อิจฉามั้ย คนอะไร นอนน้อย แต่นอนดี แถมทำงานกระฉับกระเฉง
อิจฉามั้ย? คนอะไร นอนน้อย แต่นอนดี แถมทำงานกระฉับกระเฉง เป็นที่พิศวงงงงวยกันมานาน ทำไมบางคนนอนคืนละ 3 ถึง 4 ชั่วโมง ยังกระปรี้กระเปร่าทำงานได้เริงร่า ในขณะที่คนทั่วไปทนทุกข์ทรมานกับภาวะ “อยากนอนนานๆ” ให้ได้ตั้งแต่ 7 จนถึง 8 ถึง 9 ชั่วโมง ตามหลักสุขภาพของการนอน แต่ก็ไม่สำเร็จ เข้านอนรอตั้งเป็นชั่วโมงยังไม่หลับ แถมหลับแล้วยังตื่นบ่อยหรือดูเหมือนหลับหลายชั่วโมงแต่กลางวันยังคงง่วงเหงาหาวนอน เหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรัง และนำมาสู่การที่ต้องวินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนหลับชนิดใด และเกี่ยวข้องกับการนอนกรนที่ทำให้อากาศเข้าปอดได้ไม่เต็มที่ และทำให้สมองหลับไม่จริง หลับไม่ลึกหรือไม่ โดยต้องทดสอบการนอนหลับ มีการวัดคลื่นสมอง คำนวณการหลับในระดับต่างๆ และดูพร้อมๆกับว่า มีการหายใจเข้าติดขัดหรือไม่ และแถมยังมีขากระดุกกระดิกขณะนอนทำให้นอนหลับไม่สนิท เหล่านี้ช่วยได้โดยการใส่หน้ากากอัดอากาศ ให้ร่างกายและสมองได้รับออกซิเจนได้เต็มอิ่ม แต่กระนั้นก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวยังมีปัจจัยต่างๆอีกจิปาถะ และทำให้ต้องนำไปสู่การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อทำให้หลับ แต่เมื่อใช้ไปนาน ขนาดปริมาณหนักขึ้น กลับหลับสั้นและตื่นเร็วและแน่นอนสุขภาพไม่ดี เสื่อมโทรมจากเหล้าเองด้วย และยังโน้มนำไปสู่การใช้ยาประเภทต่างๆช่วยให้หลับเร็วหรือหลับได้นาน แต่หลายขนานก็จะพ่วงด้วยผลข้างเคียงและเกิดการติด ต้องใช้ปริมาณยาเพิ่มขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องการนอนจำเป็นต้องดูองค์รวมของสถานะสุขภาพโรคประจำตัวอื่นๆทางหัวใจ ปอด ฮอร์โมน เป็นต้น กิจกรรม การใช้ชีวิต ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจและการใช้ยาอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องที่จะเรียนให้ทราบในบทนี้จะเป็นเรื่องคนที่น่าอิจฉา ที่เรียกว่า natural short sleeper คือไม่ต้องการหลับนอนนาน ก็กระฉับกระเฉงได้ตลอดแถมยังสุขภาพดี คณะทำงานจากมหาวิทยาลัย UC San Francisco ได้จับเรื่องนี้มานาน ทั้งนี้ ได้เริ่มต้นรายงานชิ้นแรกตั้งแต่ปี 2009 โดยพบว่าคนที่มีลำดับของพันธุกรรมเปลี่ยนผันในยีนที่ชื่อว่า DEC2 จะนอนเพียงแค่ 6.25 ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น ในขณะที่คนที่ไม่มีลักษณะดังกล่าวจะต้องการการนอนโดยเฉลี่ย 8.06 ชั่วโมง ถึงจะเพียงพอ และแล้วก็ปรากฏว่าคณะทำงานเดียวกันนี้ ต่อมาเกิดไปพบครอบครัวหนึ่งที่นอนนิดเดียวแต่ยังกระฉับกระเฉงและถ่ายทอดลักษณะนี้มาตลอดอยู่ถึงสามชั่วคน