ผู้ใหญ่ (ชาวไทย) จ๋าอย่าเข้าใจผิด : ผลวิจัยบอกออกกำลังกายช่วยเพิ่มพลังทางเพศ

ผู้ใหญ่ (ชาวไทย) จ๋าอย่าเข้าใจผิด : ผลวิจัยบอกออกกำลังกายช่วยเพิ่มพลังทางเพศ
 
แม้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในประเทศไทยเคยเสนอแนะว่า การเล่นกีฬาสามารถช่วยลดความหมกมุ่นทางเพศได้ แต่หากดูจากความเป็นจริง
เรามักจะได้ยินข่าวฉาวเกี่ยวกับนักกีฬาในเรื่องเพศอยู่เป็นระยะๆ เสมอ
 
ไม่ว่าจะในวงการฟุตบอลอย่าง จอร์จ เบสต์ อดีตนักฟุตบอลดีกรีรางวัลบัลลงดอร์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ยอมรับว่าเคยมีสัมพันธ์สวาทกับสาวๆ มานับไม่ถ้วน,
ไรอัน กิ๊กส์ ตำนานปีกพ่อมดของทีมปีศาจแดง ที่ตีท้ายครัวคนในบ้านเดียวกันด้วยการมีสัมพันธ์กับแฟนสาวของน้องชายตัวเอง จนความสัมพันธ์ในครอบครัวร้าวฉาน
ไม่อาจคืนดี ตลอดจน จอห์น เทอร์รี่ ซึ่งตีท้ายครัวเพื่อนร่วมทีมด้วยการมีสัมพันธ์กับแฟนสาวของ เวย์น บริดจ์ จนเราได้เห็นภาพที่ทั้งคู่ไม่จับมือกันในสนามมาแล้ว
 
ส่วนวงการกีฬาอื่นๆ ก็ไม่น้อยหน้า มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ให้ได้เห็นกันบ่อยๆ อย่างเช่น ไมค์ ไทสัน ตำนานนักชกหมัดหนักรุ่นเฮฟวี่เวท ที่สารภาพในอัตชีวประวัติตัวเองว่า อาการติดเซ็กส์ขนาดหนัก คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาผลาญทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากการขึ้นชกจนหมด รวมถึง ไทเกอร์ วู้ดส์ ที่ยอมรับว่าติดเซ็กส์ จนทำให้ชีวิตคู่พังพินาศมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และต้องเข้ารับการบำบัดในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติญี่ปุ่น 4 คน ถูกส่งตัวกลับบ้านระหว่างการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศอินโดนีเซีย หลังมีคนเห็นว่าทั้งหมดซื้อบริการทางเพศ ทั้งๆ ที่ยังสวมเสื้อของทีมชาติอยู่
 
และนั่นเองที่นำมาสู่คำถามที่ว่า การเล่นกีฬาช่วยให้ไม่เกิดความหมกมุ่นทางเพศ หรือยิ่งเพิ่มแรงขับทางเพศให้สูงขึ้นกันแน่?
ผลวิจัยเป็นอย่างไร?
 
ดร. ปีเตอร์ ไบโร นักวิชาการชาวออสเตรเลียได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับอัตราการเผาผลาญในแมลง, นก และสัตว์
โดยให้น้ำหนักกับพฤติกรรมระหว่าง "นักกีฬา" กับ "เนิร์ด" เป็นหลัก โดยพบว่า กลุ่มสัตว์ที่อัตราการเผาผลาญสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการออกกำลังกายมากกว่า
มีพฤติกรรมที่ชอบแสดงออกมากกว่า ซึ่งรวมถึงแรงขับทางเพศด้วย
 
 
"บางส่วนของพวกเรานั้นเป็นพวกอยู่นิ่งๆ ขณะที่บางคนก็เสพติดกีฬาและการออกกำลังกาย" ดร. ไบโร กล่าว
"ซึ่งเราพบความเชื่อมโยงกันว่า กลุ่มนักกีฬาจะพฤติกรรมที่ดุดันและชอบการเข้าสังคม ขณะที่กลุ่มเนิร์ดนั้นจะมีพฤติกรรมที่ชวนอึดอัด
และยอมสยบต่อสังคมมากกว่า"
 
"อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมต่างๆ นั้นก็มีส่วนเกี่ยวพันกับความสามารถในการสร้างพลังงานของแต่ละคน หรือที่เรียกว่า 'ความสามารถในการเผาผลาญ' เช่นกัน"
"เรื่องนี้เราได้ทำการศึกษากับจิ้งหรีดตัวผู้ พบว่าตัวที่มีความต้องการทางเพศสูง มักจะชอบส่งเสียงเรียกร้องหาเพื่อน รวมถึงมีอัตราการเผาผลาญ
ที่สูงกว่าตัวที่มีความต้องการทางเพศต่ำ"
 
ด้าน คริส โจนส์ หัวหน้าแผนกสรีรวิยาของ นัฟฟิลด์ เฮลท์ หน่วยงานด้านสุขภาพไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า
แม้ส่วนตัวจะยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนระหว่างการออกกำลังกายและแรงขับทางเพศ แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันระหว่างการออกกำลังกาย
อย่างสม่ำเสมอ กับระดับฮอร์โมน เทสโทสเตอร์โรน และ อะดรีนาลิน
 
"มีหลักฐานครับว่าปริมาณเทสโทสเตอร์โรนและอะดรีนาลินที่เพิ่มขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิงช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศได้"
"ซึ่งเรื่องที่น่าสนใจมากเลยก็คือ การออกกำลังกาย ดูจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มระดับฮอร์โมนข้างต้นมากเลยทีเดียว"
 
สอดคล้องกับ ซาปาน เซห์กัล ครูสอนฟิตเนสที่ ลอนดอน ฟิลด์ส ฟิตเนส สตูดิโอส์ ซึ่งยอมรับว่า มีความเชื่อมโยงกันระหว่าง
การออกกำลังกายและแรงขับทางเพศ
"การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทำให้คุณมีความฟิตที่มากขึ้น, สุขภาพดีขึ้น รวมถึงมีความมั่นใจที่จะเข้าหาเพศตรงข้ามยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับปริมาณฮอร์โมนที่สูงขึ้นด้วย" หลักฐานจากการวิจัยเหล่านี้จึงทำให้สรุปได้ว่า แท้จริงแล้ว การออกกำลังกายกลับมีส่วนช่วย
เพิ่มแรงขับทางเพศให้สูงขึ้น ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
 
หลักฐานจากศึกใหญ่
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหลักฐานเชิงสถิติตัวเลขอีกอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องที่ว่า นักกีฬาคือกลุ่มคนที่มีแรงขับทางเพศสูงทะลุเพดาน
นั่นคือสถิติการแจกถุงยางอนามัย อุปกรณ์ที่ใช้คุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ในหมู่บ้าน
นักกีฬาของกีฬาโอลิมปิก มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ
 
 
การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ คือโอลิมปิกครั้งแรกที่มีการรายงานสถิติการแจกถุงยางอนามัยอย่าง
เป็นทางการ โดยแจกไป 8,500 ชิ้น ซึ่งหลังจากนั้นแม้สถิติตัวเลขจะมีความผันผวนอยู่บ้าง อย่างเช่นในโอลิมปิก 1996 ที่เมืองแอตแลนต้า
ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการแจกถุงยางเพียง 15,000 ชิ้น ลดลงจากเมื่อปี 1992 ที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ซึ่งแจกไป 90,000 ชิ้น
เกินเท่าตัว เพราะครั้งนั้นนักกีฬาต้องไปติดต่อที่หน่วยแพทย์ประจำการแข่งขันเพื่อขอรับถุงยางเอง ไม่ได้มีอาสาสมัครคอยแจกให้เป็นระยะๆ
เหมือนครั้งอื่นๆ แต่โดยรวมก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
 
และครั้งที่สร้างปรากฎการณ์มากที่สุด คงหนีไม่พ้นโอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งมีการแจกถุงยาง
มากที่สุดถึง 450,000 ชิ้น โดยตัวเลขดังกล่าวยังได้รวมถึงถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง 100,000 ชิ้นด้วย เฉลี่ยแล้วนักกีฬา
ที่เข้าร่วมโอลิมปิกที่ริโอ 1 คน จะได้รับถุงยางมากถึงคนละ 42 ชิ้น เฉลี่ยวันละ 2 ชิ้นครึ่ง
 
