มะเร็ง ศัตรูสุดท้าทายของวงการแพทย์
มะเร็ง ศัตรูสุดท้าทายของวงการแพทย์
มะเร็ง (cancer) เป็นโรคที่อยู่กับมนุษย์เรามานานมาก นักโบราณคดีพบบันทึกบนกระดาษปาปิรุสของอียิปต์ในช่วง 3000 ปีก่อนคริสตกาล บรรยายลักษณะเนื้องอกขนาดใหญ่บนเต้านมที่ไม่มีวิธีรักษา ในปี ค.ศ. 2008 มะเร็งเป็นเหตุให้คนเสียชีวิตกว่า 7.6 ล้านคน คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตในปีนั้น! มะเร็งเป็นที่น่ากลัวเพราะมันสามารถเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคน เซลล์ร่างกายเกือบทุกเซลล์สามารถกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติไป เช่น เซลล์ที่สังเคราะห์ฮอร์โมน เมื่อกลายเป็นเซลล์มะเร็งมีการปล่อยสเตียรอยด์จำนวนมากออกมา เซลล์บางเซลล์อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ หรืออาจไปเพิ่มแคลเซียมในเลือด ซึ่งเป็นผลเสียต่อหัวใจกับระบบประสาท และเมื่อเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวอย่างไร้การควบคุมก็จะไปกดทับรบกวนการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วย มะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อนมากเพราะมันไม่ใช่อาการป่วยแบบเดียว แต่เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกการป่วยหลายแบบ สาเหตุของมะเร็งก็ไม่ได้มีแค่อย่างเดียว แต่มาจากทั้งพันธุกรรมของแต่ละคน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ตั้งแต่การสูบบุหรี่ อาหารการกิน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวรัส และอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจส่งผลให้สารพันธุกรรมในเซลล์เปลี่ยนไป (หรือที่เรียกว่า กลายพันธุ์) เป็นเหตุให้การทำงานของเซลล์ผิดเพี้ยน หากการกลายพันธุ์นั้นไปปิดการทำงานของยีนที่คอยคุมการแบ่งเซลล์มากก็ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้ การกลายพันธุ์เพียงครั้งเดียวอาจไม่ทำให้เป็นมะเร็งได้ในทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจได้รับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่การเกิดมะเร็งมีโอกาสเพิ่มไปตามอายุที่มากขึ้นนั่นเอง การค้นหาการกลายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเป็นงานใหญ่ นักวิทยาศาสตร์จึงรวมกลุ่มกันทำ Cancer Genome Project ศึกษาการกลายพันธุ์ที่เกี่ยวกับมะเร็งของมนุษย์ และในที่สุดก็พบว่าในร่างกายคนมียีนกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้หากเกิดการกลายพันธุ์ งานวิจัยนี้ยืนยันความเกี่ยวข้องระหว่างการสูบบุหรี่กับมะเร็งปอด โดยการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดส่วนใหญ่มาจากสารเคมีจากบุหรี่ ประมาณได้ว่าจะเกิดการกลายพันธุ์ 1 ตำแหน่งทุกๆ การสูบบุหรี่ 15 มวน แม้นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งอยู่มาก แต่ว่ายังไม่ใช่กุญแจสารพัดนึกที่ไขวิธีรักษามะเร็งให้กับทุกคนได้ เพราะผู้ป่วยมะเร็งอาจมีการกลายพันธุ์ที่ต่างกัน ส่งผลให้การรักษาด้วยยาที่เจาะจงกับการกลายพันธุ์ที่ใช้ได้กับคนหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้กับอีกคนหากไม่มีการกลายพันธุ์ลักษณะนั้น จะเห็นได้ว่ามะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน ความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงแต่ระบุการกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งเท่านั้น แต่ยังต้องหาทางสกรีนผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมในแต่ละคนด้วย
อ้างอิง The Big question in Science (เรียบเรียงโดย มิติ เจียรพันธุ์) https://www.blockdit.com/articles/5ee04565634f5f1f2bbbc1bb/# |