'Work From Home' สุดพัง งานไม่เดิน สุขภาพจิตแย่ เช็ค 7 สัญญาณที่ต้องรีบแก้

'Work From Home' สุดพัง งานไม่เดิน สุขภาพจิตแย่ เช็ค 7 สัญญาณที่ต้องรีบแก้

'Work From Home' สุดพัง งานไม่เดิน สุขภาพจิตแย่ เช็ค 7 สัญญาณที่ต้องรีบแก้
19 เมษายน 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
 

เช็คลิสต์ 7 ลักษณะ "Work From Home" ที่กำลังสะท้อนว่าการ "ทำงานที่บ้าน" ของคุณกำลัง "พัง" ที่ต้องรีบแก้ไขก่อนหมดไฟ

"โควิด-19" ระบาดระลอก 3 ในไทย ครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดด และการรับมือกับสถานการณ์ของภาครัฐที่ออกมาประกาศ "Work From Home" หรือ "WFH" หรือ "ทำงานจากที่บ้าน" เหมือนกับครั้งแรก เพื่อลดการเดินทาง ลดการแพร่เชื้อโควิดในวงกว้างยิ่งกว่าเดิม

ทว่า แม้นี่จะเป็นการทำงานที่บ้านครั้งที่ 2 ที่หลายคนเคยมีประสบการณ์มาแล้ว แต่ใช่ว่าการทำงานที่บ้านจะเป็นเรื่องง่ายเหมือนที่คิด ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้การทำงานพังไม่เป็นท่า และบางครั้งเรื้อรังถึงขั้นมีสุขภาพจิตแย่ๆ มาเป็นของแถม

 7 เรื่องที่กำลังส่งสัญญาณว่าการทำงานที่บ้านของคุณกำลังพัง ต้องรีบปรับ ดังนี้

161882434667

 

 

 1. เครียดมากขึ้น 

หลายคนคิดว่าทำงานที่บ้านแล้วจะสบายกว่าไปทำงาน แต่พอได้ลองแล้วพบว่าผิดถนัด กลับได้ความเครียดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

สาเหตุความเครียดมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ เจ้านายสั่งงานไม่หยุด ไม่มีช่วงเวลาการพักผ่อนที่ชัดเจนขาดการปฏิสัมพันธ์พูดคุยปรึกษากับเพื่อนร่วมงาน จนทำให้ต้องแก้ปัญหาเพียงลำพัง ฯลฯ 

ไม่ว่าสาเหตุของความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นขณะ WFH จะมีต้นตอมาจากเรื่องอะไร แต่สิ่งที่ต้องรีบทำทันทีที่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับความเครียดมากเกินไปแล้ว คือการหาเวลาผละตัวออกจากงานในจังหวะที่สามารถทำได้ เพื่อคลายความเครียดของตัวเองลง หรือรีเซ็ตสมองให้โปร่งก่อนกลับมาทำงานต่อ เพื่อประสิทธิภาพงานที่เพิ่มขึ้นและสุขภาพจิตที่ดี

กล่าวได้ว่า การทำงานจากที่บ้าน จำเป็นต้องมีการแบ่งเวลาพักที่ชัดเจนเช่นเดียวกับการทำงานที่ออฟฟิศ เพื่อช่วยให้จัดการงานและจัดการอารมณ์ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง


 2. เหนื่อยกว่าปกติ เหมือนทำงานตลอดเวลา 

WFH สัปดาห์แรกไม่เป็นไร สัปดาห์ต่อไปเหนื่อยใจจะขาด! ใครที่รู้สึกว่าการทำงานที่บ้านเหมือน "งานหนักขึ้น 2 เท่า" 

กรณีนี้เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาจเป็นเพราะเรา แยก "เวลาทำงาน" กับ "เวลาส่วนตัว" ไม่ได้ หรือเพราะหัวหน้างาน หรือทีมทำงานไม่เป็นระบบจนต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาจนเหมือนไม่ได้พักผ่อน ฯลฯ

สำหรับคนที่ประสบปัญหานี้ และต้องการออกจากวังวนความเหน็ดเหนื่อยไม่รู้จบ อาจเริ่มจากการประเมินว่าสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเหมือนทำงานอยู่ตลอดเวลาเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ถ้าเกิดขึ้นเพราะเราจัดการเวลาอย่างหละหลวมก็ต้องวางแผนการ WFH กันเสียใหม่

แต่ถ้าสาเหตุมาจากการทำงานไม่เป็นระบบของทีมงาน อาจต้องมีการสื่อสารถึงปัญหานี้ให้เข้าใจกันเองในทีม เพื่อหาทางออกในการวางแผนการทำงานให้ชัดเจนขึ้นสร้างบาลานซ์ชีวิตและงานให้ลงตัว ก่อนที่จะพังไปทั้งคู่

 

 3. ไม่มีสมาธิทำงาน 

"บรรยากาศ" ชวนให้พักผ่อน คือสิ่งที่สามารถดึงดูดเราออกจาก "สมาธิ" หรือ "การจดจ่อกับงาน" ได้ทุกเมื่อ

