ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ ทัวร์ลง เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ทัวร์ลง คือการคอมเมนต์ในปัจจุบันที่มีล้อเลียน/เสียดสี แต่การที่คนไทยถกเถียงกันไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทัวร์พวกนี้มาจากอะไร เรามาดูต้นตอกันว่าทัวร์ลงเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง เรามาย้อนดูสถิติคนไทยกัน

ทัวร์ลง เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นบนสังคมโซเชียลมีเดียทั้งของไทยและโลก อันมาพร้อมกับความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการ ‘แบน’ ที่เพิ่งจะก่อตัวและแพร่หลายหลังเหตุการณ์ #MeToo

ซึ่งเริ่มต้นจากการแสดงออกเพื่อต่อต้านการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในวงการฮอลลีวูด ในไทยเองมีการนิยามคำว่า ทัวร์ลง ในวิกิพจนานุกรม พจนานุกรมเสรีที่ดำเนินการโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย ไว้ว่า “โดนคนรุมแสดงความเห็นเชิงลบในสื่อสังคม” อย่างไรก็ตาม ลักษณะ โครงสร้าง และข้อสังเกตที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียของไทยยังไม่ค่อยมีการศึกษามากนัก

จากบทความเรื่อง ทัวร์ลง ในกรุงเทพธุรกิจ โดย นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ให้นิยามของปรากฏการณ์ทัวร์ลงไว้คร่าวๆ ว่า 

“ทัวร์ลง ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่นหรือผู้ใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่โดยเฉพาะในทวิตเตอร์จำนวนมากเข้ามาโพสต์และ/หรือมาดู รูป วิดีโอ และเขียนความคิดเห็น และเขียนความคิดเห็น ในประเด็นต่างๆ ที่เป็นที่สนใจในสังคมขณะนั้น"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประเด็นที่คนที่อยู่ในกลุ่มรู้สึกไม่พอใจและอยากที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จำนวนของคนที่เข้าไปดู คุยกันหรือคอมเมนต์นั้นจะต้องมีจำนวนมาก และมักจะติดอันดับสูงที่สุด 10 อันดับ ในขณะนั้น ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นเรื่องทางการเมืองและสังคมที่เป็นเรื่อง Controversy คือมีความเห็นที่แตกต่างกันสูงในสังคมของไทย” 

 

เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่นับวันจะมีมากขึ้นจนเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย Rocket Media Lab จึงเก็บข้อมูลรวบรวมปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ

ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 จนถึง 31 ธันวาคม 2565 รวมเป็นเวลา 193 วัน (6 เดือน 10 วัน) และนำมาจัดหมวดหมู่ โครงสร้าง ลักษณะ และแยกรายละเอียดต่างๆ เพื่อสำรวจปรากฏการณ์ที่เรียกว่าทัวร์ลงในโซเชียลมีเดียในไทยให้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

ทัวร์ลง ในที่นี้ หมายถึงการที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก หรือจำนวนมากผิดปกติจากที่พื้นที่นั้นเคยมีอยู่ เข้ามาเพื่อคอมเมนต์ในเชิงต่อต้าน ด่าทอ เสียดสีหรือคอมเมนต์ในเชิงลบ ในประเด็นที่มีการโต้เถียงกัน จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งที่มีส่วนได้เสียหรือไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนั้น ที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก อินสตาแกรม ยูทูบ และเว็บบอร์ด

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล สามารถรวบรวมสิ่งที่เรียกว่า ทัวร์ลง ได้ 177 เรื่อง จากนั้นนำเอา 177 เรื่องนี้มาแบ่งหมวดหมู่ของเรื่อง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 8 หมวด ได้แก่ 

1. หมวดบันเทิง เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปินดารานักร้อง บุคคลในวงการบันเทิง รวมไปถึงผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลมีเดีย 

2. หมวดการเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 

3. หมวดสังคม เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต การปฏิสัมพันธ์ และบรรทัดฐานทางสังคมต่อเหตุการณ์ต่างๆ 

4. หมวดธุรกิจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและการบริการ 

5. หมวดการศึกษา เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งในสถานศึกษาและแนวคิดทางวิชาการ 

6. หมวดวัฒนธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ ศีลธรรม วัฒนธรรมต่างๆ 

7. หมวดวิทยาศาสตร์/การแพทย์ เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สาธารณสุข

8. หมวดนโยบายรัฐ เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ ที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน แก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

เมื่อแยกหมวดหมู่ของเรื่องจากทั้ง 177 เรื่องที่ทำการเก็บข้อมูลได้แล้ว จากนั้น Rocket Media Lab ได้สำรวจแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบจากโพสต์ที่โดนทัวร์ลง โดยสามารถจำแนกออกเป็น 16 แนวคิด คือ 

