15 ก.พ. วันฮิปโปโลก แต่โคลอมเบียกำลังเจอปัญหา ฮิปโปรุกรานสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น

15 ก.พ. ‘วันฮิปโปโลก’ แต่โคลอมเบียกำลังเจอปัญหา ฮิปโปรุกรานสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น
 
.
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันฮิปโปโลก’ (World Hippo Day) เพื่อจะรณรงค์ให้คนตระหนักว่า ‘ฮิปโปโปเตมัส’ เป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธ์ุที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แต่โคลอมเบียเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังเจอปัญหาประชากรฮิปโป ‘ล้นเกิน’ จนต้องประกาศว่า ฮิปโปเป็น ‘สัตว์รุกรานต่างถิ่น’ ที่ส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
.
ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของฮิปโปจริงๆ จะอยู่ในแถบแอฟริกา และจำนวนฮิปโปตามธรรมชาติลดลงไปเรื่อยๆ ยกเว้นที่ ‘โคลอมเบีย’ ประเทศแถบลาตินอเมริกา กลับมีปัญหาฮิปโปแพร่พันธุ์เยอะเกินไป
.
เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้?
.
ต้นตอของเรื่องมาจาก ปาโบล เอสโกบาร์ (Pablo Escobar) เจ้าพ่อแก๊งค้ายาเสพติดระดับตำนาน ซึ่งใช้ชีวิตหรูหราประสามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากอาชญากรรมทั่วไป คือครอบครองทั้งคฤหาสน์ รถยนต์ ผู้หญิง และทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ แต่สิ่งที่กลายเป็นปัญหาในเวลาต่อมาคือ ‘สวนสัตว์ส่วนตัว’ ของเขาในเมืองปวยร์โตตรีอุนโฟ (Puerto Triunfo) ซึ่งมีการนำเข้าฮิปโปจากต่างประเทศมา 4 ตัว ช่วงทศวรรษ 1980
.
พอถึงปี 1993 เอสโกบาร์ถูกตำรวจยิงตาย ของกลางและทรัพย์สินต่างๆ ถูกยึดไป แต่สมาชิกบางส่วนในสวนสัตว์ถูกปล่อยให้อยู่ในเขตคฤหาสน์เหมือนเดิม ทำให้ฮิปโปทั้ง 4 ตัวซึ่งมีทั้งตัวผู้ตัวเมีย ออกลูกออกหลานมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีทั้งหมด 136 ตัว และกลายเป็นฝูงฮิปโปที่ใหญ่ที่สุดนอกทวีปแอฟริกา
.
หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาตามมาอีกหลายเรื่อง แต่หลักๆ คือประชากรฮิปโปนับร้อยที่มีขนาดตัวมหึมาต้องกินอาหารเป็นจำนวนมาก และระบบนิเวศตามธรรมชาติของท้องถิ่นถูกฮิปโปเหล่านี้ทำลายเสียหายไปไม่น้อย และคนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงก็เจอปัญหาฮิปโปบุกบ้านเรือน และเคยมีกรณีที่คนถูกฮิปโปวิ่งไล่จนบาดเจ็บรุนแรง เพราะถึงแม้ฮิปโปจะดูเหมือนสัตว์ที่ไม่มีพิษมีภัย แต่จริงๆ แล้วสัญชาตญาณในการต่อสู้ของมันไม่ได้เป็นรองสัตว์นักล่าสายพันธุ์อื่นๆ เลย
.
ทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่โคลอมเบีย ‘ทำอะไรไม่ได้’ เพราะฮิปโปเป็นสัตว์คุ้มครอง ซึ่งตามหลักกฎหมายสากลคือห้ามล่า แต่จะหาที่อยู่ให้ใหม่ก็ลำบาก เพราะไม่มีพื้นที่เพียงพอ และต้นทุนค่าขนย้ายสัตว์ตัวใหญ่อย่างฮิปโปร้อยกว่าตัวก็สูงมาก
.
เมื่อเดือนมีนาคม 2022 รัฐบาลโคลอมเบียก็เลยประกาศว่า ฮิปโปเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่น (Alien Invasive Species) ซึ่งที่ทำแบบนี้ก็เพื่อจะเปิดทางให้ภาครัฐหาทางกำจัดหรือควบคุมได้โดยไม่ผิดกฎหมายสากล โดยหนทางหนึ่งที่รัฐบาลโคลอมเบียตั้งใจว่าจะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาประชากรฮิปโปล้นเกินก็คือ เสนอให้ทำหมันตัวผู้ให้หมด เพื่อตัดวงจรการเกิดใหม่ของลูกๆ ฮิปโป
.
แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกคัดค้านจากนักอนุรักษ์อยู่ดีว่าเป็นการละเมิดสิทธิสัตว์ แถมฮิปโปยังเป็นสัตว์ที่มีสถานะสัตว์คุ้มครองด้วย แต่ถึงจะไม่มีใครคัดค้าน การจับฮิปโปทำหมันก็ต้องใช้เงินราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัว ทั้งยังต้องใช้สัตวแพทย์และผู้ช่วยอีกจำนวนมาก รวมถึงรถเครนที่จะใช้เคลื่อนย้ายฮิปโป ทั้งหมดก็เป็นเงินก้อนใหญ่ ซึ่งคนโคลอมเบียจำนวนมากก็ไม่พอใจที่งบประมาณต้องถูกเจียดไปใช้กับเรื่องที่มีต้นตอมาจากเจ้าพ่อยาเสพติด ทำให้โครงการทำหมันฮิปโปยังไม่เกิดขึ้นจริง
.
ไม่กี่วันก่อนจะถึงวันฮิปโปโลกปี 2023 ทางการโคลอมเบียจึงประกาศว่า ในการประชุมความหลากหลายด้านสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าโลกที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ รัฐบาลจะเสนอปัญหาฮิปโปต่อที่ประชุม เพื่อให้แต่ละประเทศทบทวนเงื่อนไขของการจัดการสัตว์คุ้มครอง เพราะกรณีที่สัตว์คุ้มครองกลายเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่นก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
.
อย่างไรก็ดี ถ้าไปถามนักอนุรักษ์ส่วนใหญ่ ก็มักจะมีคำแนะนำว่าการป้องกันสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่ได้ผลที่สุดก็คือ “อย่านำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาตั้งแต่แรก” แต่เรื่องนี้นำมาใช้กับกรณีฮิปโปของเอสโกบาร์ไม่ได้ เพราะปัญหามาไกลกว่านั้นมากแล้ว
.
เรื่องนี้จะหาข้อตกลงได้หรือไม่ ก็ต้องรอดูในเวทีประชุมนานาชาติปลายปี 2023 เลย
.
อ้างอิง: Boing Boing. Pablo Escobar's hippos need tooth filling, castration. https://bit.ly/3EcsGjd
BrandThink. ฮิปโปฯ ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติ เพราะเขี้ยวของมันขายดีเกินไป. https://bit.ly/3Xwls0n
China Daily. Colombia grapples with hippo problems for farmers and environment. https://bit.ly/3I4FNUT
The Nature Conservancy. Invasive Species: What You Can Do. https://bit.ly/2Gl9nFP
 
 
 
Visitors: 1,212,830