รู้จัก เรมเดซิเวียร์ ยารักษาโควิดที่สหรัฐฯ เหมาเกลี้ยงเสี่ยงขาดตลาด

รู้จัก “เรมเดซิเวียร์” ยารักษาโควิดที่สหรัฐฯ เหมาเกลี้ยงเสี่ยงขาดตลาด

นานาชาติกำลังกังวลถึงการขาดแคลนยารักษาโรคโควิด-19 พร้อมมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเห็นแก่ตัวที่ทุ่มเงินซื้อยา “เรมเดซิเวียร์” ไปกักตุน

รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังตกเป็นเป้าถูกวิจารณ์ หลังออกมาประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทุ่มเงินซื้อยาเรมเดซิเวียร์จำนวน 500,000 โดสจากบริษัทกิเลียด (Gilead) ผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกัน เพื่อไปกักตุนเป็นยาสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ เท่านั้น

 

สำหรับยาเรมเดซิเวียร์นั้น เดิมมีสรรพคุณรักษาโรคอีโบลา แต่จากการทดลองนำยาดังกล่าวมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า ยาชนิดนี้ให้ผลดี ผู้ป่วยหลายคนอาการดีขึ้นในเวลาอันสั้น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ยาเรมเดซิเวียร์สามารถลดระยะเวลาการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จาก 15 วันเหลือ 11 วัน แต่ยังไม่มีสถิติชัดเจนว่า เรมเดซิเวียร์มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน

ราคายาเรมเดซิเวียร์ในสหรัฐฯ 1 ขวดอยู่ที่ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 12,000 บาท ในการรักษา 1 ครั้งต้องใช้ 6 ขวด

การออกฤทธิ์ที่ได้ผล ทำให้ยาเรมเดซิเวียร์ได้รับการรับรองจากหลายประเทศให้สามารถรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ หนึ่งในนั้นคือรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ใช้ยาชนิดนี้ในกรณีฉุกเฉินตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันมียาอยู่ไม่กี่ชนิดที่ผลการศึกษาชี้ว่า ให้ผลดีต่อการรักษาโรคโควิด-19 โดยนอกจากเรมเดซิเวียร์แล้ว ยังมีสเตียรอยด์ที่มีงานวิจัยเบื้องต้นในอังกฤษค้นพบว่า ให้ผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดี โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

ทำไม “เรมเดซิเวียร์” ถึงส่อขาดตลาด?

ปัจจุบันยาเรมเดซิเวียร์ถูกผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งแม้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทกิเลียด เจ้าของยาเรมเดซิเวียร์ได้ลงนามกับบริษัท 9 แห่งเพื่อขยายกำลังผลิตยาเรมเดซิเวียร์ออกนอกแผ่นดินอเมริกา โดยมีรายงานว่าจะไปตั้งฐานการผลิตในอียิปต์ อินเดียและปากีสถาน หวังเป็นฐานการผลิตและกระจายยาดังกล่าวไปยัง 127 ประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเบื้องต้นเท่านั้น จึงยังไม่สามารถขยายกำลังการผลิตยาจากโรงงานนอกสหรัฐฯ ได้

บริษัทกิเลียด ผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์

สหรัฐฯ กักตุน “เรมเดซิเวียร์” จะส่งผลอย่างไร?

ขณะที่หลายประเทศ เช่น เยอรมนีและอังกฤษ ยืนยันว่า มียาเรมเดซิเวียร์อยู่ในคลังมากพอในการรักษาโรคโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยในประเทศ แต่ริชาร์ด แวร์รี จากสำนักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ว่า การที่สหรัฐฯ สั่งซื้อยาเรมเดซิเวียร์ปริมาณมหาศาลไปกักตุนในครั้งนี้ จะส่งผลให้มีหลายประเทศขาดแคลนยาเรมเดซิเวียร์ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน

นอกจากนี้ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยแล้ว ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮอร์บี้ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ยังชี้ด้วยว่า การกักตุนเรมเดซิเวียร์ของสหรัฐฯ จะส่งผลทางอ้อมต่อการทดลองประสิทธิภาพยาเรมเดซิเวียร์ ที่ปัจจุบันมีหลายชาติร่วมกระบวนการทดลอง ทั้งชาติในยุโรป เม็กซิโกและประเทศอื่นๆ

นานาชาติจะทำอย่างไรถ้า “เรมเดซิเวียร์” ขาดตลาด?

อันดับแรก นานาชาติไม่มีสิทธิ์ห้ามรัฐบาลสหรัฐฯ กักตุนยาเรมเดซิเวียร์ เนื่องจากยาดังกล่าวผลิตในสหรัฐฯ และสหรัฐฯ มีข้อกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลสามารถระงับการส่งออกยาได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ซึ่งแม้จะถูกสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสัมพันธ์ไปแล้วออกมาระบุว่า กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงและจะทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อสร้างหลักประกันว่า คนทั้งโลกจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้

สำหรับในกรณีฉุกเฉินจริงๆ ก็ยังมีทางออกอยู่บ้าง ผ่านมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (CL) ซึ่งเปิดทางให้หน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรสามารถใช้สิทธิในการผลิต การใช้และการนำเข้า เพื่อประโยชน์สาธารณะได้

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในโลก และมีการประเมินว่าจะมีผู้ป่วยมากขึ้นในช่วง 14 วันนับจากนี้

ทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องกักตุน “เรมเดซิเวียร์”?

สาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมทุ่มเงินกว้านซื้อยาเรมเดซิเวียร์ อาจเป็นเพราะในตอนนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ กำลังรุนแรง

โดยตัวเลขล่าสุด (2 ก.ค.) สหรัฐฯ มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 2,797,737 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 50,000 รายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 130,987 คน ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลก และกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกมากในช่วง 14 วันนับจากนี้

 

ที่มา : Thairath Online

Visitors: 1,213,186