‘กล้วย’ กำลังจะหมดโลก เจออากาศร้อน-พายุรุนแรง-โรคเชื้อรา

‘กล้วย’ กำลังจะหมดโลก เจออากาศร้อน-พายุรุนแรง-โรคเชื้อรา

 

“กล้วย” เป็นพืชอาหารที่ทุกคนทั่วโลกนิยมบริโภคและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ในอนาคตอาจไม่มีกล้วยให้กิน เนื่องจากลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ส่งออกกล้วยมากที่สุด กำลังเผชิญกับภัยพิบัติมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบัน กล้วย 80% ที่วางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกมาจากลาตินอเมริกาและแคริบเบียน แต่ภายในปี 2080 พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกกล้วยของภูมิภาคนี้อาจสูญหายไป เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่เลวร้าย ตามการวิจัยของ Christian Aid องค์กรการกุศลเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยทั่วโลก โดยต้องเจอกับสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ แสงแดดที่แผดเผารุนแรง น้ำท่วม พายุเฮอริเคน ตลอดจนเจอแมลงและโรคที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน” แอนนา เพียไรเดส ผู้จัดการอาวุโสด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนสำหรับกล้วยของมูลนิธิแฟร์เทรดกล่าว

กล้วยเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก แต่เป็นอาหารสำคัญสำหรับกลุ่มที่คนยากจนที่สุดในโลก เนื่องจากมีสารอาหารมากและราคาถูก โดยประชากรกว่า 400 ล้านคน กินกล้วยเพื่อให้ได้แคลอรี 15-27% ของปริมาณแคลอรีที่บริโภคต่อวัน ทำให้กล้วยเป็นพืชอาหารที่สำคัญเป็นอันดับ 4 รองจากข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด

 

วิกฤติสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสวนกล้วยในหลาย ๆ ด้าน กล้วยต้องการอุณหภูมิระหว่าง 15-35 องศาเซลเซียสสำหรับการเจริญเติบโต แต่ก็ไวต่อภาวะขาดแคลนน้ำมากเช่นกัน ในหลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความร้อนสูง ที่เกิดต่อเนื่องมาแล้วสองปี ทำให้ต้นกล้วยล้มตายเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะยังคงเจอคลื่นความร้อนต่อไป

ขณะเดียวกันพายุเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากพายุจะทำลายใบ ทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การติดเชื้อรายังเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคตายพราย หรือ โรคปานามาที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium สายพันธุ์ TR 4 ปัจจุบันพบโรคนี้ในโคลอมเบียและเปรู ซึ่งเป็นผู้ส่งออกกล้วยสำคัญของยุโรป

“หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง กล้วยหอมคาเวนดิชอาจเสี่ยงสูญพันธุ์ ถูกเชื้อรา Fusarium สายพันธุ์ TR 4 ทำลายรากพืช อาจทำให้โลกสูญเสียสวนกล้วยทั้งหมด” ฮอลลี่ วูดเวิร์ด-เดวีย์ ผู้ประสานงานโครงการของ Banana Link ที่ทำงานด้านซัพพลายกล้วยกล่าว

Christian Aid ระบุว่า วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดคือ ประเทศร่ำรวยที่ก่อมลพิษจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเร่งด่วน

ภายใต้ข้อตกลงปารีส ประเทศต่าง ๆ จะส่งแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งชาติฉบับใหม่ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมเรียกร้องให้ เกษตรผู้ปลูกกล้วยและชุมชนเกษตรกรรมได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนเพื่อสภาพอากาศระหว่างประเทศอย่างตรงจุด และปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

โอไซ โอจิโกะ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและการรณรงค์ของ Christian Aid กล่าวว่า “นี่เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศต่าง ๆ ที่จะเร่งเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ในขณะเดียวกันก็มั่นใจได้ว่าเงินทุนเพื่อสภาพอากาศจะเข้าถึงผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน”

ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ต้องเลือกผลิตภัณฑ์จากการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับเงินมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักรมีอัตราการบริโภคกล้วยต่อหัวสูงที่สุดในยุโรป แต่ราคากล้วยที่ซูเปอร์มาร์เก็ตขายถูกเกินไป ทำให้มูลค่าของกล้วยลดลง ทั้งที่เกษตรกรผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น หากไม่มีราคาที่เป็นธรรม เกษตรกรก็จะไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้

“ราคาที่เป็นธรรมจะช่วยเพิ่มรายได้ มาตรฐานการครองชีพ และความยืดหยุ่นของผู้ผลิตกล้วย เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ และทำการเกษตรต่อไปได้” เพียไรเดสกล่าว

นอกจากนี้ การเลือกซื้อกล้วยออร์แกนิกก็ยังช่วยต่อต้านการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณสูงในการผลิตผลไม้ อีกทั้งยังลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกและเสียหายต่อระบบนิเวศในท้องถิ่นได้อีกด้วย

 

เร่งหากล้วยพันธุ์อื่นทดแทน

“กล้วยหอมคาเวนดิช” เป็นกล้วยที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้คนทั่วโลกมาตั้งแต่ยุค 1950 ด้วยลักษณะโค้งมนสีเหลืองอร่าม ผลใหญ่ โดยได้อตามวิลเลียม คาเวนดิช ดยุกที่ 6 แห่งเดวอนเชียร์แห่งอังกฤษ ซึ่งได้รับกล้วยพันธุ์นี้มาจากมอริเชียสในปี 1834 และให้คนสวนปลูกกล้วยพันธุ์นี้ในเรือนกระจกของเขา

ในตอนแรก เชื่อกันว่าพันธุ์คาเวนดิชมีความต้านทานต่อโรคได้ดีกว่ากล้วยพันธุ์อื่น ๆ แต่การระบาดของโรคปานามาที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium สายพันธุ์ TR 4 ในหมู่เกาะแคริบเบียนและที่อื่น ๆ เมื่อไม่นานนี้ เริ่มทำให้ความเชื่อนี้เริ่มสั่นคลอน

เนื่องจากกล้วยพันธุ์คาเวนดิช ไม่สามารถสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้และขยายพันธุ์โดยผ่านโคลนที่เหมือนกันทุกประการ ความหลากหลายทางพันธุกรรมของกล้วยพันธุ์นี้จึงต่ำมาก ทำให้กล้วยพันธุ์นี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

แซลลี่ มูซุนกู นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจากมูลนิธิ Schlumberger กล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องก้าวข้ามกล้วยคาเวนดิชและสำรวจความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในสายพันธุ์กล้วยอย่างเร่งด่วน

“โชคดีที่เรามีสายพันธุ์กล้วยที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากมาย รวมถึงสายพันธุ์ที่ไม่ได้รับการวิจัยเพียงพอหลายร้อยสายพันธุ์ซึ่งมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ เราจำเป็นต้องสำรวจความหลากหลายทางพันธุกรรม และการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น การตัดแต่งยีน จะช่วยให้เราสามารถเร่งการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยใหม่ ๆ ที่สามารถให้บริการเกษตรกรได้ดีขึ้นและปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้” มูซุนกูกล่าว

วูดเวิร์ด-เดวีย์ กล่าวว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศและปัญหาการขาดความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องมีการพิจารณาทบทวนระบบการผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและห้ามใช้สารเคมีที่เป็นพิษมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่ยุติธรรม มั่นคง และดีต่อสุขภาพ

 


ที่มา: Euro NewsIndependentThe Guardian

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1180204

 

 

 

 

Visitors: 1,524,993