ทั้งหมดนี้ไม่มีลักษณะของยีนที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นจึงได้ทำการวิเคราะห์ลำดับของยีน จนกระทั่งพบรหัสผันแปรในโครโมโซมในยีนที่ชื่อว่า ADRB1 และเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่ายีนดังกล่าวนี้เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้นอนน้อยแต่นอนดีจริง จึงได้ทำการทดสอบในเซลล์และในสัตว์ทดลองคือหนูโดยได้ทำการปรับแต่งพันธุกรรมให้มียีนดังกล่าว การทดสอบในเซลล์ปรากฏว่าโปรตีนที่ถูกควบคุมด้วยยีนที่มีรหัสผันแปรนี้ beta 1 adrenergic receptor มีการสลายเร็วกว่าปกติ การทดสอบในหนูทดลองพบว่ายีนนี้จะมีการกระจายอยู่แน่นกว่าที่อื่น ในตำแหน่งด้านหลังของก้านสมองส่วนกลาง (dorsal pons) ซึ่งโดยปกติก็เป็นตำแหน่งของสมองที่ควบคุมการนอนหลับ และจากการใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า optogenetics โดย ที่เซลล์ที่มียีนเหล่านี้จะถูกกระตุ้นด้วยแสง ทันทีที่ถูกกระตุ้น หนูที่กำลังหลับจะตื่นขึ้นทันทีจากการหลับสนิท โดยที่ขณะนั้นอยู่ในช่วง non REM sleep คือช่วงที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของลูกตา ดังนั้นเซลล์ประสาทเหล่านี้ในก้านสมองส่วนกลางจะเป็นตัวควบคุมให้ตื่น และในหนูที่มีรหัสพันธุกรรมผันแปร เมื่อเซลล์ในตำแหน่งดังกล่าวถูกกระตุ้นจะตื่นไวและตื่นเร็วกว่า และสัดส่วนของเซลล์ในก้านสมองนี้ที่ “กระตุ้นให้ตื่น” และ “กระตุ้นให้หลับ” ถ้ามีการผันแปรของรหัสพันธุกรรมจะโน้มเอียงไปในทางด้านให้ตื่นมากกว่าอย่างชัดเจน ในหนูเหล่านี้แม้จะนอนสั้นก็ไม่มีผลในทางลบ หรือมีอันตรายต่อสุขภาพใดๆที่เกี่ยวโยงกับการนอนน้อย และเมื่อกลับมาวิเคราะห์ในมนุษย์พบว่าคนที่นอนน้อยนอนดีเหล่านี้ นอกจากที่จะมีคุณภาพดีเยี่ยมในสุขภาพและประสิทธิภาพของการนอน ยังเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มีชีวิตชีวาเปี่ยมด้วยพลังล้นและทำงานหลายๆอย่างได้พร้อมๆกันอย่างดี นอกจากนั้นยังมีความอึดทรหดเป็นพิเศษ ทนงาน ทนความเจ็บปวด และอาจจะเป็นไปได้ว่าจะมีชีวิตยืนยาวกว่าปกติ รายงานนี้อยู่ในวารสาร Neuron ฉบับเดือนสิงหาคม 2019 คำอวยพรที่ว่า “นอนหลับฝันดีนั้น” น่าจะถูกต้อง ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องฝันก็ได้แต่คำอวยพรดังกล่าว ในปัจจุบันน่าจะขยายไปได้ถึง แล้วจะทำให้สุขภาพดี มีสุขและอายุยืนด้วย สุดท้าย อวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพดีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคนนอนง่าย ยาก นอนดีหรือยังไม่ดีนักก็ตาม ขอให้เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันและเราจะมีชีวิตที่ดีครับ
ที่มา : Thairath Online |