วัคซีนโควิด-19 รุ่นแรกของโลก ที่จะทดสอบกับมนุษย์ระยะสุดท้าย
ทำไมจีนจึงไปทดลองวัคซีนที่บราซิล วัคซีนโควิด-19 รุ่นแรกของโลก ที่จะทดสอบกับมนุษย์ระยะสุดท้าย วัคซีนจีนจากกรุงปักกิ่งประกาศความสำเร็จในการทดสอบระยะที่ 2 และจะเร่งทดสอบในระยะที่ 3 แล้วเข้าสู่การใช้จริงต่อไป เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท Sinovac Biotech ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศผลการทดสอบวัคซีนเบื้องต้นระยะที่ 2 (Preliminary Study Results) ว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง กล่าวคือ วัคซีนในโครงการที่มีชื่อเรียกว่า CoronaVac สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานชนิดที่เรียกว่า Neutralizing Antibody ได้มากกว่า 90% ในอาสาสมัครจำนวนกว่า 600 คน และมีความปลอดภัยสูง ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีนเลย ภายหลังจากที่อาสาสมัครได้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 2 สัปดาห์ (Placebo-controlled Phase2) ซึ่งเป็นการทดสอบที่ต่อเนื่องจากการฉีดวัคซีนในอาสาสมัคร 143 คน ในเฟส 1 (Placebo-Controlled Phase1) วัคซีนสัญชาติจีนนี้ ใช้เทคนิคการผลิตแบบเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ซึ่งเราคุ้นเคยกับความปลอดภัยของวิธีนี้ เพราะใช้ผลิตวัคซีนมาแล้วหลายชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอและบี วัคซีนป้องกัน Swine flu , Avain flu และโรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-Mouth Syndrome) โดยทางบริษัทกำลังเร่งวางระบบและก่อสร้างส่วนต่างๆ ให้พร้อมต่อการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ก่อนที่จะประกาศความสำเร็จแล้วนำมาใช้ฉีดจริงต่อไป เนื่องจากการทดสอบในระยะที่ 3 นี้ จำเป็นต้องใช้อาสาสมัครนับหมื่นคน และที่สำคัญต้องมีกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเป็นโรคได้ เพราะเราต้องการทราบผลว่า ระหว่างอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันแล้ว กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจะเป็นโรคน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ถ้าไปทดลองในเมืองหรือประเทศที่โรคสงบแล้ว หรือควบคุมได้ดีจนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนน้อย จะทำให้อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มไม่เป็นโรคทั้งคู่ ก็จะสรุปไม่ได้ว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่ ทางบริษัท Sinovac จึงไปทำความร่วมมือกับประเทศที่มีพลเมืองมากและอยู่ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโรคอยู่ ประเทศที่จีนเลือกและได้รับการตอบรับร่วมมือก็คือ “บราซิล” วันนี้ (16 มิย 63) บราซิลมีผู้ติดเชื้อ 891,556 คน หายแล้ว 464,774 คน ยังรอรับการรักษาอยู่ 382,664 คน เสียชีวิตไปแล้ว 44,118 คน โดยมีการตรวจทดสอบหาผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 1.6 ล้านราย จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 เพื่อดูประสิทธิผล ดูว่าวัคซีนที่ผ่านการทดสอบว่าปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้แล้วนั้น จะป้องกันประชากรจากการติดเชื้อหรือติดโรคในสถานการณ์จริงได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าถ้าวัคซีนประสบความสำเร็จ คนจีนและบราซิลจะเป็น 2 ชาติแรกที่จะได้ใช้วัคซีนนี้ต่อไป หมายเหตุ (1) การทดลองระยะที่ 3 ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน (2) วัคซีนอีกตัวของสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท Moderna ก็มีความก้าวหน้าอยู่ในวัคซีนรุ่นแรกที่จะทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาเดียวกับวัคซีนของจีน แต่ใช้เทคนิคที่ต่างกันออกไปคือ mRNA ซึ่งยังไม่เคยใช้ผลิตวัคซีนมาก่อนเลย จึงต้องติดตามดูเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนชนิดนี้เมื่อมีการฉีดในประชากรจริงต่อไป |