ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ที่อังกฤษ น่ากังวลแค่ไหน ในไทยเป็นสายพันธุ์อะไร

ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ที่อังกฤษ น่ากังวลแค่ไหน ในไทยเป็นสายพันธุ์อะไร
 
ทุกๆ 1 เดือน ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่งตามธรรมชาติ ดังนั้นการตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้
 
โดย ‘สายพันธุ์ใหม่’ ที่ว่า ยังเป็นไวรัส SARS-CoV-2 ชนิดเดิม เพียงแต่รหัสสารพันธุกรรมไม่เหมือนเดิมเท่านั้น
 
 
การกลายพันธ์ุของไวรัส
 
ทุกสิ่งมีชีวิตจะมีการถอดรหัสจาก ‘สารพันธุกรรม’ เป็น ‘กรดอะมิโน’ ซึ่งเมื่อนำกรดอะมิโนมาเรียงเป็นสายต่อๆ กัน ก็จะได้เป็น ‘โปรตีน’ หนึ่งในสารอาหารที่เรารู้จัก
 
 
ไวรัส SARS-CoV-2 มีลักษณะเหมือนเงาะ คือเป็นทรงกลมที่มีขน (หนาม) ยื่นออกมา โดยเปลือกเงาะที่หุ้มสารพันธุกรรมเอาไว้จะมี ‘โปรตีน’ เป็นองค์ประกอบ แต่โปรตีนที่นักวิทยาศาสตร์สนใจเป็นพิเศษคือหนามที่ยื่นออกมา (Spike protein) เพราะเป็นส่วนที่ใช้จับกับเซลล์มนุษย์
 
 
กรดอะมิโน 1 ตัว ถอดมาจากรหัสพันธุกรรมได้ ‘หลาย’ รหัส ดังนั้นการกลายพันธ์ุของไวรัส 1 ตำแหน่ง อาจเกิดผลขึ้นมา 2 แบบ คือ
 
 
กรดอะมิโนยังเหมือนเดิม จึงยังเป็นโปรตีนตัวเดิม หน้าตาเงาะไม่เปลี่ยนแปลง กรดอะมิโนตัวใหม่ โปรตีนเปลี่ยนไป หน้าตาเงาะไม่เหมือนเดิม
 
 
ชื่อสายพันธุ์ของไวรัสที่เราได้ยิน ไม่ว่าจะเป็น S, L, V, G, GH หรือ GR ล้วนแล้วแต่เป็นตัวย่อของชื่อกรดอะมิโนที่ว่านี้ เช่น ไกลซีน (Glycine: G) ฮิสทิดีน (Histidine: H) เป็นต้น
 
สายพันธุ์ S เป็นสายพันธุ์แรกที่มีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต่อมามีการกลายเป็นสายพันธุ์ L ซึ่งพบในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทยในช่วงเดือนมกราคม 2563 และจากสายพันธ์ุ L ที่กระจายไปทั่วโลก ก็กลายเป็นสายพันธุ์ G แยกเป็น GH และ GR ในปัจจุบัน
 
 
(ระบบการจำแนกสายพันธุ์แบบนี้เรียกว่า GISAID แต่ถ้าอ่านข่าวต่างประเทศอาจเจอการจำแนกอีกระบบคือ Nextstrain จะจัดกลุ่มไวรัสเป็นสายพันธุ์ A, B, C)
 
 
อีกเรื่องเวลาที่เราตามข่าวก็มักจะได้ยินชุดตัวเลขพร้อมกันด้วย เช่น D614, G614 ซึ่งเป็นการระบุตำแหน่งของกรดอะมิโนบนสายยาว อย่าง D614G หมายถึงการเปลี่ยนจากกรดแอสปาร์ติก (Aspartic acid: D) เป็นไกลซีนที่ตำแหน่ง 614 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่เพิ่มจำนวนในเซลล์ได้เร็ว
 
ความกังวลต่อการกลายพันธุ์
 
ทุกครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ใหม่ หรือเมื่อไม่กี่เดือนก่อนที่ตรวจพบว่า ไวรัสที่มิงค์ติดจากคนย้อนกลับมาติดให้กับคนได้ใหม่ หน่วยงานด้านการควบคุมโรคจะมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่
 
ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ
ความรุนแรงของโรค
ความสามารถในการตรวจหาเชื้อ
การติดเชื้อซ้ำ
ประสิทธิภาพของวัคซีน
 
สำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดในอังกฤษขณะนี้คือ SARS-CoV-2 VUI 202012/01 
 
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) เรียก ‘สายพันธุ์ภายใต้การสอบสวน’ (VUI: Variant under investigation) ส่วนศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ เรียก ‘สายพันธุ์ที่กังวล’ (VOC: Variant of concern)
ปี 2020 เดือน 12 สายพันธุ์ 01
 
