ทำไมจะเข้าใจความคิดทางการเมืองของคนอื่นจึงเป็นเรื่องยาก?

ทำไมจะเข้าใจความคิดทางการเมืองของคนอื่นจึงเป็นเรื่องยาก?
 
เคยมีประสบการณ์แบบนี้กันบ้างไหมครับ?
 
เรามีเพื่อน พี่น้อง หรือญาติที่สนิทมาก สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง แต่พอเป็นเรื่องของการเมือง เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น
มันเหมือนเราไม่สามารถเข้าใจตรรกะของเขาได้เลย
 
แม้ว่าเราจะพยายามเปิดใจกว้าง แต่มันก็ยังยากที่จะเห็นด้วยไปกับเขา เช่นเดียวกัน แม้ว่าเราจะพยายามอธิบายด้วยเหตุผลมากมายว่าทำไมเราจึงมีความเห็นเช่นนี้ มันก็ยังยากที่จะทำให้เขาเห็นคล้อยและเข้าใจในมุมมองของเรา คำตอบมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า empathy gap ครับ
 
1. เคยกินข้าวอิ่มๆ แล้วมีคนมาถามว่าเย็นนี้อยากจะกินอะไร แล้วคิดไม่ออกไหมครับ ?
เคยไหมครับ เราโกรธเรื่องอะไรมากๆ มากเสียจนเราพูดหรือทำบางอย่างออกไปที่ปกติเราไม่คิดจะพูดหรือจะทำ และเมื่อเราหายโกรธ เรางงตัวเองมากว่าเราทำแบบนั้น หรือพูดสิ่งที่ทำร้ายจิตใจนั้นออกไปได้ยังไง?
 
ภาวะที่คนส่วนใหญ่ก็เคยเป็นนี้ ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่จริงๆมันบอกสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและจิตวิทยาเรา ที่มีชื่อว่า empathy gap ครับ
 
empathy ที่แปลว่า เห็นอกเห็นใจ
gap ที่แปลว่า ช่องว่าง
 
ความหมายของมันคือ มันมีช่องว่างที่เราไม่สามารถข้ามไปแล้วเข้าใจสิ่งที่เขารู้สึก หรือสิ่งที่เขาคิด สำหรับคำอธิบายที่ยาวขึ้น คือแบบนี้ครับ
ความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมของมนุษย์เรา จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะแรงขับจากภายในร่างกาย ตัวอย่างเช่น
ความหิวหรืออิ่ม สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่ (ควรจะง่ายมาก) อย่าง " เย็นนีจะกินอะไร" ถ้าเรากำลังหิว สิ่งที่คิดได้จะมีร้อยแปด แต่ถ้าอิ่มมากๆ เราอาจจะคิดอะไรไม่ออกเลย
 
อารมณ์โกรธ สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจพูดหรือทำอะไร ที่ปกติเราไม่คิดจะพูดหรือทำ ประเด็นก็คือ เราไม่มีทางรู้ว่า เมื่อเราอยู่ในอีกสภาวะ เราจะคิดหรือทำแบบไหน
 
ตอนที่เราอิ่ม เราไม่รู้ว่าตอนที่เราหิวเราอยากกินอะไร
ตอนที่ไม่โกรธ เราไม่รู้ว่าตอนที่เราโกรธเราจะทำอะไรออกไปได้บ้าง
ตัวอย่างนี้มันเป็น empathy gap ที่เกิดขึ้นในตัวของคนๆนึง คือ ตัวเรายังไม่รู้ตัวเรา แต่ empathy gap มันยังเกิดระหว่างบุคคลได้
เพราะถ้าคิดดู จะเห็นสภาวะหนึ่งๆ ของคนเรา มันมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่เพศ (ผู้ชาย vs ผู้หญิง) การเลี้ยงดู ประสบการณ์ชีวิต การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อ ฯลฯ รวมไปถึงพันธุกรรมด้วย (คนเกิดมานิสัยต่างกัน บางคนเกิดมาขี้กลัว ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง บางคนเกิดมาชอบผจญภัย ชอบการเปลี่ยนแปลง)
 
