คอเลสเตอรอล คืออะไร

คอเลสเตอรอล คืออะไร ?

“คอเลสเตอรอล”หลายคนคงเคยได้ยินกับคำนี้กันมาพอสมควร และพอจะรู้มาบ้างว่า หากร่างกายของเรามีเจ้าสิ่งนี้สูงมากๆท้ายที่สุดอาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้

หลายคนรู้ว่าการรับประทานอาหารที่มีไขมันเยอะ แล้วไม่ออกกำลังกายก็เป็นสาเหตุของโรคหัวใจเช่นเดียวกันแต่กลับเลือกที่จะไม่สนหัวใจ และกินทุกอย่างที่ขวางหน้า จนเมื่อต้องมาตรวจเลือดประจำปีแล้วพบว่า..

“คอเลสเตอรอล”มีค่าสูงเกินไป !

จริงๆ แล้ว คอเลสเตอรอล ก็คือ กลุ่มไขมันที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดของเรา และมีความจำเป็นต่อระบบต่างๆ ของร่างกายเมื่ออยู่ในกระแสเลือด คอเลสเตอรอลจะจับอยู่กับโปรตีน เรียกว่า ไลโพโปรตีน

ซึ่งแบ่งเป็นชนิดที่มีความหนาแน่นต่ำ หรือ “LDL”ที่ชอบเกาะตัวอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงงผลให้ความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดเสียไป และเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันตามมา

“LDL” จึงจัดเป็นคอเลสเตอรอล “ตัวร้าย”ในทางตรงกันข้าม “HDL” จัดเป็นคอเลสเตอรอล “ชนิดดี” เพราะ “HDL” คือไลโพโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูง จะช่วยนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินกลับไปยังตับ

ตับเป็นผู้สร้างคอเลสเตอรอลทุกชนิดที่ร่างกายต้องการแต่อาหารที่เรากินเข้าไปเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลส่วนเกิน

อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง คืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก เช่น ตับ ไข่แดง ชีส เนย เนื้อสัตว์ (เป็ด, เนื้อวัว, อาหารทะเลจำพวกหอย) และอาหารที่ใช้น้ำมันจากสัตว์

เมื่อมีระดับคอเลสเตอรอลสูงเกินไป โดยเฉพาะเจ้า LDL จะเกิดภาวะไขมันสะสมที่ผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก หัวใจจึงต้องบีบตัวแรงมากขึ้น เพื่อเป็นแรงส่งให้เลือดไหลไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ทำให้การเต้นของหัวใจมีปัญหา และอาจหัวใจวายได้ในที่สุด

การตรวจเลือดวัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดนั้น เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้อง ควรมีการอดอาหารตลอดคืนก่อนการตรวจ (ประมาณ 8 ชั่วโมง)

โดยค่าที่แสดงว่ามีระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม (TC) สูงคือมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

โดยมีค่าระดับ LDL มากกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

และมีค่าระดับ HDL น้อยกว่า 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

 

หากมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป การรักษาขั้นแรกคือการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน หากยังไม่ได้ผลภายในระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยยา ซึ่งการปรับเปลี่ยนกิจวัตรลำดับแรกก็คือ “การควบคุมอาหาร” นั่นเอง ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรือใช้น้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม

 

แล้วหันมาใช้น้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน จำพวกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา การกินอาหารที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ บรอกโคลี และธัญพืชก็เป็นทางเลือกที่ดีในการลดอาหารที่มีไขมันสูง

การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอวันละ 30 นาทีทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงการจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มระดับของ HDL และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมได้เป็นอย่างดี หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

คงถึงเวลาแล้วที่จะเลิกตามปากแล้วหันมาตาม “หัวใจ” ให้มากขึ้น..

 

Reference : ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Visitors: 1,211,751