในเส้นเลือดฝอยได้ ขณะเดียวกันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในเส้นเลือดฝอยก็สามารถผ่านผนังถุงลมเข้ามาในปอดก่อนจะถูกขับไปกับลมหายใจออก
 
 
จะเห็นว่าหัวใจสำคัญข้อหนึ่งของการทำงานของปอดก็คือ “ความบางของถุงลม”
 
 
คราวนี้ก็ได้เวลามาดูกันแล้วครับว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อปอดเราอักเสบ
 
 
เมื่อเกิดการอักเสบขึ้นที่เนื้อปอด ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุอะไรก็ตาม เลือดและเม็ดเลือดขาวมากมายที่เข้ามาบริเวณถุงลมจะไปทำให้ความบางของถุงลมหายไป การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์จึงเกิดขึ้นได้ยากขึ้น เซลล์เม็ดเลือดที่เข้ามาแล้วก็จะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า ไซโตไคนส์ (cytokines) เพื่อเรียกเม็ดเลือดขาวมาเพิ่มเติม
 
 
เราจึงเห็นเป็นอาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมา เช่น เมื่อคาร์บอนได้ออกไซด์ในเลือดขับออกได้ยาก สมองก็จะพยายามสั่งการให้เราหายใจเร็วขึ้น (หอบเหนื่อย) ปากจะสีคล้ำขึ้นจากการที่ออกซิเจนในถุงลมผ่านเข้าเลือดยากขึ้น ส่วนสารเคมีที่หลั่งออกมาจากเม็ดเลือดขาวจะทำให้ปอดอักเสบซึ่งการอักเสบอาจจะลามไปถึงเยื่อหุ้มปอดทำให้อาจจะมีอาการเจ็บเวลาหายใจเข้า (ตัวเนื้อปอดไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวด แต่เยื่อที่หุ้มรอบปอดมี)
 
 
โดยปกติหากการติดเชื้อไม่รุนแรงมาก ร่างกายควบคุมการติดเชื้อได้ การอักเสบก็จะเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วหายไป แต่ในบางกรณีการต่อสู้มันลุกลามใหญ่โตจนควบคุมไม่อยู่ การอักเสบเกิดขึ้นมากจนถึงขั้นสารเคมีต่างๆที่เม็ดเลือดขาวหลั่งออกมาย้อนกลับมาทำลายถุงลม จนของเหลวและโปรตีนต่างๆในเส้นเลือดรั่วทะลักทะลายเข้ามาในถุงลมจนเสียสภาพ แล้วอาจจะถึงขั้นถุงลมบางส่วนแฟบลงไป
ภาวะรุนแรงนี้จะเรียกว่า ARDS หรือ ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งเมื่อถุงลมแฟบไปแล้ว การให้ออกซิเจนอย่างเดียวจึงเข้าไปไม่ถึงถุงลมได้ ทางเดียวที่จะทำให้ลมเข้าไปในถุงลม (ที่เต็มไปด้วยน้ำ) คือต้องผลักลมเข้าไปแรงๆ ด้วยเครื่องช่วยหายใจที่คอยดันลมเข้าไปตลอดเวลา (เพื่อกันไม่ให้ถุงลมแฟบลงอีกครั้ง)
 
 
ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็จะเสียชีวิตลง
 
เมื่อแพทย์ชันสูตรศพ แล้วนำเนื้อปอดไปส่องกล้องจุลทรรศน์ ก็จะพบว่าถุงลมของผู้เสียชีวิตเต็มไปด้วยของเหลว เม็ดเลือดขาว และเศษเนื้อเยื่อของปอดที่ถูกทำลายไป
 
 
และทั้งหมดนี้ก็คือภาพคร่าว ๆ ว่าปอดอักเสบทำให้เราตายได้อย่างไร
 
 
 
 
ขอบคุณที่มา : เรื่องเล่าจากร่างกาย https://www.blockdit.com/articles/600eb7b436a3150d60da1b43/#
Visitors: 1,409,230