หรือพูดง่ายๆว่า วินาทีนั้น แต่ละคนจะรู้สึกยังไง จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ยังไง มันขึ้นกับประสบการณ์หลายๆปีที่แต่ละคนสะสมมาด้วย
ทำให้ empathy gap สามารถนำไปเข้าใจในบริบทอื่น ๆ ที่กว้างขึ้นได้อีก รวมถึง empathy gap ที่เกิดขึ้นระหว่างคนได้ด้วย
.
.
เราลองมาดูตัวอย่างอื่นๆ ของ empathy gap ทั้งที่เกิดขึ้นในตัวคนๆหนึ่ง หรือ เกิดระหว่างคน เพิ่มอีกหน่อยนะครับ จะได้นึกภาพออกง่ายขึ้น ตัวอย่างอื่นๆก็เช่น
 
1) ในสภาวะที่ปกติ เราอาจจะมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ดีเยี่ยม และมั่นใจว่าเราคงไม่พลาด
 
แต่ตอนที่เราหื่นจนหน้ามืด เราก็อาจจะทำสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำลงไปได้ (อธิบายว่าทำไม การสอนเพศศึกษาอย่างเดียวจึงไม่พอ แต่การให้มีถุงยางอนามัยที่นักเรียนนักศึกษาเข้าถึงได้ง่ายจึงสำคัญ)
 
2) หรือในสภาวะที่คนกำลังตกหลุมรัก ถ้าใครไม่เคยรักมาก่อน ก็ยากที่จะเข้าใจได้ว่า ทำไมคนที่กำลังตาบอดเพราะความรัก จึงมีพฤติกรรมหรือการตัดสินใจที่ไม่ฉลาด ไม่สมเหตุสมผลเช่นนั้น
 
หรือแม้แต่ในคนที่เคยตกหลุมรักมาก่อน แต่ผ่านประสบการณ์นั้นมานานแล้ว เช่น ผู้ใหญ่ ก็อาจจะนึกไม่ออกว่าวัยรุ่นที่กำลังมีความรักมันเป็นยังไง
 
3) หรืออีกตัวอย่างที่พบบ่อย คือ การได้เห็น ได้ฟังข่าว ของคนที่ทำสิ่งดูโง่หรือตัดสินใจผิดพลาดเหมือนไม่น่าเชื่อ
สาเหตุที่เรามองว่า เขาทำสิ่งที่ดูโง่มากๆ เพราะเราตัดสินเขาจาก จุดของเรา สภาวะของเรา แต่ถ้าเราต้องไปอยู่จุดเดียวกับเขา โดนความกดดัน โดนความเครียดเช่นเดียวกับเขา เราก็อาจจะตัดสินใจหรือ ทำสิ่งที่ผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน หรือ พูดง่ายๆว่า วิจารณ์หน้าจอทีวีหรือบนคีย์บอร์ด มันต่างไปจาก การต้องไปตัดสินใจในสถานการณ์จริง
 
ตัวอย่างเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามันเห็นได้ค่อนข้างชัด ซึ่งมันจะช่วยให้เข้าใจในสถานการณ์ที่อาจจะเห็นไม่ชัด ได้อื่นๆได้ด้วย
ตัวอย่างของ empathy gap ที่เห็นได้ไม่ชัดนัก เช่น
 
4) คนที่อยู่ในสถาวะที่ปลอดภัย ยากจะเข้าใจว่าคนที่กำลังเดือดร้อนรู้สึกยังไง ตัดสินใจยังไง
 
5) คนที่รวย รู้สึกมั่นคงในชีวิต ยากจะเข้าใจว่าคนยากจนที่รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตรู้สึกยังไง ตัดสินใจยังไง
หรือแม้แต่คนที่เคยจนมาก่อน เมื่อผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว ก็ยังยากที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนที่ลำบากเรื่องเงินตอนนี้
 
6) คนที่ขับรถเพื่อการเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ก็ยากจะเข้าใจว่าคนขับรถแท็กซี่ที่การขับรถ ไม่ใช่การเดินทาง แต่เป็นการหาเงินเลี้ยงชีพที่ต้องแข็งขัน รู้สึกยังไง ตัดสินใจยังไง
 
7) ผู้ชายที่มีสมองและฮอร์โมนต่างไปจากผู้หญิง ก็ยากที่จะเข้าใจว่า ผู้หญิง (โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน) จะรู้สึกยังไง ติดสินใจยังไง
 