ถ้าตลอดการทำงานจากที่บ้านของเรา มีสิ่งรบกวนตลอดเวลาจนไม่มีสมาธิทำงานให้ได้อย่างราบรื่น นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บ่งชี้ว่า WFH ของเรากำลังพัง และต้องเร่งหาทางออก

โดยสิ่งที่จำเป็นต้องจัดการให้ลงตัวตั้งแต่เริ่มทำงาน คือการ "แบ่งพื้นที่การทำงาน" ภายในบ้านที่ชัดเจนหรือ กำหนดกติกาหลวมๆ กับคนในบ้าน เพื่อลดการรบกวนจากสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงที่มักเข้ามาหาระหว่างทำงาน ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานเสร็จเร็ว และมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้นนั่นเอง

 

 4. สื่อสารผิดพลาดบ่อย 

หากคุณสื่อสารเรื่องงานกับทีมงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ผิดพลาดบ่อยๆ นั่นกำลังบอกว่า WFH ของคุณเริ่มมีปัญหา

เนื่องจากการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ หรือประชุมในระยะไกล มีเงื่อนไขของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ห้วงเวลารอคอยการตอบกลับ ทำให้การสื่อสารอาจมีประสิทธิภาพไม่เหมือนการพูดคุยแบบตัวต่อตัว 

อย่างไรก็ดี ปัญหานี้จะต้องเริ่มแก้จากการให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ซึ่งกันและกันให้มากเป็นพิเศษในระหว่างที่ยัง WFH ไม่ว่าจะเป็นการโทรหา วิดีโอคอล ประชุม หรือแชท เพื่อให้สามารถพูดคุยก็ได้ตลอดการทำงาน ภายในเวลางาน ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในการสื่อสารรวมถึงลดโอกาสผิดพลาดของงานลงไปได้

 

 5. ทำงานช้ากว่าปกติ 

พอทำงานจากที่บ้านนานๆ เข้าหลายคนมักประสบปัญหานี้ เพราะถูกบรรยากาศที่บ้านกลืนกิน เช่น แอบพักถี่ขึ้น เปิดไปเปิดตู้เย็นบ่อยๆ หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นเกม หรือหอบคอมพิวเตอร์ไปทำบนเตียงนอนแบบทำงานไปด้วยพักผ่อนไปด้วย

ตัวอย่างที่ยกมาไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับการทำงานจากที่บ้านซะทีเดียว แต่ความสบายเหล่านี้จะทำให้งานของคุณเสร็จช้า บางครั้งอาจถึงขั้นงานเสร็จไม่ทันเวลา และกลายเป็นความเครียดสะสมเมื่อเวลาผ่านไป

ถ้าคุณประสบปัญหานี้อยู่ ยังไม่สายที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น สร้างกรอบเวลาในการทำงานที่ชัดเจน แล้วเปลี่ยนการเปิดตู้เย็น กินขนม เอนหลัง ฯลฯ ให้กลายเป็นรางวัลหลังทำงานเสร็จแทนการพักไปทำงานไป แล้วปัญานี้จะหมดลง

 

 6. ไม่มีแรงบันดาลใจ 

ในความเป็นจริงแล้วความรู้สึกนี้เกิดได้ทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะการทำงานที่บ้าน แต่ในกรณีของการ WFH แบบจำเป็นในสถานการณ์ "โควิด-19" ระบาด ทำให้ไม่สามารถออกไปเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานในสถานที่อื่นๆ อย่าง co-working space ร้านคาเฟ่ต่างๆ หรือไปเสพบรรยากาศจากการเดินทางเพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานสายครีเอทีฟ ที่ต้องใช้แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน

อย่างไรก็ดี ลองใช้วิธีอื่นๆ แทน เช่นเมื่อถึงเวลาพัก ลองค้นคว้าหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากโลกออนไลน์ เข้าครัว เรียนคอร์สออนไลน์ฟรี ดูหนัง ฟังเพลง เปิดทัศนะในเวลาพักก็เป็นทางเลือกที่ช่วยเติมไฟ เพิ่มพลังในการทำตามตามสไตล์ของตัวเองได้

 

 7. มีโรคเพิ่มขึ้น 

ทำงานที่ออฟฟิศ ก็มี "ออฟฟิศซินโดรม" ทำงานที่บ้านก็มีโรคตามมาแบบไม่รู้ตัวได้เช่นกัน เช่น นอนดึกเกินไป กินข้าวไม่ตรงเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน เหงา รู้สึกโดดเดี่ยวจนเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ปวดเมื่อย หรือมีอาการที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้

ไม่ว่าคุณจะประสบปัญหานี้แล้วหรือยัง สิ่งที่ต้องจัดการให้ดีนอกจากการจัดเวลาในการทำงานที่ต้องชัดเจนแล้ว คือการจัดเวลาอาหาร เวลายืดเส้นยืดสาย ระหว่างทำงานจากที่บ้านควบคู่กันไปอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาสุขภาพของคุณให้ดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วง "โรคระบาด" เช่นนี้

 

ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/933185

Visitors: 1,429,848