ถึงแม้จะยังจัดอยู่ในกลุ่ม GR หรือ B.1.1.7 แต่สาเหตุที่ถูกเพ่งเล็งเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์มากกว่าอัตราปกติ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่า ไวรัสกลายพันธ์ุ 2 ตำแหน่ง ทุกๆ 1 เดือน แต่สายพันธุ์ VUI 202012/01 มีการเปลี่ยนรหัสสารพันธุกรรมไปแล้ว 29 ตำแหน่ง
 
 
ตำแหน่งที่สำคัญ เช่น
 
N501Y (การเปลี่ยนจากแอสพาราจีนเป็นไทโรซีนที่ตำแหน่ง 501 ซึ่งเป็นส่วนของหนามที่ไวรัสใช้จับกับตัวรับของเซลล์มนุษย์ จึงทำให้จับกันแน่นขึ้น แต่การกลายพันธุ์นี้ยังไม่มีหลักฐานว่าส่งผลต่อการระบาดหรือความรุนแรงของโรค
 
69/70 deletion ซึ่งเป็นส่วนของหนามเช่นกัน ทำให้การตรวจหาเชื้อด้วยการตรวจจับยีนของหนาม (Spike gene) เป็นลบ หรือ ‘ไม่พบเชื้อ’ ได้ ECDC จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีการตรวจนี้แล้ว (ส่วนประเทศไทยไม่ได้ใช้วิธีการตรวจยีนนี้ตั้งแต่แรก)
 
ขณะนี้การระบาดของสายพันธุ์นี้พบมากทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ ด้วยอัตราป่วยเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 400 รายต่อแสนประชากรภายใน 2 เดือน และจากการวิเคราะห์พบว่า ค่า R (reproductive number) เพิ่มขึ้น 0.4 หรือสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม 70%
 
แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 60 ปี ซึ่งมักจะมีอาการน้อยอยู่แล้ว จึงยังไม่อาจสรุปความรุนแรงของสายพันธุ์นี้ได้ แต่โดยธรรมชาติเชื้อที่แพร่ได้เร็ว มักมีความรุนแรงต่ำ และที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานว่าไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ใดมีความรุนแรงมากกว่ากัน
 
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบในเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ส่วนสิงคโปร์ที่มีข่าวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นการตรวจพบในผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศอังกฤษ และถูกกักกันในสถานที่ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงยืนยันว่า ยังไม่มีสายพันธุ์นี้แพร่กระจายอยู่ภายในชุมชน
 
 
ประเด็นที่กังวลกันมากที่สุดน่าจะเป็นประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะทั้งวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติและที่อยู่ระหว่างการวิจัย ล้วนแล้วแต่ใช้สารพันธุกรรมหรือชิ้นส่วนของหนามในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงต้องติดตามความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนที่เริ่มฉีดไปแล้วในยุโรปอย่างใกล้ชิด
 
 
ทั้งนี้ ถ้าหนามของไวรัสไม่ได้เปลี่ยนแปลงทั้งหมด ก็ยังมีส่วนอื่นที่ภูมิคุ้มกันยังจัดการได้
 
สายพันธุ์ของไวรัสในประเทศไทย
 
วันที่ 23 ธันวาคม 2563 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเรื่องสายพันธุ์ของไวรัสที่ระบาดระลอกใหม่ กรณีสมุทรสาคร รวมถึงกลุ่มสถานบันเทิง 1G1 ท่าขี้เหล็ก, และชาวเมียนมาลักลอบเข้าเมืองที่อำเภอแม่สอด ว่าเป็นสายพันธุ์ GH
 
ซึ่งตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในเมียนมา และมีต้นทางมาจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางรัฐยะไข่ สายวิวัฒนาการไม่เกี่ยวข้องกับอินโดนีเซีย และที่สำคัญคือยังไม่พบเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่ง N501Y ดังนั้นขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่พูดถึงข้างต้น
 
สุดท้าย การเกิดโรคโควิด-19 จะต้องมีปัจจัย 3 อย่าง คือ เชื้อก่อโรค, คน และสิ่งแวดล้อมที่ไม่สมดุลกัน ถึงจะเกิดการติดเชื้อขึ้นมา แต่สิ่งที่พูดถึงมาตั้งแต่ต้นคือไวรัส หรือเฉพาะ ‘เชื้อก่อโรค’ เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ถ้า ‘คน’ ยังป้องกันตัวเหมือนเดิม ประกอบกับปัจจัยด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ ได้แก่ มาตรการทางสาธารณสุข เช่น การเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค มาตรการขององค์กรและรัฐบาล เช่น การทำงานที่บ้าน การควบคุมกิจกรรม / กิจการไม่ให้แออัด ไม่ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์อย่างไร ก็น่าจะควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
 
 
 
 
เรื่อง: ชนาธิป ไชยเหล็ก
อ้างอิง:
 
- Rapid increase of a SARS-CoV-2 variant with multiple spike protein mutations observed in the United Kingdom (20 December 2020) https://www.ecdc.europa.eu/sites/default/files/documents/SARS-CoV-2-variant-multiple-spike-protein-mutations-United-Kingdom.pdf
- ศูนย์ข้อมูลโควิด-19

 

ที่มา : the Standard

Visitors: 1,403,289