คทาแห่งแอสคลีเพียส (Rod of Asclepius)

จากคทาแห่งแอสคลีเพียส (Rod of Asclepius) สู่การล้างบางหนอนพยาธิ

 

แอสคลีเพียส (Asclepius) บุตรแห่งอพอลโล ได้ร่ำเรียนวิชาการแพทย์มาจากบิดาและเซนทอร์ไครอน จนได้เป็นเทพแห่งการรักษาในตำนานกรีก

เพื่อเป็นการตอบแทนจิตใจอันดีงามของแอสคลีเพียส งูได้กระซิบบอกสรรพวิธีการรักษาแก่แอสคลีเพียสอยู่เสมอ เขาจึงได้นำงูมาพันไม้คทาเอาไว้

คทาที่มีงูพันรอบถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ เช่นรูปข้างล่างนี้ที่เป็นธงขององค์การอนามัยโลก

ตำนานคทาแห่งแอสคลีเพียสมีที่มาที่ไปในโลกความเป็นจริงอย่างไรและเกี่ยวข้องกับหนอนพยาธิตรงไหน ไปดูกัน

 

ที่มาของคทาแห่งแอสคลีเพียส

สมมติฐานแรกมาจากในสมัยกรีกโบราณ งูเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้ และการรักษา จึงไม่แปลกที่เทพเจ้าแห่งการรักษาจะมีคทาที่มีงูพันรอบ

สมมติฐานที่สอง การลอกคราบของงูแสดงถึงการเจ็บป่วยและหายจากโรค หรือพิษของงูที่เป็นยาหรือยาพิษนำมาใช้รักษาโรค

อีกสมมติฐานหนึ่งนั้นน่าสนใจกว่า

ในยุคนั้นโรคหนอนพยาธิกินี (guinea worm) พบได้ทั่วไปบริเวณทะเลเมดิเตอเรเนียน และทะเลแดง

มีหลักฐานของโรคหนอนกินีถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่าซึ่งเป็นคัมภีร์ของชาวอิสราเอลโบราณ

พูดถึงงูไฟที่โผล่ออกมาจากร่างกายมนุษย์ ตอนที่โมเสสพาทาสชาวอิสราเอลอพยพหนีออกจากอียิปต์ข้ามทะเลแดงที่แหวกเปิดออกตามพระประสงค์ของพระเจ้า

โรคหนอนกินีน่าจะพบได้มากในประเทศอียิปต์สมัยนั้น

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานข้อความของอาณาจักรอียิปต์โบราณเมื่อราวสองพันปีก่อนคริสตศักราช พูดถึงหนอนกินี และยังพบหนอนกินีที่กลายเป็นปูนแข็งอยู่ในร่างของมัมมี่แมนเชสเตอร์

หนึ่งพันสี่ร้อยปีก่อนคริสตศักราช พบการพูดถึงหนอนกินีในหนังสือภาษาสันสกฤต และราวเจ็ดร้อยปีก่อนคริสตศักราช หนอนกินีได้ติดมากับนักโทษจากอียิปต์สู่ดินแดนเมโสโปตีเมียหรือบริเวณประเทศอิรักในปัจจุบัน

แม้แต่ในหนังสือของกาเลน (Aelius Galenus) แพทย์ชาวกรีกช่วงศตวรรษที่ 2 ในสมัยกรีก-โรมัน ผู้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกายวิภาค ได้พูดถึงหนอนพยาธิตัวนี้เมื่อตอนที่เขาได้มาอียิปต์ โดยมีนักเขียนอีกหลายคน เช่น Agatharchides และ Plutarch ที่พูดถึงเช่นกัน โดยกาเลนได้ตั้งชื้อโรคนี้ว่า Dracontiasis แปลได้ว่ามังกรน้อย

โรคหนอนพยาธิกินีเกิดจากพยาธิตัวกลมชื่อ Dracunculus medinensis (ดรา-คัน-คิว-ลัส เมด-ดิ-เนน-สิส) ที่ไชออกมาจากทางเดินอาหารของเราแล้วเลื้อยไปตามผิวหนังแล้วไชออกมาบริเวณเท้า สร้างความเจ็บปวดแสนสาหัส ผู้ที่เคยเป็นบอกเล่าว่า "เหมือนถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา"

เวลาคนปวดแสบร้อนมากๆ มักจะนำเท้าไปแช่ในน้ำ ทำให้พยาธิกินีปล่อยไข่ออกสู่แหล่งน้ำต่างๆ แล้วไปเติบโตเป็นตัวอ่อนในแพลงตอนโคพีพอด แล้วติดสุนัขหรือมนุษย์ด้วยการดื่มน้ำหรือกินโคพีพอดที่มีเชื้อ

