ความเหงา อันตรายเท่ากับ สูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน

ความเหงา อันตรายเท่ากับ สูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน
 
ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ไม่ใช่ “ของใหม่” ในชีวิตของคนเรา
 
เพียงแต่ช่วงนี้ หลายคนอาจรู้สึกเหงาเป็นพิเศษ เพราะไม่ได้เดินทางไปไหน มาไหนเหมือนเคย เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
เมื่อพูดถึงความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ก่อนจะเกิดวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความรู้สึกหงอยเหงา โดดเดี่ยว ก็กลายเป็น “ปัญหา” ของผู้คนในหลายประเทศ กระทั่งทำให้เกิดธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการคลายเหงามากมาย หลายรูปแบบ อาทิ ธุรกิจ “เพื่อนชายให้เช่า” ในจีน หรือหุ่นยนต์ Paro หรือหุ่นยนต์แมวน้ำในญี่ปุ่น ที่สามารถเลียนเสียง และท่าทางได้เหมือนจริง เพื่อช่วยคลายเหงาแทนสัตว์เลี้ยง
 
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลในหลายประเทศที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับความเหงา อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้มีข้อมูลว่ามีอัตราส่วน ความเหงาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
 
ขณะที่ในอังกฤษมีรายงานของรัฐบาลระบุว่า มีผู้สูงอายุราว 200,000 ราย ที่ไม่เคยพบปะพูดคุยกับญาติ หรือเพื่อน ในระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่มีผู้ปฏิบัติงานทั่วไปในอังกฤษราว 75% บอกว่าเจอคนที่รู้สึกเหงา โดดเดี่ยวราว 1-5 คน ในแต่ละวัน
 
นอกจากนั้น ยังมีรายงานการศึกษาจากองค์กรบริหารทรัพยากรและบริการด้านสุขภาพระบุว่า ความเหงาสามารถฆ่าคนได้ และมีอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน
 
 
ขณะที่มีนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้สูงอายุที่อดทนต่อความเหงา โดดเดี่ยวมาเป็นเวลานาน มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 45%
 
ขณะที่การเยียวยาบรรเทาความเหงาโดยอาศัยเทคโนโลยี และรูปแบบบริการคลายเหงาที่เกริ่นมาข้างต้น ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องปกติในยุคนี้ แต่มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า “หนทางแก้ปัญหา” ต่างๆ นั้น อาจนำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาผิดไปก็ได้
 
เจเรมี โนเบล อาจารย์คณะแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้ก่อตั้ง UnLonely Project มูลนิธิที่มุ่งใช้ศิลปะเยียวยาความเหงา ให้ความเห็นว่า
 
 
“ผมไม่คิดว่าความเหงาจะรักษาให้หายขาดได้ วิธีที่ถูกต้องกว่าในการมองความเหงาก็คือ มองว่ามันเป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่ง”
 
ทั้งนี้ โนเบลยังยกตัวอย่างถึงการจัดการกับความเหงา โดยเปรียบเทียบเหมือนการจัดการกับเวลาที่คนเรารู้สึกกระหายน้ำว่า
 
“คุณไม่ได้ตายเพราะความกระหาย แต่คุณตายเพราะขาดน้ำ ความกระหายเป็นเพียงการส่งสัญญาณเท่านั้น ความเหงาก็เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ว่าคุณกำลังต้องการสิ่งที่คุณไม่ได้รับต่างหาก”
 
โนเบลยังเชื่อว่า เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการคลายเหงาที่มีออกมา สามารถช่วยคลายเหงาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และเราควรจะสำรวจศึกษาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นต่อไป แต่อันตรายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเริ่มเข้ามาแทนที่ความต้องการติดต่อ เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันต่างหาก โดยยกตัวอย่างว่า
 
“สถานการณ์ที่เราต้องหลีกเลี่ยงก็คือ การที่เด็กๆ บอกว่าไม่ดีเลยที่พ่อ แม่ หรือปู่ย่าต่างรู้สึกเหงา ที่จริงฉันสามารถไปเยี่ยมพวกเขาได้นะ แต่ฉันจะส่งหุ่นยนต์แมวน้ำไปให้พวกเขาแทนดีกว่า มนุษย์เรามีพัฒนาการทางชีวภาพมาหลายแสนปี เราอาจต้องการสิ่งต่างๆ มากมายจากมนุษย์ด้วยกันมากกว่าที่หุ่นยนต์จะสามารถให้ได้”
 
 

ที่มา : มติชน https://www.blockdit.com/articles/600277049bed7c0cf23b6cf4/#

 

 

Visitors: 1,217,414