ซาลาเปา - คิดค้นโดยขงเบ้ง

ซาลาเปา - คิดค้นโดยขงเบ้ง
 
จะเชื่อหรือไม่ครับว่า “ซาลาเปา” ที่เวลาเราไปซื้อของที่ 7-Eleven พนักงานจะถามเราว่า “รับซาลาเปาด้วยไหมคะ?” มาจากฝีมือการประดิษฐ์คิดค้นของนักวางยุทธศาสตร์การสงครามแห่งวรรณคดี “สามก๊ก”นั่นก็คือ “ขงเบ้ง”
 
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.bestrecipes.com.au
 
อันว่า “ซาลาเปา” นั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไร? ว่ากันว่าเมื่อคราวที่ขงเบ้งยกพลไปปราบเบ้งเฮ็กนั้น ครั้นเมื่อการทำศึกเสร็จสิ้นลงและเบ้งเฮ็กยอมศิโรราบแต่โดยดีแล้ว ขงเบ้งก็ยกทัพกลับแต่เมื่อถึงแม่น้ำลกซุยก็เกิดอาเพศ ในหนังสือ “สามก๊ก” ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) บันทึกไว้ว่า “เกิดลมพายุพัดก้อนศิลากระเดนลงมาจากยอดเขา ในแม่น้ำนั้นมืดเปนหมอกจะข้ามไปนั้นขัดสน”
 
ขงเบ้งจึงสอบถามเบ้งเฮ็กดู เบ้งเฮ็กก็ตอบว่า “อันแม่น้ำนี้มีปีศาจสำแดงฤทธิ์ แต่ก่อนมาก็เคยเป็นอยู่ ขอให้ท่านเอาศีรษะคนสี่สิบเก้าศีรษะกับม้าเผือกกระบือดำมาเซ่นบวงสรวงจึงจะหาย ขงเบ้งจึงว่าเราทำศึกกับท่านจนสำเร็จการ แผ่นดินราบคาบถึงเพียงนี้ คนแก่คนหนึ่งก็มิตายเพราะมือเรา บัดนี้กลับมาถึงแม่น้ำลกซุยจะเข้าแดนเมืองอยู่แล้ว จะมาฆ่าคนเสียนั้นไม่ชอบ ขงเบ้งจึงออกไปยืนพิเคราะห์ดูริมฝั่งเห็นพายุยังพัดอยู่ จะคิดข้ามไปนั้นเห็นขัดสน จึงหาชาวบ้านมาสืบถาม ชาวบ้านจึงบอกว่า แต่มหาอุปราชยกข้ามแม่น้ำนี้ไปแล้ว ก็เกิดเหตุฉะนี้ทุกวันมิได้ขาด แต่เวลาพลบคํ่าไปจนสว่างได้ยินเสียงปีศาจร้องอื้ออึงไป เห็นรูปปลิวขึ้นไปตามควันหมอกเป็นอันมาก มิได้มีผู้ใดจะอาจข้ามไปมาได้”
 
ขงเบ้งได้ฟังดังนั้นจึงคิดได้ว่า ซึ่งเกิดเหตุทั้งนี้ต้องโทษตัวเราเอง การมาทำศึกครั้งนี้ทำให้ทหารของตนและของเบ้งเฮ็กต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ปีศาจทั้งปวงจึงผูกเวร ขงเบ้งจึงให้ทำพิธีบวงสรวงขอขมา
 
