สตาร์บัคส์หลอกลูกค้า หรือลูกค้าหลอกตัวเอง ?

สตาร์บัคส์หลอกลูกค้า หรือลูกค้าหลอกตัวเอง ?
 
โอละพ่อ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อลูกค้าคิดว่าสั่งกาแฟเย็น 12 ออนซ์ แล้วต้องได้กาแฟเข้ม ๆ 12 ออนซ์ ไม่รวมน้ำแข็ง
 
 
สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน เช้า ๆ อากาศดีแบบนี้ นำคดีกาแฟชื่อดังมาเสริ์ฟให้ท่านได้รับความสดชื่นยามเช้ากันนะครับ
 
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อลูกค้านามว่า อเล็กซ์ ได้เข้าสู่เว็บไซต์สตาร์บัคส์มองหาเมนูเย็นเพื่อเติมเต็มร่างกายให้รู้สึกกระปี้กระเป่า
 
เขาเลือกดูเมนูเครื่องดื่มเย็นที่บอกปริมาณเครื่องดื่มในแต่ละแก้ว
- Tall ขนาด 12 ออนซ์
- Grande ขนาด 16 ออนซ์
- Venti ขนาด 24 ออนซ์
- Trenta ขนาด 30 ออนซ์
 
จากนั้น เขาสังเกตว่าเมื่อเราสั่งเมนูเครื่องดื่มเย็นมาสักแก้ว เช่น กาแฟเย็น 12 ออนซ์ แท้จริงแล้วมีกาแฟประมาณครึ่งแก้วเท่านั้น นอกนั้นเต็มไปด้วยน้ำแข็ง โอ้ !!! นี่ต้องไม่ใช่แค่เราแน่ ๆ ที่ถูกหลอก บรรดาผู้บริโภคตาดำ ๆ ตาน้ำข้าว คนอื่นก็ถูกหลอกลวงมาโดยตลอดเลยสินะ
 
 
อเล็กซ์ อาสาผดุงความยุติธรรมให้แก่บรรดาเหล่าผู้บริโภค เขาตะเวนรวบรวมสมาชิกผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงเข้าชื่อกันดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) โดยตัวเขาฟ้องร้องในนามตนเองและตัวแทนสมาชิกกลุ่ม
 
 
กล่าวหาสตาร์บัคส์ต่อศาลไปเบา ๆ 8 ข้อหา
1. กระทำผิดต่อคำรับรองที่ให้ไว้แก่ลูกค้าโดยชัดแจ้ง
2. กระทำผิดต่อคำรับรองที่ให้ไว้แก่ลูกค้าโดยปริยาย
3. บิดเบือนข้อเท็จจริงโดยประมาท
4. ลาภมิควรได้ (ได้รับเงินไปโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ต้องคืนเงินเหล่านั้น)
5. ฉ้อโกง
6. กระทำผิดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
7. กระทำผิดต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้า
8. กระทำผิดต่อกฎหมายการโฆษณาเท็จ
 
 
อเล็กซ์ พยายามกล่าวอ้างว่า ปัญหาหลักมันอยู่ที่ "เส้นบรรทัดสีดำบนแก้ว" เขาบอกว่าพนักงานเติมเครื่องดื่มลงไปและหยุดที่เส้นบรรทัดสีดำ หลังจากนั้น เติมน้ำแข็งเพิ่มเข้าไปให้เต็ม สิ่งนี้เป็นผลมาจากการที่สตาร์บัคส์กำหนดแนวปฏิบัติมาตรฐานสำหรับชงเครื่องดื่มเย็นให้พนักงานทำตาม
 
ผลที่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณเครื่องดื่มจริงไม่ตรงกับปริมาณบนแก้วที่ลูกค้าสั่ง เช่น กาแฟเย็น ขนาด Grande 16 ออนซ์ มีกาแฟเพียง 12 ออนซ์ แทนที่จะเป็น 16 ออนซ์ และ ขนาด Venti 24 ออนซ์ มีกาแฟเพียง 14 ออนซ์ แทนที่จะเป็น 24 ออนซ์
 
 
อีกทั้ง ยังบอกว่า ขนาด Tall 12 ออนซ์ กับ Trenta 30 ออนซ์ แท้จริงแล้วมีปริมาณกาแฟเกือบเท่ากัน ต่างกันแค่เพียงนิดเดียว ส่วนสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือน้ำแข็งเกือบทั้งหมด นี่มันเป็นการหลอกลวง ฉันรับไม่ได้
 
