เปิดคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญโรคอุบัติใหม่ ถึงสัญญาณการระบาดระลอกสอง
Exclusive Talk : 'ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา' โควิด-19 ร้ายกว่าที่คิด เปิดคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญโรคอุบัติใหม่ ถึงสัญญาณการระบาดระลอกสอง เมื่อ 'โควิด-19' สามารถโจมตีอวัยวะในร่างกายได้หลายระบบ พร้อมคำแนะนำถึงมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกและวิธีป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด
ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดในเมืองไทยและทั่วโลก เฟซบุ๊ก ‘ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา’ เป็นแหล่งความรู้อีกแห่งที่คนติดตามอ่าน เพราะเขียนในสิ่งที่คนอยากรู้ เนื่องจากศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัย ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน เป็นทั้งนักอ่าน นักค้นคว้า ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับจากองค์การอนามัยโลก เรื่อง ‘การพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค’,งานวิจัยเรื่องโรคสมองอักเสบ จากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะจากเชื้อพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกันโรคและเชื้อไวรัสอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีผลงานร่วมกับ ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ สร้าง ‘แผนที่สมองสุนัขและแผนที่สมองคนไทย’ รวมถึงมีผลงานบทความด้านสุขภาพที่เข้าใจง่าย โดยอ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หลายเรื่องที่คุณหมอเขียนเกี่ยวกับโควิด-19 อาจทำให้คนอ่านรู้สึกหวาดกลัวและกังวล แต่รู้ไว้คงดีกว่าไม่รู้อะไรเลย และตอนนี้สิ่งที่คุณหมอห่วงมากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 แม้ปัจจุบัน(เดือนพฤษภาคม 2563) ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะน้อยมาก "มีคนบอกว่า หมอพูดเยอะ ทำให้คนกลัว ผมอยากบอกว่า ถ้าเราไม่รู้เขา รู้เรา เราจะไม่รู้ว่าจะตั้งรับด้วยมาตรการอะไร ตราบใดที่เราไม่รู้ว่าโรคนี้ร้ายแรงเพียงใด เราจะวางแผนรับมือไม่ถูก ถ้าเราไม่รู้จักผู้ร้าย ก็จะไม่สามารถสู้กับผู้ร้าย เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องให้ความจริง เพื่อคนจะได้ป้องกันตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์" คุณหมอธีระวัฒน์ เล่า และคุณหมอเองไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อไม่นานนำนวัตกรรมเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 มาใช้และตอนนี้ทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังทำงานร่วมกับทีมแพทย์จังหวัดปัตตานี เพื่อตรวจคัดกรองภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในหมู่บ้านที่มีประชากรพันกว่าคน - อยากให้ประเมินสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 (เดือนพฤษภาคม 2563) ตอนนี้สักนิด ? ผมห่วงการแพร่ระบาดระลอก 2 ตามมาตรฐานคนติดเชื้อโควิด-19 มีไข้ เพลีย ไอ แต่ขณะนี้ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดจะมีอาการตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า ผิวหนัง สมอง ตับ ไต หัวใจ ถ้าเราไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ คนป่วยก็สามารถมีอาการได้ทุกระบบที่แสดงออก ดังนั้นคนที่ไม่มีอาการตามมาตรฐาน ไม่ได้ป่วยวิกฤติ หรือแม้มีอาการมากเข้าโรงพยาบาลก็ไม่ทราบว่าเป็นโควิด-19 อาจแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว ผมมองว่าการตรวจคัดกรองน่าจะเป็นเชิงรุก ตรวจคนที่ไม่มีอาการใดๆ ด้วย เพราะสามารถแพร่กระจายในวงกว้าง หนึ่งคนที่ติดเชื้อหากแพร่เชื้อภายในหนึ่งเดือน จะเป็นลูกโซ่ไปได้ถึงพันๆ คน การคัดกรองคนไม่มีอาการ น่าจะเริ่มจากคนที่มีีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ อาจเริ่มจากกลุ่มคนขับรถสาธารณะ รถตู้ รถเมล์ รถประจำทาง คนเก็บตั๋ว โดยเฉพาะรถปรับอากาศ ชีวิตคนเหล่านี้พบปะคนมากมาย ส่วนอีกเรื่องที่เป็นห่วง เมื่อเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม มีตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงมัธยม พ่อแม่พี่น้องอาจนำเชื้อมาติดเด็กๆ กลุ่มนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ยังรวมถึงครูและเจ้าหน้าที่สถานศึกษา ถ้าใช้วิธีการคัดกรองแบบเดิมอาจตกหล่น เพราะวิธีเดิมเป็นการหาผู้ติดเชื้อจากผู้มีอาการ ดังนั้นก่อนเด็กๆ จะเริ่มไปโรงเรียน เป็นไปได้ไหมว่า 4 วันก่อนเข้าเรียนต้องมีการเข้มงวดไม่ให้คนในครอบครัว พ่อแม่ และเด็กนักเรียนไปรับเชื้อจากที่อื่น นอกจากนี้ยังมีวิธีตรวจคัดกรองโดยการเจาะเลือดปลายนิ้ว ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยทำ เพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อ ที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันระดับที่ 1 และระดับที่ 2 - แนวทางนี้ ตรวจแบบปูพรมทั้งประเทศได้ไหม เป็นไปได้แน่นอน การตรวจคัดกรอง ทำเยอะราคาถูก เมื่อตรวจแล้วพบผลเลือดเป็นบวก เราสามารถแยกคนเหล่านี้ออกมา เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ ถ้าทำแบบนี้ได้ เราสามารถประกาศเป็นประเทศสะอาดได้ การท่องเที่ยวจะสามารถทำได้ด้วยความสบายใจ ส่วนคนที่มาจากต่างประเทศ ก็สามารถตรวจแบบเดียวกัน แต่อาจตรวจซ้ำหลังจาก 4 วันที่เข้ามาประเทศเราแล้ว แม้จะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผลที่ทำขณะนี้ 99 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือเหตุผลว่า ต้องตรวจเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียน 4 วัน แนวทางนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับชัดเจน - ถ้าทำทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละเท่าไร ประมาณคนละ 100-200 บาท พื้นที่อื่นๆ จะทำแบบนี้ได้ไหม ต้องมีโรงพยาบาลที่เป็นตัวกลางรับเลือด แล้วส่งมาตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาฯแต่ไม่สามารถเบิกสปสช.ได้ เราไปก้าวล่วงเรื่องนี้ไม่ได้ โชคดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเข้าใจเรื่องนี้ หากคนที่กลับมาจากประกอบพิธีทางศาสนา ต้องกักตัว 14 วัน ถ้าตรวจด้วยวิธีนี้แล้วไม่พบเชื้อก็กลับบ้านได้เลย แต่ถ้ามีผลเลือดบวก ก็สามารถคัดแยกออกมา ถ้าเทียบกับกักตัวเลี้ยงดู 14 วัน วิธีนี้จะได้กำไรมากกว่าขาดทุน และตอนนี้ใช้มาตรการคลายล็อคแล้ว ชุมชนไหนมีความเสี่ยง อย่างคลองเตย ท่าเรือ คลองจั่น โดยเฉพาะพวกพ่อค้าแม่ค้าเจอคนเยอะๆ หรือสถานที่ชุมนุม สามารถตรวจคัดกรองประเมินแบบนี้ได้เลย แต่ต้องวางแผน
บทความโดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ I เซ็คชั่นจุดประกาย I กรุงเทพธุรกิจ https://www.blockdit.com/articles/5ecbb2d657f61651b6ce5e34/# |