การรักษา ง่ายๆแค่เอาน้ำมาราดบริเวณที่มันไชออกมา ตัวมันจะโผล่ออกมาจากเท้า หมอจะค่อยๆเอาไม้มาพันหนอนแล้วดึงออกมาโดยไม่ให้ขาด

นี่เองอาจเป็นที่มาของงูบนคทาของแอสคลีเพียส เทพเจ้าแห่งการรักษา

งูบนคทากลายเป็นไม้พันหนอนไปเสียนี่!!

 

ถึงแม้ตัวแอสคลีเพียสจะเป็นเทพเจ้าในตำนานกรีกและไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงๆหรือไม่ ตามตำนานบุตรชายสองคนของแอสคลีเพียส ผู้หนึ่งชำนาญการใช้ยา อีกผู้หนึ่งชำนาญการผ่าตัดได้เข้าร่วมสงครามกรุงทรอย

อีกทั้งบิดาทางการแพทย์อย่างฮิปโปเครตีสเป็นผู้สืบทอดวิชารุ่นที่ 18 ต่อจากแอสคลีเพียส

ไม่แน่ว่าแอสคลีเพียสอาจเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์เหมือนกับปรมาจารย์ตั๊กม้อที่เดินทางมาจากอินเดียสู่จีน ก่อให้เกิดสำนักเส้าหลินจนทุกวันนี้

คทาของแอสคลีเพียสได้นำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์ตามที่ต่างๆ แต่มีหลายที่ในอเมริกาและไทยเองนำรูปคทามีปีกและมีงูพันสองตัวมาจากคทาคาดูเชียส (caduceus) ของเฮอร์มีส (Hermes) เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสาธารณสุขเลย แต่งูสองตัวบนคทามีปีกก็สวยกว่าไม้พันหนอนจริงๆแหละ

สาธารณสุขกัมพูชา

กระทรวงสุขภาพเวียดนาม

มาดูสัญลักษณ์ที่ใช้คทาคาดูเชียส (caduceus) ของเทพเจ้าแฮเมส เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร

กระทรวงสาธารณสุขไทย

สัญลักษณ์แพทย์ทหารอเมริกา

 

จากสงครามระหว่างมนุษย์กับมังกรน้อยที่ดำเนินมายาวนานกว่า 4,000 ปี มาวันนี้ WHO ได้พยายามกวาดล้างหนอนพยาธิกินีให้เป็นโรคที่สองต่อจากฝีดาษที่เราสามารถล้างบางได้สำเร็จ (eradication)

จากผู้ป่วยกว่า 3 ล้านคนในแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา เมื่อทศวรรษ 80 เหลือเพียงไม่ถึงสิบคนในปีที่ผ่านมาเนื่องจากการพัฒนาสาธารณสุข การใช้น้ำดื่มน้ำใช้ การให้ความรู้ และการรักษาเชิงรุก

อย่างไรก็ตามตอนแรก WHO ได้กำหนดเส้นตายไว้ที่ปีนี้ 2020 แต่เนื่องจากพบวงจรชีวิตของหนอนที่เหลืออยู่น้อยนิดในทวีปแอฟริกานั้นซับซ้อนกว่าที่คิดเอาไว้ พวกหนอนพยายามเอาชีวิตรอดและได้ใช้สุนัขและลิงบาบูนเป็นผู้ถูกอาศัยแทนมนุษย์ WHO จึงได้เลื่อนการประกาศ eradication เป็นปี 2030

เราสามารถกำจัดโรคพยาธิกินีได้เป็นโรคที่สองต่อจากฝีดาษที่พวกเราร่วมมือร่วมใจกันกำจัดสำเร็จในปี 1980 ได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

รูปนักบุญโรช ออกแสวงบุญ ฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 14 ในอดีตสงสัยว่าเป็นฝีแล้วมีหนองไหล แต่ปัจจุบันเชื้อกันว่าน่าจะเป็นหนอนพยาธิกินีมากกว่า

รูปวาดการรักษาโรคพยาธิกินี ในศตวรรตที่ 17

แผนที่เมื่อปี 2015 มาวันนี้เหลือผู้ป่วยน้อยกว่า 10 คนและแทบไม่พบผู้ป่วยใหม่บนโลกนี้อีกแล้ว

บ๊ายบายน้องหนอนกินี

Visitors: 1,409,226