นักวิจัยเผยโควิดร้ายกว่าที่คิด หายป่วยแต่ยังมีภาวะแทรกซ้อน

นักวิจัยเผยโควิดร้ายกว่าที่คิด หายป่วยแต่ยังมีภาวะแทรกซ้อน
 
- ผลการศึกษาจากกลุ่มผู้ป่วยในเมืองอู่ฮั่นของนักวิจัยชาวจีน
พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ถึง 3 ใน 4 ยังคงมีอาการป่วยแทรกซ้อน แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานถึง 6 เดือน
 
- นักวิจัยจากประเทศจีน อังกฤษ และสหรัฐฯ พบผลการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน
ว่าภาวะแทรกซ้อนหรืออาการป่วยที่พบหลังหายป่วยจากโควิด-19 ส่วนใหญ่ จะมีอาการนอนหลับยาก และร่างกายอ่อนเพลีย
 
- โรคโควิด-19 ยังมีผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว ทำให้วิตกกังวลและซึมเศร้า
คิดเป็นอัตราถึง 23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด
 
 
หลายคนที่ติดตามข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง คงจะได้ทราบถึงอานุภาพความรุนแรงของไวรัสมรณะชนิดนี้กันบ้างแล้ว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่า แม้จะหายจากอาการป่วยโรคโควิด-19 นี้แล้ว มันก็ยังส่งผลกระทบระยะยาวจนทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แม้แพทย์จะยืนยันว่ารักษาหายแล้ว และอนุญาตให้กลับบ้านได้ก็ตาม
 
 
อย่างกรณีศึกษาของผู้ป่วยในเมืองอู่ฮั่นที่เชื่อว่าเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของโรคนี้ นักวิจัยชาวจีนพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ถึง 3 ใน 4 ยังคงมีอาการป่วยต่างๆ ตามมาในระยะเวลา 6 เดือนหลังติดเชื้อ ทั้งอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย และนอนไม่หลับ
 
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลจากคนไข้มากกว่า 1,700 คน ที่ได้เข้ารับการรักษาในเมืองอู่ฮั่น โดยพบว่าคนไข้จำนวน 76 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อาการตามมา หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลมาแล้วหลายเดือน โดยอาการที่พบมากที่สุดคือ อาการอ่อนเพลียและนอนไม่หลับ คิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ และ 26 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจทั้งสร้างความวิตกกังวล และซึมเศร้า คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้ว ก็ยังต้องรับผลระยะยาวทางสุขภาพที่ตามมาจากไวรัสมรณะ ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วมากกว่า 90 ล้านคน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ยังมีแนวโน้มที่จะพบความเสียหายในปอด ที่สามารถเห็นได้ชัดจากการเอกซเรย์ โดยผลวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ แลนเซ็ท เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ม.ค. 64)
 
 
 
นายแพทย์ ปิน เกา จากโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยการแพทย์แคปปิตอล หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า "โรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่ เราเพียงแค่กำลังเริ่มทำความเข้าใจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของคนไข้เท่านั้น ซึ่งผลการวิเคราะห์ของพวกเราบ่งชี้ว่า คนไข้ส่วนใหญ่ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับผลพวงจากไวรัสหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลคนไข้หลังออกจากโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนไข้ที่เคยมีการติดเชื้อรุนแรง งานของพวกเรายังต้องเน้นย้ำไปที่ความสำคัญในการศึกษาวิจัยในระยะยาว และศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้เข้าใจทุกแง่มุมที่จะส่งผลต่อมนุษย์"
 
การวิจัยครั้งนี้นับเป็นการศึกษาที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมากที่สุดและใช้ระยะเวลาในการติดตามอาการนานที่สุด โดยเป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 57 ปี ที่ได้ออกจากโรงพยาบาลจินยินตัน ในอู่ฮั่น ช่วงระหว่างวันที่ 7 มกราคม-29 พฤษภาคม 2563 โดยใช้การสัมภาษณ์ และตอบแบบสอบถามก่อนจะประเมินอาการ พร้อมทั้งมีการตรวจร่างกาย มีการทดสอบการเดิน และตรวจเลือดด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีข้อทักท้วงจากนักวิจัยในอิตาลี ที่ได้เขียนแสดงความคิดเห็นต่อท้ายในงานวิจัยดังกล่าว โดยระบุว่าผลการศึกษาที่ออกมาจะต้องผ่านการตีความด้วยความระมัดระวัง เพราะยังมีข้อจำกัดหลายด้านที่นำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัด
 
 
 
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ เพราะประเด็นภาวะแทรกซ้อนหลังหายป่วยจากโควิด ได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั่วโลก เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เคยเปิดเผยการศึกษาผลกระทบระยะยาว ของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจากการติดตามผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องพบว่า ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่หายป่วยและออกจากโรงพยาบาล ไปประมาณ 2 ถึง 3 เดือน ยังคงมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยล้า อีกทั้งยังมีอาการ สับสน และมึนงง ในบางครั้ง แม้ว่าจะไม่มีอาการไข้ แล้วก็ตาม
 
ขณะที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี ก็มีการรวบรวมอาการแทรกซ้อนหลังป่วยโควิด-19 ที่พบบ่อยมาแล้วเช่นกัน โดยมีทั้งอาการเหนื่อยอ่อน หายใจลำบาก อาการไอ ปวดตามข้อ และเจ็บหน้าอก นอกจากนี้ยังมีบางรายพบอาการ ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า และปวดศรีษะ ร่วมด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น แต่ยังพบภาวะเช่นนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงด้วยเช่นกัน
 
 
 
โดยนักวิจัย ยังคงมุ่งหาคำตอบว่าร่างกายของผู้ติดเชื้อ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสขึ้นมาเองได้หรือไม่ และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจะอยู่ได้นานเท่าไร เพื่อช่วยในการหาแนวทางในการรักษาไวรัสโควิด-19 แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก
ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น.
 
ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
 
ที่มา :WHO , เดอะแลนเซ็ทดอทคอม , ซีเอ็นเอ็น : Thairath Online
Visitors: 1,198,855