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.samkok911.com
 
“ขงเบ้งก็สั่งทหารให้ฆ่าม้าเผือกกระบือดำ แล้วเอาแป้งมาปั้นเป็นศีรษะคนสี่สิบเก้าศีรษะ ครั้นเวลากลางคืนก็ยกออกไปตั้งไว้ริมน้ำ ขงเบ้งจึงแต่งตัวออกไปจุดธูปเทียนแลประทีปสี่สิบเก้า แล้วแต่งหนังสือบวงสรวงให้เตียวกอดอ่านเป็นใจความว่า บัดนี้พระเจ้าเล่าเสี้ยนครองราชย์สมบัติได้สามปี (พ.ศ. ๗๖๘) มีรับสั่งให้เราผู้เป็นอุปราชให้ยกทหารมาปราบปรามข้าศึกต่างประเทศ เราก็ตั้งใจสนองพระคุณมิได้คิดความลำบาก จนสำเร็จราชการได้ชัยชนะข้าศึกแล้ว แลทหารทั้งปวงซึ่งมีความสัตย์ตั้งใจมากับเราหวังจะทำนุบำรุงพระเจ้าเล่าเสี้ยน ยังไม่ทันสำเร็จท่านตายเสียก็มีบ้าง ท่านทั้งปวงจงกลับไปเมืองกับเราเถิด ลูกหลานจะได้เซ่นคำนับตามธรรมเนียม เราจะกราบทูลพระเจ้าเล่าเสี้ยน ให้พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่สมัครพรรคพวกพี่น้องท่านให้ถึงขนาด ฝ่ายทหารเบ้งเฮ็กซึ่งตายอยู่ในที่นี้ก็ดี ให้เร่งหาความชอบอย่ามาวนเวียนทำให้เราลำบากเลย จงคิดถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยนซึ่งครองราชย์สมบัติเป็นธรรมประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน แลเห็นแก่เราผู้มีความสัตย์ จงรับเครื่องเซ่นเราแล้วกลับไปอยู่ถิ่นฐานเถิด ครั้นอ่านหนังสือสำเร็จแล้ว ขงเบ้งก็ได้จุดประทัดตีม้าฬ่อ แล้วร้องไห้รักทหารซึ่งตายนั้นเป็นอันมาก”
 
ผลของการบวงสรวงขอขมาทำให้พายุแลคลื่นละลอกซึ่งเกิดนั้นก็สงบเป็นปรกติ ขงเบ้งเห็นดังนั้นก็มีความยินดี ให้ทหารเอาเครื่องเซ่นทั้งปวงลอยไปตามนํ้า ครั้นเวลาเช้าขงเบ้งก็ให้ตีม้าฬ่อแล้วยกทหารข้ามฟากกลับไปเมืองเสฉวน
 
ใน “ตำนานหม่านโถว (หมั่นโถว) และซาลาเปา” เขียนโดยคุณ beeman 吴联乐 ได้บอกเอาไว้ว่า
“สมัยนั้นชนพื้นเมืองทางใต้ของอาณาจักรเสฉวน เรียกพวกของตนเองว่า พวก "หนานหมาน หรือหนันหมัน (南蛮)" แป้งปั้นแทนศีรษะคนแล้วนำไปนึ่ง ถูกเรียกว่า "หม่านโถว (蛮头) " แปลว่า "หัวของชาวหนานหมาน" และเนื่องจากคำเรียกในภาษาจีนดั้งเดิมฟังดูโหดร้ายเกินไป ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรที่บ่งชี้ว่าเป็นอาหาร (馒) แทนตัวอักษรที่หมายถึงพวกหนานหมัน (蛮)
 
อย่างเช่นในอดีต คำว่า "หม่านโถว" นานเข้าก็แผลงเป็น "หมั่นโถว" และทำตกทอดกันมาจนแพร่หลายไปทั่ว โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ได้กลายมาเป็นอาหารที่ชาวจีนเหนือนิยมรับประทานกันเป็นอาหารเช้าหรืออาหารว่าง ( คนจีนทางภาคเหนือนิยมเรียก ‘เปาจึ’ -包子 หรือซาลาเปา )”
 
หมั่นโถวจึงเป็นที่มาของซาลาเปา เมื่อเริ่มแรกก็เป็นแค่ขนมแป้งนึ่งไม่มีไส้ใช้กินกับอาหารเหมือนขนมปังของฝรั่ง อย่างเช่น ขาหมูกับ
หมั่นโถวที่เรารู้จักกันดี ต่อมาก็เกิดวิวัฒนาการนำเอาเนื้อสัตว์มาทำไส้ต่าง ๆ กลายเป็นอาหารสำเร็จรูปแบบเดียวกับแซนด์วิช
 
