เจาะความหมาย ESG คืออะไร กับนิยามใหม่เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน

เจาะความหมาย “ESG” คืออะไร กับนิยามใหม่เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน

แนวคิด “ESG” เป็นแนวคิดที่ย่อมาจากคำว่า Environment, Social, และ Governance ซึ่งคำว่า ESG ก็คือ แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้หวังเพียงแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลด้วยเช่นกัน โดยในปัจจุบันนี้เทรนด์ธุรกิจดังกล่าว ต่างก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งนักลงทุนบุคคล (Individual Investor) และนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ที่ให้ความสำคัญต่อวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันต่างก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ธุรกิจที่มี ESG จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพขององค์กร ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลได้อย่างชัดเจน 

เจาะลึกความหมายของ ESG ที่แท้จริง ว่ามีอะไรบ้าง?​ 

หลักการของ ESG คือ แนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ที่บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ นำมาปรับใช้ปฏิบัติ ภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยทุก ๆ อย่างล้วนมีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกันทั้งสิ้น เพื่อนำไปสู่การทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการตัดสินใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและนักลงทุน ที่ใช้หลักการดังกล่าวนี้มาประกอบการพิจารณาลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ ทั้งยังช่วยให้ประเมินการดำเนินงานของบริษัทได้อย่างประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตขององค์กรเช่นเดียวกัน 

“E” Environment หรือ สิ่งแวดล้อม 

ความหมายของ E จากแนวคิด ESG ย่อมาจากคำว่า Environment หรือ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันนี้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่าง ต่างก็เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติมากน้อยเพียงใดก็ตาม จึงนำมาสู่การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น จึงนำมาสู่การประเมินจากตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดปริมาณการใช้กระดาษ การหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานทดแทน การรีไซเคิล ฯลฯ เช่นเดียวกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในไทย ที่ช่วยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ ที่หันมาใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่นเดียวกับการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger)​ ที่มีความครอบคลุมมากขึ้นเช่นกัน 

“S” Social หรือ สังคม 

โดยความหมายของ S ของ ESG ก็มาจากคำว่า Social หรือก็คือการจัดการด้านสังคม ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์กันทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งธุรกิจที่ดีจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น และได้รับความไว้วางใจต่อนักลงทุน รวมถึงลูกค้าที่เลือกใช้สินค้าหรือบริการ โดยเกณฑ์ที่ใช้ประเมินก็มีความหลากหลายเช่นกัน อาทิ ความเป็นอยู่ของแรงงาน ค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม และที่ขาดไม่ได้คือ การให้ความสำคัญต่อกฎหมายแรงงานและหลักสิทธิมนุษยชน เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยก

“G” Governance หรือ ธรรมาภิบาล

และตัวความหมายสุดท้ายของ G จากแนวคิด ESG ย่อมาจาก Governance หมายถึง การจัดการด้านธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาล โดยจะมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ โดยต้องมีการตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลัก ๆ แล้วคือการเปิดเผยนโยบายและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา อาทิ การจัดการด้านภาษี โครงสร้างผู้บริหาร ความปลอดภัยของข้อมูลทางไซเบอร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นถึงความโปร่งใสของธุรกิจ ที่บางองค์กรอาจจะใช้วิธีการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เป็นต้น 

ESG สำคัญอย่างไรต่อภาคธุรกิจและสังคม?

จากรายงานความเสี่ยงประจำปี 2021 จาก World Economic Forum (WEF) นั้น ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า สภาพอากาศและความล้มเหลวจากการจัดการด้านภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ตลอดจนความปลอดภัยทางไซเบอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อวิกฤตในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และวิกฤตดังกล่าวนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นภายในสิบปีข้างหน้า เช่นเดียวกับการก้าวเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ที่ทาง UN ได้ประกาศออกอย่างเป็นทางการ พร้อมการสิ้นสุดปัญหา “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ที่เราคุ้นชินกัน ซึ่งความหมายของคำว่าภาวะโลกเดือดก็คือ การก้าวเข้าสู่ยุคที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ อุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียส 

การก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด บวกกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำนี้เอง จึงกลายเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามของมนุษยชาติ ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญ IPCC ที่ได้ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ก็ได้เขียนรายงานฉบับล่าสุด (IPCC AR6-2022) พร้อมแนะนำหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเองก็ได้หันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีมาตรการการปรับตัว (Adaptation) เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคตเช่นกัน อาทิ การส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย สภาพจิตใจ รวมถึงพัฒนาการของเด็ก ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดนี้โดยตรง  

ดังนั้น แนวคิดของ ESG จึงเป็นเมกะเทรนด์ (Mega Trend) ปี 2023 ที่ภาคธุรกิจต่างก็หันมาเริ่มต้นใช้แนวคิดนี้ และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากที่สุด เพราะไม่ใช่แค่การให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอง ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการลงทุนที่เน้นความยั่งยืน ย่อมส่งผลต่อผลตอบแทนที่มากขึ้น ตรงกับผลการศึกษาจาก Financial Planning Association 2023 ที่ได้สำรวจจากผู้ให้คำแนะนำทางการเงินจำนวน 242 ราย พบว่าในปี 2063 นักลงทุนหันมาลงทุนแบบ ESG มากขึ้น 

ซึ่งในปัจจุบันก็มีการจัดตั้งดัชนีความยั่งยืนเพื่อชี้วัดว่าธุรกิจนั้น ๆ สอดคล้องกับแนวคิด ESG มากน้อยแค่ไหน โดยในประเทศไทยได้จัดตั้งเกณฑ์ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน” (Thailand Sustainability Investment : THSI) เพื่อจำกัดบริษัทที่ผ่านการประเมินทั้ง 3 มิติของ ESG นั่นเอง ทั้งนี้ ในปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมได้ประกาศผลการประเมินในรูปแบบของ ESG Ratings เป็นปีแรก โดยบริษัทที่ผ่านการประเมินจะต้องมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติ โดยจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด อาทิ ผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

“เพราะเหตุนี้เอง การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแนวคิด ESG จึงเป็นการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินกิจการ ภายใต้การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ที่จะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอในระยะยาวได้” 





Visitors: 1,433,003