การตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพคือ การลงทุนและป้องกันความเสี่ยงของโรคที่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ปัจจุบันมีคนไทยทั้งประเทศเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และคนไทยกว่าร้อยละ 59 ยังเข้าใจการตรวจสุขภาพประจำปีไม่ถูกต้อง นำไปสู่แนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ มากขึ้นทุกปี แท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพประจำปีคือการตรวจเพื่อส่งเสริมสุขภาพในคนทุกเพศทุกวัย เพื่อค้นหาความผิดปกติ หรือโรคที่อาจเกิดขึ้น นำไปสู่การวางแผนเพื่อป้องกันและรักษาโรคอย่างมันท่วงที ทุกคนทุกเพศทุกวัยจึงควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีให้ถูกต้องเหมาะสม

 

ครั้งนี้จะขอหยิบยก การตรวจสุขภาพที่ควรเริ่มในแต่ละช่วงวัย ข้อมูลจากหนังสือ เจาะลึกตรวจสุขภาพ 4.0 โดย เภสัชกรณัฐวุฒิ รักแคว้น ที่จะพาคุณไปรู้จักและเข้าใจการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกช่วงวัย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการตรวจโรคประจำปี เมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไป จะมีโรคหลักๆ ที่ควรตรวจทุกปี อาทิ  โรคอ้วน, โรคความดันโลหิตสูง, หูเสื่อม และหูตึง แต่ยังมีโรคเฉพาะที่ควรเริ่มตรวจในแต่ละช่วงอายุเป็นพิเศษ เริ่มจาก

อายุ 18 ปีขึ้นไป ภาวะที่คัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรมีรายการตรวจ อัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardio - graphy) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG or ECG) การวิ่งสายพาน (EST) และตรวจสุขภาพอุจจาระและเชื้อโรคก่อ (Stool Examination) รวมถึงรายการเจาะเลือดที่ควรตรวจซ้ำทุก 1 ปี ได้แก่ การทำงานของตับ (Live Function) การทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Function Test) ความเสี่ยงโรคเกาต์ ควรตรวจกรดยูริก (Uric Acid) และโรคเบาหวาน ควรตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hba1c) ส่วนกลุ่มมะเร็งที่ควรตรวจสารบ่งชี้ ได้แก่ มะเร็งตับ (AFP) มะเร็งลำไส้ (CEA) มะเร็งตับอ่อน (CA 19-9) มะเร็งเต้านม (CA 15-3) มะเร็งรังไข่ (CA 125) และมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)

อายุ 20 ปีขึ้นไป สำหรับผู้หญิงควรเริ่มตรวจเชื้อมะเร็งปากมดลูก (HPV Test) ส่วนรายการเจาะเลือดที่ควรตรวจทุกๆ 5 ปี ได้แก่ ตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile) เพื่อเช็กความเสี่ยงโรคไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ป้องกันความเสี่ยงมะเร็งตับนั่นเอง

อายุ 30 ปีขึ้นไป มีรายการที่ต้องตรวจซ้ำทุกๆ 3 ปี สำหรับผู้หญิง ได้แก่ เซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นภาวะคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และ ตรวจเต้านมโดยการคลำ (โดยแพทย์) เพื่อหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านม สำหรับทุกเพศในช่วงอายุ 35 ปี ก็มีการเจาะเลือดที่ควรตรวจซ้ำทุกๆ 3 ปีเช่นกัน นั่นคือ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) เพื่อหาความเสี่ยงโรคเบาหวาน

อายุ 40 ปีขึ้นไป ในผู้หญิงโรคมะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงต้องมีความถี่ในการตรวจมากขึ้น คือทุกๆ 1 ปี และหลายวิธี ได้แก่ การตรวจเต้านมโดยการคลำ (โดยแพทย์),แมมโมแรมเต้านม (Mammogram), อัลตราซาวนด์เต้านม (Breast Ultrasound) สำหรับทุกวัยควรเริ่มตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ (Eye Examination) เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความเสื่อมของประสาทตาได้มากขึ้น

อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรหาภาวะคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test) ในทุกๆ 1 ปี และส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ในทุกๆ 5-10ปี หากพบติ่งเนื้อเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ต้องตรวจซ้ำทุกๆ 3 – 5 ปี

อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่สุขภาพชราวัยตามอายุที่มากขึ้น ควรตรวจสุขภาพปัสสาวะ เชื้อโรค และสารแปลกปลอม (Urine Examination) ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงที่แขนและขาตีบ ช่วยทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดงที่ขาด้วยการเทียมความดันหลอดเลือดที่ข้อเท้ากับแขน (ABI) และที่สำคัญคือโรคกระดูกพรุน ควรตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Density) โดยผู้หญิงเริ่มช่วงอายุ 65 ปี แต่ผู้ชายจะอยู่ในช่วง 70 ปี หรือแล้วแต่แพทย์พิจารณา ส่วนรายการเจาะเลือด ตรวจการทำงานของไต (Kidney Function Test) ปีละครั้ง และตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ในช่วงอายุ 70 ปีเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง

 

แนวทางการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัย เป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่ข้อบังคับของการปฏิบัติ สามารถทำตามดุลพินิจภายใต้ความสามารถและพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อประโยชน์และความคุ้มค่าแก่ร่างกายตัวเองที่สุดนั่นเอง

โดย เภสัชกรณัฐวุฒิ รักแคว้น

(จากหนังสือ เจาะลึกตรวจสุขภาพ 4.0)

Visitors: 1,410,118