 
นอกจากนั้น อเล็กซ์ยังอ้างคำศัพท์ในพจนานุกรม คำว่า “เครื่องดื่ม” มันหมายถึง ของเหลวที่สามารถดื่มได้ ดังนั้น น้ำแข็งไม่ใช่เครื่องดื่มไปโดยปริยาย จึงไม่ควรนำปริมาณน้ำแข็งมารวมกับปริมาณเครื่องดื่ม มันคนละส่วนกันอย่างสิ้นเชิง (ฮั่นแหนะ !!! จ๊าบไหมหละ)
 
 
 
สตาร์บัคส์เองไม่กล่าวอะไรมาก โต้แย้งไปว่า ผู้บริโภคเขาก็รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วแหละว่าสั่งเครื่องดื่มเย็นก็ต้องรวมปริมาณน้ำแข็งเข้าไปด้วย และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของอเล็กซ์ (แหม่ ดุดันสุด ๆ)
 
 
 
เอาหล่ะ คราวนี้มาถึงฝั่งศาลกันบ้าง แรก ๆ ศาลถึงกับต้องกุมขมับ แต่พอตั้งสติได้ก็เริ่มพิจารณาร่ายยาวกันไปตามสเต็ป
 
 
ศาลมองว่า แก้วเครื่องดื่มเย็นของสตาร์บัคส์เป็นแบบใสสว่าง ซึ่งง่ายต่อการมองเห็นและสังเกตได้ว่าเครื่องดื่มประกอบไปด้วยของเหลวและน้ำแข็งผสมกันอยู่ เมื่อผู้บริโภคเดินไปสั่งเครื่องดื่มเย็นในร้านก็จะทราบขนาดของแก้วและปริมาณเครื่องดื่มว่าต้องมีน้ำแข็งผสมอยู่ด้วย
 
 
ดังนั้น การกล่าวอ้างของอเล็กซ์ที่ว่าผู้บริโภคสับสนหลงผิดและถูกหลอกลวงจากการโฆษณาเท็จและเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจากสตาร์บัคส์ จึงไม่สมเหตุสมผล
 
อีกทั้ง เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้บริโภคทราบกันดีอยู่แล้วเมื่อสั่งเครื่องดื่มเย็นก็จะได้เครื่องดื่มผสมน้ำแข็งเข้ามาด้วย จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอมาสรุปว่าสตาร์บัคส์จงใจฉ้อโกงผู้บริโภคและบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยประมาท
 
 
ขณะเดียวกัน ศาลยังเห็นว่า สตาร์บัคส์ไม่ได้รับรองอะไรเลยว่าเครื่องดื่มเย็นจะมีปริมาณเครื่องดื่ม (ที่เป็นของเหลว) เท่าไหร่กันแน่
 
เพียงแค่รับรองไว้ว่าเครื่องดื่มเย็นจะมีเครื่องดื่มส่วนหนึ่งและน้ำแข็งส่วนหนึ่งผสมกันอยู่ในขนาดแก้วที่กำหนด เช่น สั่งกาแฟเย็น 12 ออนซ์ ก็จะได้กาแฟผสมน้ำแข็งรวมกัน 12 ออนซ์ ไม่ใช่กาแฟเพียว ๆ 12 ออนซ์ ดังนั้น สตาร์บัคส์จึงไม่ได้กระทำผิดต่อคำรับรองที่ให้ไว้แก่ลูกค้า
 
 
สุดท้ายและท้ายสุด ศาลตัดสินยกฟ้องอเล็กซ์ สตาร์บัคส์ชนะคดีไปอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องชดใช้เงิน ไม่ต้องคืนเงินใด ๆ ทั้งสิ้น
 
 
แล้วท่านผู้อ่านละ คิดว่าสั่งกาแฟเย็น 12 ออนซ์ ควรได้กาแฟจริงเท่าไหร่ ?
 
1. กาแฟเข้ม ๆ 12 ออนซ์ เต็มพิกัด ไม่รวมน้ำแข็ง
 
 
2. กาแฟ + น้ำแข็ง รวมกัน 12 ออนซ์
 
 
อ่านจบแล้ว อย่าลืมหากาแฟเย็น ๆ สักแก้วดื่มกระตุ้นหัวใจกันหน่อยนะ
 
 
อ้างอิงเนื้อหา
[1] Forouzesh v. Starbucks Corp., No. CV16-3830PA(AGRx), 2016 WL 4443203, at*3
[2] Forouzesh v. Starbucks Corp., 714 F. App'x 776 (9th Cir. 2018)
 
อ้างอิงรูปภาพ
[1] Fovenka, Omar lopez, Sora Shimazaki, Thirteen .J, www.unsplash.com
 
ขอบคุณเรื่องราวดีq : LAWSUIT https://www.blockdit.com/articles/5fc7c485e926de0dcce688c4/#
Visitors: 1,429,846