อาหารเด็ด 7 ชนิด ช่วยต้านภูมิแพ้ ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน

อาหารเด็ด 7 ชนิด ช่วยต้านภูมิแพ้ ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน
 
เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาทดสอแบความเป็นนักสู้ของคนไทยจริง ๆ เพราะนอกจาก COVID-19 แล้ว ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังต้องสู้กับฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่แวะเวียนมาอีกระลอก ให้ต้องคอยลุ้นค่าฝุ่นกันแบบรายวัน ว่าจะฟ้า เขียวหรือแดง
 
แม้จะมองไม่เห็นเพราะเล็กขนาดที่ขนจมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองได้ แต่เมื่อมีค่าเกินมาตรฐาน เจ้าฝุ่น PM 2.5 นำมาสู่อาการไอ หายใจลำบาก แสบตาแสบจมูก ระคายเคืองตาจนถึงขั้นอักเสบ สามารถแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง เป็นอันตรายอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ
 
แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากการสวมใส่หน้ากาก N95 แล้ว เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้ด้วยการกิน จะมีอะไรบ้างที่ช่วยร่างกายเราให้แข็งแรงพร้อมสู้ฝุ่นพิษได้ ติดตามได้ที่นี่
 
- [ ผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี ] : ถือว่าเป็นสารอาหารสุดคลาสสิกที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะวิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย เมื่อได้รับสารอนุมูลอิสระที่จะมาทำอันตราย วิตามินซีจึงช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ลดปัญหาจากภูมิแพ้ต่อระบบต่าง ๆ ทำให้ลดอาการคันตา อาการคันและแสบคอ อาการคันและแสบผิวหนัง สำหรับอาหารกลุ่มที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ส้ม แอปเปิ้ล แตงโม มะละกอ ผักสีเขียวเข้ม ใบบัวบก ผักขม และหัวหอม
 
- [ ผักสีส้มและเนื้อสัตว์แดง ] : หนึ่งในฮีโร่ของงานนี้คือผักสีส้มและเนื้อสัตว์แดง ที่มีวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และกรดโฟลิกหรือสารโฟเลต สามารถลดสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดลง เมื่อสูดฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไป แล้วเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยมีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูง ก็จะสามารถบรรเทาได้ สำหรับอาหารที่มีวิตามินกลุ่มนี้ ได้แก่ผักสีส้มที่มีเบต้าแคโรทีน อย่างฟักข้าว แครอท ฟักทอง ส่วนวิตามินบี 12 มีในเนื้อสัตว์เนื้อแดง มีส่วนช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น
 
- [ ปลาและถั่ว ] : ไม่ว่าจะเป็นปลาทะเลที่มีน้ำมันปลา ไขมันปลา ถั่ววอลนัท ถั่วอัลมอนด์ หรือถั่วเหลือง ก็อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 อันเป็นสารต้านการอักเสบที่ดีของร่างกาย โดยจากการศึกษาในประเทศเม็กซิโกพบว่า น้ำมันปลาสามารถป้องกันความเสื่อมของร่างกายจากการได้รับฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในกลุ่มทดลอง
 
- [ ผักบร็อคโคลี่ ] : จากงานวิจัยของ Johns Hopkins University ศึกษาพบว่า ในประเทศจีนในบริเวณที่มีมลภาวะทางอากาศสูง ผู้ที่บริโภคบร็อคโคลี่ มีปอดและตับที่ขับของเสียออกนอกร่างกายดีกว่า นั่นเป็นเพราะว่าบร็อคโคลี่ คือผักที่มีซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) และสารอินดอล (Indole) ที่ช่วยเร่งการขับของสารพิษในร่างกายนั่นเอง นอกจากนี้ยังช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษและต้านมะเร็งได้
 
- [ แตงโม หอมใหญ่ ไข่ กระเทียม ] : แตงโม หอมใหญ่ ไข่ กระเทียม คืออาหารที่มีกรดอะมิโนซิสเตอิน ช่วยในการสังเคราะห์ N-acetyl cysteine ซึ่งจะช่วยลดภาวะหลอดลมไวต่อการถูกกระตุ้น และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ N-acetyl cysteine ยังมีส่วนช่วยในการลดเสมหะและมูกในปอด และช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี
 
- [ เห็ดญี่ปุ่น ] : เห็ดสายพันธุ์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเห็ดยามาบูชิตาเกะ เห็ดชิตาเกะ เห็ดไมตาเกะ หรือเห็ดมัตสึทาเกะ ประกอบไปด้วยสารอาหารประเภทโพลีแซคคาไรด์ ในกลุ่มของเบต้ากลูแคน ที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง จนร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสหรือสิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น
 
- [ มะขามป้อม ขมิ้นชัน รางจืด ] : สมุนไพรไทยทั้งสามนี้ มีสารต้านอนุมูลอิสระ หากนำมาต้มดื่ม จะช่วยป้องกันเซลล์เกิดการอักเสบ สำหรับมะขามป้อม ยาละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้ดีที่สุด จะช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดให้ไหลเวียนดี ช่วยลดผลกระทบจากก๊าซพิษซัลเวอร์ไดออกไซด์อันเป็นแหล่งกำเนิดของ PM2.5 และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินอีถึง 80 เท่า
 
ส่วนขมิ้นชัน มีความโดดเด่นเรื่องลดอักเสบ ผลการศึกษาพบว่า ขมิ้นชันมีผลในการปกป้องระบบหัวใจ หลอดเลือด-ปอด ทำให้สามารถล้างพิษฝุ่นได้ แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน และรางจืดก็ช่วยให้ปอดเกิดการชะล้างที่ดี ปกป้องอวัยวะจากสารพิษโลหะหนัก และลดอาการภูมิแพ้จากฝุ่นละออง
 
ดั่งคำกล่าวที่ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ควรหมั่นรับประทานอาหารสู้ฝุ่นจิ๋วในเบื้องต้น พร้อมกับการใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แจ้ง ดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและพยายามอย่าเครียดจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมรับมือกับฝุ่นจิ๋วตัวร้าย ไม่ให้มันบุกเข้าร่างกายมาทำร้ายปอดของเราได้
 
เรื่องโดย พิมพ์พันธุ์ จันทร์แดง
 
Visitors: 1,199,182