ลมแห่งความเสี่ยง ลมจากแอร์ : ภัยเงียบที่คิดไม่ถึง

ลมแห่งความเสี่ยง ลมจากแอร์ : ภัยเงียบที่คิดไม่ถึง”

เมื่ออัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมาก หรือไม่มีการติดเชื้อเพิ่มเลย ประชาชนในประเทศนั้นๆก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลทำการคลายล็อก เพื่อให้สามารถทำมาหากินได้(ด้านเศรษฐกิจ) สามารถพักผ่อนหย่อนใจได้(ด้านสังคม) ซึ่งแม้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดใหม่รอบสอง(ด้านสาธารณสุข) แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องคลายล็อกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับประเทศไทยของเรา ก็มีการคลายล็อกเป็นขั้นเป็นตอน วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มคลายล็อกในขั้นตอนที่สอง หนึ่งใน มาตรการที่ได้รับการผ่อนคลายในขั้นที่สองนั้นคือการให้ห้างสรรพสินค้าเปิดดำเนินการได้

ในช่วงการคลายล็อกนี้เอง มาตรการสำคัญมากที่จะทำให้โอกาสการเกิดโรคระบาดลดลงคือ การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน ถึงแม้จะมีระยะห่างทางสังคมมากกว่า 2 เมตรแล้วก็ตาม

จุดเสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อสูงสุดของประชาชนในช่วงคลายล็อกก็คือ ช่วงที่จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัยโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ “ช่วงทานอาหาร”

การทานอาหารต้องมีระยะห่าง 2 เมตร ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องมีฉากกั้นระหว่างผู้ทานอาหารด้วยกัน จึงจะพอเบาใจลงได้บ้าง

แม้จะอยู่ห่าง 2 เมตรแล้ว ถ้าตำแหน่งที่นั่งทานอาหารไม่ดีอาจทำให้มีโอกาสรับเชื้อไวรัส เราก็ยังคงสามารถติดเชื้อได้ โดยติดจาก “ลมแห่งความเสี่ยง”

ลมนี้ได้แก่ กระแสลมที่พัดออกจากแอร์ จะเป็นผลชัดเจนมากยิ่งขึ้นถ้าอยู่ในห้องหรือร้านอาหารที่เป็นระบบปิด(ไม่มีหน้าต่าง,หรือปิดหน้าต่าง)แล้วทิศทางของลมพัดผ่านผู้ที่ติดเชื้อตรงมาหาเราตอนที่กำลังรับประทานอาหารอยู่ เราจะรับเชื้อได้โดยง่าย เพราะเราไม่ได้ใส่หน้ากาก และผู้ติดเชื้อต้นทางลมก็ไม่ได้ใส่หน้ากากด้วยเช่นกัน เพราะต่างก็กำลังรับประทานอาหารอยู่ ระยะห่าง 2 เมตรไม่สามารถป้องกันได้ เพราะลมจากแอร์สามารถพัดฝอยละอองที่มีเชื้อไวรัสให้ปลิวไกลกว่า 2 เมตรได้ ดังกรณีตัวอย่างรายงานการศึกษาร้านอาหารที่เมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง (ดังภาพ)

เริ่มต้นจากผู้ติดเชื้อต้นเหตุที่ยังไม่แสดงอาการ (A1) มารับประทานอาหารพร้อมกับครอบครัวโดยนั่งโต๊ะ A ณ ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าต่างและติดแอร์ ลมแอร์พัดจากโต๊ะใกล้แอร์สุดคือ โต๊ะ C ผ่านไปยังโต๊ะที่สองที่อยู่ติดกันคือโต๊ะ A และผ่านในทิศทางตรงไปยังโต๊ะที่สามถัดไปคือโต๊ะ B แล้วลมแอร์พัดย้อนกลับมาในทิศทางเดิมกลับมายังแอร์เพื่อให้ทำความเย็นอีกครั้งหนึ่ง กระแสลมดังกล่าวจึงพาฝอยละอองของผู้ติดเชื้อ (A1) จากโต๊ะ A->B -> A->C วนเวียนซ้ำไปมาอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง

ผลก็คือแม้แต่ละโต๊ะจะอยู่ห่างกัน 1-2 เมตร แต่ก็มีผู้ติดเชื้อจากทั้ง 3 โต๊ะรวมกัน 9 คน ในขณะที่โต๊ะที่เหลืออีก 12 โต๊ะรวม 73 คน ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย แม้จะอยู่ในระยะใกล้เคียงกัน เพราะไม่ได้อยู่ในทิศทางของลมแอร์ตัวเดียวกัน

จึงสรุปได้ว่าลมจากแอร์ที่เป่าโดยตรงจากผู้ติดเชื้อ(แม้ไม่มีอาการ,ไม่ไอ,ไม่จาม) ที่มีเพียงแค่การพูดคุยระหว่างทานอาหาร ก็สามารถพาฝอยละอองที่มีเชื้อไวรัสไปสู่บุคคลอื่นๆแม้จะมีระยะห่างทางสังคมแล้วก็ตาม จึงสมควรขนานนามว่า “ลมแห่งความเสี่ยง”โดยแท้ ร้านอาหารจึงไม่ควรเปิดลมแอร์ให้แรง และผู้ทานอาหารควรใช้เวลาทานอาหารในร้านให้สั้นที่สุด (ไม่เกิน 30 นาที) และไม่ควรนั่งอยู่ในทิศทางที่ลมแอร์พัดจากโต๊ะอื่นมาสู่โต๊ะที่เรานั่ง ตลอดจนควรใส่หน้ากากตลอดเวลาที่รออาหารหรือรอจ่ายเงิน ถอดออกเฉพาะช่วงทานอาหารเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้เหลือน้อยที่สุด

 

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

ข้อมูลภาพประกอบ

Lu J,et al. Emerg Infect Dis. 2020;26(7)

Visitors: 1,427,746