 
สถิติดังกล่าวยังส่งผลถึงกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวด้วยเช่นกัน เพราะในการแข่งครั้งล่าสุดที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อช่วงต้น
ปี 2018 ก็มีการแจกถุงยางมากถึง 110,000 ชิ้น ซึ่งมากกว่าการแข่งขันที่นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาเมื่อปี 2010 รวมถึงเมืองโซชิ
ประเทศรัสเซียเมื่อปี 2014 ซึ่งมีการแจกไปครั้งละ 100,000 ชิ้น ถึง 10,000 ชิ้น และนั่นคือสถิติมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโอลิมปิกฤดูหนาว
ด้วย
 
ไม่เพียงแต่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น การแข่งขันกีฬาอื่นๆ ที่มีการแจกถุงยางอนามัยในหมู่บ้านนักกีฬา ก็มีตัวเลขสถิติที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
โดยในกีฬาเครือจักรภพอังกฤษ หรือ คอมมอนเวลธ์ เกมส์ ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงเดือนเมษายนปี 2018 ที่เมืองโกลด์ โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย
มีการแจกถุงยางให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 6,000 ชีวิตถึง 225,000 ชิ้น เท่ากับว่าแต่ละคนจะได้ถุงยางคนละ 37 ชิ้นตลอดการแข่งขัน
หรือ 3 ชิ้นต่อวัน พูดง่ายๆ ก็คือ วันหนึ่งพวกเขาจะได้ถุงยางไว้ใช้วันละ 1 กล่องเล็กเลยทีเดียว
 
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิก จะบังเกิดเป็นปาร์ตี้เซ็กส์ขนาดใหญ่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่ง ดร. จูดี้ คูเรียนสกี้ นักจิตวิทยา
ให้มุมมองว่า ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิ่งที่ช่วยสนับสนุน เพราะปัจจัยต่างๆ ล้วนเอื้อต่อการปลดปล่อยแรงขับทางเพศอยู่แล้ว
 
"ในการแข่งขันรายการใหญ่ๆ นักกีฬาต่างมีความเครียด, ความกังวล และพลังงานที่ล้นเหลือ ทั้งหมดนำมาซึ่งการหลั่งสารเคมีในร่างกาย
อย่าง อะดรีนาลีน และ เอ็นโดรฟีน จำนวนมหาศาล ถือเป็นการผสมผสานที่ทรงประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก"
 
เรื่องราวอีกด้าน
ถึงแม้การออกกำลังกายกับแรงขับทางเพศจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันในลักษณะที่ว่ามา ทว่าทุกสิ่งก็มีขีดจำกัด ซึ่งเรื่องนี้ก็มิใช่ข้อยกเว้น
แต่อย่างใด
 
โดยมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่า ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ชายที่ออกกำลังกายกว่า 1,100 คน ถึงรูปแบบ, ความหนัก, ระยะเวลา และ
ความถี่ในการฝึกซ้อม เช่นเดียวกับแรงขับทางเพศ และสุขภาพทั่วไป
 
ซึ่งเมื่อควบคุมตัวแปรด้านอายุแล้วพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ฝึกซ้อมด้วยความหนักน้อยถึงปานกลาง จะมีแรงขับทางเพศในระดับปกติหรือสูง
กว่ากลุ่มตัวอย่างที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ขณะเดียวกัน นักกีฬาที่ฝึกซ้อมด้วยระยะเวลาสั้นหรือปานกลาง จะมีแรงขับทางเพศที่สูงกว่า
กลุ่มที่ออกกำลังกายด้วยระยะเวลานาน
 
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาคงพอสรุปได้ว่า แม้การออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพดีขึ้น ซึ่งส่งผลถึงแรงขับทางเพศด้วยก็ตาม แต่การหักโหม
เกินไปก็อาจส่งผลเสียได้ในทุกมิติ ดังนั้น เราควรรู้ลิมิต รู้ขีดจำกัดของตัวเองเสมอว่าควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ เพื่อให้สุขภาพดีขึ้นอย่างแท้จริง
 
 
 
บทความโดย เจษฎา บุญประสม
แหล่งอ้างอิง
Visitors: 1,212,818