8) เรื่องของวัย คนส่วนใหญ่เมื่อเป็นวัยุรุ่นจะมีแนวโน้มจะชอบลองของใหม่ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ชอบท้าทาย อยากจะทำลายกำแพง แต่เมื่อคนอายุมากขึ้นมีแนวโน้มจะ conservative ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงมากนัก (สาเหุตไม่แน่ชัดครับ แต่ “อาจจจะ” เกี่ยวกับ ความยืดหยุ่นของสมอง หรือ brani plasticity ที่ลดลง) ซึ่งทำให้คนแต่ละวัยเข้าใจกันได้ยากขึ้น ฯลฯ
 
ผลที่ตามมาของ empathy gap คือ เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่า
เราใจเย็นกว่าที่เป็นจริง หรือ เขาควรจะใจเย็นได้มากกว่านี้
เรามีวินัยกว่าที่เป็นจริง หรือ เขาควรจะมีวินัยได้มากกว่านี้
เราอดทนได้มากกว่าที่เป็นจริง หรือ เขาควรจะอดทนได้มากกว่านี้
คนมีเงินอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมคนยากจนบางคนขาดจิตสำนึก และไม่ทำตามกฎหมาย
หรือถ้าอยากจะสรุปแบบภาษาบ้าน ๆ หน่อย ก็อาจจะพูดได้ว่า
ตัวเราเองในสภาวะที่ต่างไป เรายังไม่เข้าใจเลย แล้วเราจะไปเข้าใจ คนอื่น ที่อยู่ในสภาวะ 'แบบที่เราไม่เคยมีประสบการณ์' ได้อย่างไร
 
2. คราวนี้กลับมาที่เรื่องของการเมือง
เรื่องของการเมือง มันมีอย่างน้อยๆ 2 ปัจจัยที่ทำให้คุยกันยาก
1) เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องของ ตัวตน หรือ identity เป็นเรื่องของการเป็นสาวก ไม่ใช่แค่เรื่องของความคิดธรรมดา (เรื่องนี้ผมเคยอธิบายเป็นคลิปไว้ในที่ลิงก์นี้ครับ แนะนำให้ดู จะทำให้เข้าใจหัวข้อนี้มากขึ้น)
2) เรื่องของ empathy gap
โดยธรรมชาติของการเมือง โดยเฉพาะการเมืองแบบประชาธิปไตย มันคือการต่อรองกันระหว่าง คนที่มีความต้องการต่างกัน (แต่มาอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างที่ผมเคยเล่าไว้ใน คลิปซีรีส์กำเนิดประชาธิปไตย ถ้าใครสนใจ ผมจะใส่ลิงก์ไว้ให้ในคอมเมนต์ครับ)
ประเด็นต่างๆที่คุยในการเมืองจึงถูกแบ่งเป็นขั้วต่างๆ ที่ต้องถกเถียงกัน ต่อรองกัน ระหว่างคนที่มี empathy gap ต่างกัน
จุดที่สำคัญคือ ตรงนี้ครับ หลายครั้งเมื่อเราเถียงกันเรื่องการเมือง เราให้น้ำหนักกับการถกเถียงกันด้วยเหตุผลล้วนๆ คือ พยายามจะเอาชนะกันด้วยตรรกะ
 
ซึ่งถ้าเรื่องที่เถียงเป็นเรื่องของ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่เรื่องของการเมือง มันเป็นเรื่องของ "ความต้องการ"
เป็นความต้องการที่จะเห็นสังคมเป็นไปในทิศทางไหน
 
ปัญหาคือ ความต้องการหลายครั้งมันไม่มีผิดหรือถูก มันเป็นความรู้สึก ที่ต้องต่อรองและหาจุดร่วมที่ลงตัวระหว่างคนที่มีความต้องการต่างกัน ดังนั้นการ empathized คนอื่นจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ไม่สามารถจะละเลยไปได้
 
แต่ส่วนใหญ่ เมื่อเราถกเถียงกันด้วยเหตุผล โดยไม่ได้ใช้ empathy ที่จะเข้าใจคนอื่น จากมุมมองของเขา จากประสบการณ์ชีวิตของเขา จากนิสัยของเขา จากปมในใจบางอย่างของเขา เราจึงไม่เข้าใจสิ่งที่เขารู้สึก เมื่อเราไม่เข้าใจสิ่งที่เขารู้สึก เราจึงไม่เข้าใจสิ่งที่เขาคิด
 
3. คำถามต่อไป คือ แล้วสิ่งที่เรียกว่า empathy gap มันสามารถลดได้ไหม ?
 