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.posttoday.com
 
ซาลาเปานั้นมีไส้หลากหลายนับตั้งแต่ไส้เบสิคอย่างหมูสับ หมูแดง ไส้ผัก ไส้ครีม ไปจนถึงที่พิสดารขึ้นเช่น ไส้ไข่เค็มลาวาที่ไหลเยิ้ม ไปจนถึงไส้ทุเรียน ตามแต่ผู้ประดิษฐ์คิดค้นจะเอามายัดไส้
 
ถ้าพูดถึงต้นตำรับคือประเทศจีนแล้ว ซาลาเปาไส้ไก่น่าจะเป็นรุ่นแรก ๆ ของซาลาเปาที่ยัดไส้เนื้อสัตว์ ต่อมาก็มีพัฒนาการที่พิถีพิถันขึ้นเช่นซาลาเปาไส้หมูแดง ถ้าเราไปฮ่องกง ซึ่งเป็นถิ่นของคนกวางตุ้งก็จะพบเห็นซาลาเปาไส้หมูแดงหรือ 叉烧包 กันอยู่ทั่วไป เมื่อคนกวางตุ้งอพยพไปอยู่ที่ไหนก็จะเอาซาลาเปาไส้หมูแดงไปเผยแพร่เช่น ตามร้านอาหารจีนในไชน่าทาวน์ของประเทศฝรั่งต่าง ๆ
 
ที่เมืองเซี่ยงไฮ้จะมีซาลาเปาลูกเล็กที่ไส้ข้างในมีน้ำซุปอยู่ด้วยหรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “เสี่ยวหลงเปา” หรือ 小笼包 เวลาจะทำเสี่ยวหลงเปา เขาจะเอาน้ำซุปไปแช่เย็น น้ำซุปเป็นน้ำต้มกระดูกจะมีเจลาตินอยู่แล้วเมื่อถูกทำให้เย็น ก็จะจับตัวกันเป็นก้อน เอามาหั่นและยัดไส้พร้อมเนื้อหมูเข้าไปในแป้งซาลาเปา ทำการพับได้จับจีบแล้วนำไปนึ่ง ก็จะได้เสี่ยวหลงเปาที่เวลาทานจะมีน้ำซุปอยู่ด้วย
 
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.insider.com
 
มีคนแนะนำวิธีรับประทานเสี่ยวหลงเปาอยู่หลายวิธีเช่น เอาตะเกียบคีบเสี่ยวหลงเปาจิ้มในน้ำจิ้มซีอิ๊วขาวพร้อมขิงฝอย แล้วเอามาวางบนช้อน(แบบช้อนก๋วยเตี๋ยว) เอาตะเกียบเจาะรูบนเสี่ยวหลงเปาให้น้ำซุปไหลออกมาบนช้อนแล้วจึงเอาเข้าปาก อีกวิธีหนึ่ง ก็ให้เอาน้ำจิ้มใส่ลงในช้อน แล้วคีบเสี่ยวหลงเปามาวาง แต่ยังไม่ให้กิน ทิ้งไว้ให้เย็นลงเล็กน้อย แล้วจึงค่อยเอาเสี่ยวหลงเปาทั้งลูกเข้าปากโดยไม่ต้องเจาะรู 
 
พอข้ามมาเกาะไต้หวัน ซาลาเปาที่นั่นจะไม่ได้เป็นลูกกลม แต่จะเป็นแผ่นแป้งเอามาพับครึ่งยัดไส้เหมือนแซนด์วิช เช่น ไส้เนื้อ ไส้ปู หรือมันหวาน แต่ที่เป็นที่นิยมก็เห็นจะเป็นไส้หมูสามชั้น ซึ่งฟังแล้วก็คงไม่น่าแปลกใจอะไรใช่ไหมครับ 555
 
ขอบคุณภาพประกอบจาก asianinspirations.com.au
 
ไส้ซาลาเปายังมีที่ดัดแปลงให้เป็นของท้องถิ่นเช่น ในประเทศมาเลเซียก็จะมีซาลาเปาไส้แกงไก่หรือแกงเนื้อ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะความจริง คำว่า “เปา” หรือ 包 นั้นแปลว่า “ห่อ” หรือ wrap นั่นเอง เพราะฉะนั้น จะเอาอะไรมาห่อก็ย่อมได้ 
 
ที่มา : Gourmet Story
Visitors: 1,405,369