“โรคนอนเกิน” ทำเป็นเล่นไป มีอยู่จริงนะ!

โรคนอนเกิน” ทำเป็นเล่นไป มีอยู่จริงนะ!

“เช้าแล้วยังอยู่บนที่นอน เงียบๆ คนเดียวและไม่อยากตื่นขึ้นพบใคร เพราะหัวใจก็ยังเสียดายที่ฝันดีๆ กำลังจะจบและหายไป…”

พอจั่วหัวข้อมาเฮียนี่นึกถึงเพลงนี้ของพี่บอยแกเลยล่ะครับ “เรื่องบนเตียง” จังหวะเคลิ้มๆ แบบนี้เป็นใครก็คงไม่อยากตื่น เรื่องธรรมดาปกติสุดๆ แต่ไอ้ที่ไม่ปกตินี่มันก็เหมือนกันนะ ประเภทนอนไปแล้วเกินแปดชั่วโมงสิบชั่วโมงก็ยังรู้สึกว่านอนไม่พอ!! หื้มมมม!!!

โรคที่เราจะเอ่ยถึงเนี่ย อาการใกล้เคียงกับคนขี้เกียจเป็นอย่างมาก เพราะกว่าจะลุกจากที่นอนได้ ไม่อยากตื่นนอนไปทำงาน กว่าจะขุดร่างตัวเองขึ้นมาได้ ลุกแล้วล้มไปแปดตลบ พอไปถึงที่ทำงานประชุมก็แอบหลับ ตอนบ่ายก็แอบงีบ จนบางทีอาจจะรู้สึกรำคาญตัวเองว่าจะง่วงอะไรนักหนา นอนไม่อิ่มเสียที เป็นอย่างนี้ทุกวัน จากแค่สัปหงกเวลาประชุม อาจจะแย่ขนาดหลับได้ทุกที่ทุกเวลา

ต้นเหตุที่ทำให้ “นอนไม่พอ” ซะที

                  lazy sleep (2)

  • อดนอนมาเป็นเวลานาน และบ่อย ๆ จนร่างกายพักผ่อนไม่พอ ทำให้นอนเท่าไรก็ไม่รู้จักพอสักที
  • นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น เดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากันมาก ๆ
  • ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองไม่ปกติ ทำให้ร่างกานนอนมากผิดปกติ
  • นอนกรน มีภาวการณ์หยุดหายใจในช่วงหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ
  • เนื้องอกในสมอง และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้อยากนอนตลอดเวลา

โรคนอนเกินมีด้วยเหรอ?

โรคนอนเกิน (Hypersomnia) เป็นอาการตรงข้ามสุดขั้วกับ โรคนอนไม่หลับ หรืออันซอมเนีย ที่ทำเราตาค้างจนโทรมเป็นซอมบี้ แต่นอนเกิน คือหมายถึงว่า ความรู้สึกที่อยากนอนอยู่ตลอดเวลา ง่วงนอนมากเกินปกติ ถึงจะนอนแล้วก็ยังไม่พอ นอนกลางวันได้วันละหลายรอบ และพอตื่นมาแล้วก็ยังง่วงอยู่ ไม่สดชื่น สมองตื้อ คิดอะไรไม่ออก ชีวิตเนือยเฉื่อยชา หดหู่ ทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ เป็นหนักขึ้นจะหลับได้ทุกขณะ หลับได้แม้แต่ตอนกินข้าว ถ้าถึงขั้นนั้น พบหมอด่วนเลยจ้า!

5 วิธีจัดการอาการหิวนอนตลอดเวลา

                   lazy sleep (1)

  1. ตั้งเวลาเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะตามปกติร่างกายของคนเราจะนอนหลับเป็นรอบ ถ้าเริ่มตั้งแต่เคลิ้ม ๆ สะลึมสะลือจนถึงขั้นหลับลึก จะกินเวลารอบละ 90 นาที คืนละ 5-6 รอบ ยิ่งนอนหัวค่ำก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะนอนได้หลับลึกมากยิ่งขึ้น
  2. กำหนดตารางเข้านอน และตื่นนอนเวลาเดียวกันทุก ๆ วัน ติดต่อกัน 28 วัน ร่างกายจะสร้างระบบนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองขึ้นมาใหม่ จะตื่นได้เองอย่างสดชื่นโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก
  3. จัดห้องนอนให้โปร่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา
  4. ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น และยังทำให้ร่างกายแอ็คทีฟด้วย
  5. งดอาหารจังค์ฟู้ด น้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ ร่างกายคุมไม่ได้ ทำให้ง่วง เนือย ตอนที่ระดับน้ำตาลตก

 อ้างอิงจาก : https://www.healthandtrend.com/

Visitors: 1,409,251