ทำได้ครับ แค่มันต้องพยายามมากหน่อยก็เท่านั้น
ขั้นแรกสุดที่จะช่วยได้มากๆ ก็ คือ การรู้ว่ามีสิ่งที่เรียก empathy gap อยู่ คือ รู้ว่า สมองเราทำงานแบบนี้ รู้ว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรามันพูดง่ายแต่ทำจริงยาก (หรือลืมทำ)
 
เมื่อเรารู้สมองเรามีจุดอ่อน สมองส่วนที่ใช้ตรรกะของเราก็มีแนวโน้มจะระวังมากขึ้น เราจะตัดสินคนอื่นจากมุมมองของเราน้อยลง
และเมื่อเรารู้ว่าสมองเรามีแนวโน้มจะทำงานเช่นนั้น เราก็มีแนวโน้มจะทำขั้นที่สองมากขึ้น นั่นคือ
 
ขั้นตอนที่สอง คือ พยายาม (เน้นว่าพยายาม) เข้าใจความรู้สึกของเขา พยายามมองในมุมมองของเขา พยายามเข้าใจว่าอะไรคือ สิ่งที่เขา “รู้สึก” ว่าสำคัญ การจะ empathized คนอื่น ก็เหมือนกับที่นักการตลาดนิยมใช้ทั่วไป ในการจะเข้าใจความต้องการของลูกค้า คือ การพยายามนึกภาพให้ออกว่า ลูกค้าเป็นใคร และถ้าเราเป็นลูกค้าเราจะคิดแบบไหน เช่น ถ้าเราเติบโตมาในบ้านแบบเขา ถ้าเราไปโรงเรียนเดียวกับเขา ถ้าเราเพศเดียวกับเขา ถ้าเรามีเพื่อนกลุ่มเดียวกับเขา ถ้าเราอ่านหนังสือเหมือนเขา ถ้าเรามีรายได้เท่าเขา ถ้าเรากินอาหาร (หรือไม่มีกิน) เหมือนเขาทุกวัน และอื่นๆมากมาย
 
ทั้งหมดทำไปเพื่อเข้าใจความรู้สึกของคนที่จะเป็นลูกค้า เพื่อเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร เช่นเดียวกัน การ empathized คนที่เราเถียงเรื่องการเมืองด้วย ไม่ได้ทำเพื่อให้เขาเปลี่ยนมาคิดเหมือนเรา หรือเราเปลี่ยนไปคิดเหมือนเขา แต่ทำไปเพื่อเข้าใจว่า เขารู้สึกยังไง เพราะความรู้สึกของเขา จะเป็นที่มาของความคิดในแบบของเขา
 
ขั้นที่สามคือ agree to disagree
สุดท้ายสิ่งที่เราพอจะทำได้คือ การยอมรับไปว่า เรามีความต้องการต่างกัน เราจึงคิดต่างกัน และที่สำคัญคือ เราจะยอมอยู่กับความต่างนั้น แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะถ้ายังฝืนดันไปต่อ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือ ความขัดแย้ง การทะเลาะกัน หรือสงครามระหว่างกัน ซึ่งมักจะเป็นทางเลือกที่เลวร้ายที่สุด
.
.
จะเห็นว่ามัน พูดง่าย แต่ทำจริงยาก คนส่วนใหญ่จึงเลือกทางที่ง่ายกว่า นั่นคือ ตัดสินจากมุมมองของเราไปเลยว่า เขาผิดหรือถูก
แม้ว่ามันจะยาก แต่การ empathized เพื่อลด empathy gap ก็อาจจะเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องฝึกฝนที่จะทำ
เพราะสุดท้าย สิ่งที่เราทุกคนน่าจะต้องการเหมือนกันคือ สังคมที่คนคิดต่างกัน ชอบต่างกัน แต่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ อย่างสันติสุข
เห็นด้วยไหมครับ ?
 
ที่มา : เรื่องเล่าจากร่างกาย https://www.blockdit.com/articles/5fbc6b1ecf993c7f2ae4e361/#
Visitors: 1,216,887