เอลนีโญและลานีญา

ช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. นี้ถือเป็นสภาวะปกติของภูมิอากาศที่ไม่เป็นทั้ง #เอลนีโญ และ #ลานีญา ก่อนที่จะลานีญาจะเริ่มต้นขึ้นประมาณปลายเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น เสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่

ลานีญา (La Niña) คือ ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิบริเวณพื้นผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออกลดลงจากปรกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดฝนตกหนัก รวมถึงประเทศไทยที่จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ และอุณหภูมิลดลง ส่วนตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้จะประสบความแห้งแล้ง

แล้วลานีญาครั้งนี้จะพัดพาอะไรมาบ้าง

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า ช่วงปลายเดือน ก.ค.-ต.ค.นี้ ลานีญาจะทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้นและอาจเกิดปรากฏการณ์ "ฝนตกหนักสุดขั้ว"

โดยปรกติ ค่าเฉลี่ยฝนตกหนักในประเทศไทยจะไม่เกิน 90-100 มม. แต่ในปีนี้ มีโอกาสที่ฝนจะตกมากถึง 120-150 มม. ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออก

ที่ผ่านมา หน้าฝนของประเทศไทยจะมีจำนวนวันที่ฝนตกประมาณ 17-21 วันในปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนปีนี้ อาจมีจำนวนวันที่ฝนตกน้อยลงกว่าเดิม แต่วันที่ฝนตก ก็จะตกหนัก แต่ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศตลอดปีนี้จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ เนื่องจากประสบภาวะแล้งมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ว่า ลานีญารอบนี้จะจบลงประมาณเดือนมกราคม 2568 และเปลี่ยนผ่านกลับไปสู่เอลนีโญอีกครั้งช่วงกลางปี 2568-2569 ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าปีนี้ที่มีอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 100 ปี

ปรากฏการณ์ลานีญาเกิดขึ้นทุกๆ 5-6 ปี และแต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 1 ปี แต่ภาวะโลกร้อนทำให้ลานีญา รวมถึงเอลนีโญ เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เคยมา และมีแนวโน้มจะเผชิญความแห้งแล้งและน้ำท่วมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ช่วงนี้อากาศจะเย็นขึ้นกว่าหน้าร้อนอันแสนสาหัสแล้วก็ตาม แต่อาการของโลกยังน่าเป็นห่วงอยู่เหมือนเดิม อย่าลืมช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดภาวะโลกร้อนด้วยนะคะ

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://earth.org/el-nino-southern-oscillation/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/340717
https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-32
https://www.thansettakij.com/business/economy/596879

ขอบคุณภาพจาก ThaiWater, Krungsri Research นะคะ 
Visitors: 1,405,421