1. ทัศนคติทางการเมือง เป็นเรื่องมุมมองด้านทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน เชียร์คนละพรรค หรือเชียร์คนละนโยบาย หมายรวมถึงบุคคลทางการเมืองด้วย 

2. ความเหมาะสม เป็นมุมมองต่อการกระทำที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมองว่าเหมาะสมหรือไม่ สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ 

3. ความเหลื่อมล้ำ เป็นการถกเถียงเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคมทั้งด้านเศรษฐกิจ ชนชั้น การศึกษา 

4. ปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ เป็นการแสดงความเห็นปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในแวดวงใดก็ตาม 

5. จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นการตั้งคำถามกับความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม ไม่ผิดแก่จรรยาบรรณของตน 

6. ทัศนคติทางเพศ เป็นการตั้งคำถามต่อมุมมองทางเพศของบุคคล 

7. สิทธิมนุษยชน เป็นการตั้งคำถามต่อมุมมองเรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 

8. ส่อทุจริต เป็นการตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลในการประกอบธุรกิจ หรือการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

9. ความเห็นไม่ตรงกัน เป็นเรื่องการถกเถียงกันของกลุ่มคนที่มีฐานคิดของข้อถกเถียงที่ต่างกันในประเด็นนั้นๆ 

10. anti-woke เป็นแนวคิดที่ต่อต้านกระแสการตื่นตัวต่อเรื่องอคติและการเลือกปฏิบัติในสังคม โดยมองว่าเป็นแนวคิดที่ล้นเกิน 

11. ความโปร่งใส เป็นการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมหรือนโยบายของรัฐ 

12. ชาตินิยม เป็นการถกเถียงกันภายใต้แนวคิดชาตินิยม 

13. ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม เป็นการถกเถียงกันเรื่องศาสนา ความเชื่อ หรือความประพฤติที่มีศาสนามาเกี่ยวข้อง 

14. ทัศนคติทางเชื้อชาติ เป็นการถกเถียงต่อการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยแบ่งแยกเชื้อชาติ ในที่นี้รวมไปถึงการแบ่งแยกตามตามภูมิศาสตร์ของประเทศ เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง 

15. วิทยาศาสตร์ ในที่นี้เป็นการถกเถียงเรื่องของการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข เรื่องสุขอนามัยต่างๆ

16. สิ่งแวดล้อม ในที่นี้เป็นการถกเถียงเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด อาทิ ใช้ให้น้อยแต่คุ้มค่า ใช้ให้เหมาะสม ใช้อย่างมีเหตุผล 

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

จากนั้นก็สำรวจลักษณะคอมเมนต์ที่เกิดขึ้นในโพสต์ที่โดนทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง โดยสามารถแบ่งลักษณะคอมเมนต์ออกเป็น 4 แบบ คือ 

1. ล้อเลียน/เสียดสี หมายถึง การที่ทัวร์เข้ามาคอมเมนต์ในเชิงล้อเลียน เสียดสี ยั่วเย้า หรือประชดประชันต่อผู้ถูกทัวร์ หรือต่อเหตุการณ์นั้นๆ 

2. ด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียน หมายถึง การที่ทัวร์เข้ามาด่าทอ ตำหนิ ผู้ถูกทัวร์ด้วยคำหยาบคาย

3. สนับสนุน/ปกป้อง หมายถึงการที่ทัวร์เข้ามาคอมเมนต์ปกป้องบุคคลในเหตุการณ์ หรือคอมเมนต์เชิงสนับสนุนบุคคลในเหตุการณ์ที่มีทัวร์ลงเกิดขึ้น

4.โต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ หมายถึง การที่ทัวร์เข้ามาโต้แย้งเหตุการณ์ หรือประเด็นนั้นๆ ด้วยเหตุผล หรือหลักการอื่นๆ ที่ไม่ใช่หลักการเดียวกันกับต้นโพสต์ 

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

จากนั้น ยังได้สำรวจปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 6 แบบ ดังนี้

1.ไม่ได้ทำอะไร หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงไม่ได้ออกมาชี้แจง อธิบาย หรือแก้ไขใดๆ เพียงปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นและจบลงไปเฉยๆ

2. ออกมาอธิบาย/ชี้แจง หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลง ออกมาเขียนอธิบายหรือชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้น ในที่นี้หมายถึงการเขียนโพสต์ใหม่เพื่ออธิบายเหตุการณ์โดยเฉพาะ หรือไลฟ์สดอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ

3. ลบ/แก้ไข/ปิดคอมเมนต์ หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงออกมาลบ แก้ไข และปิดคอมเมนต์โพสต์ที่เป็นต้นตอของสิ่งที่ทำให้เกิดทัวร์ลง 

4. ออกมาขอโทษ หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงออกมาเขียนโพสต์ ไลฟ์สด อัดคลิป หรือแถลงข่าวขอโทษ โดยในที่นี้นับเฉพาะกรณีที่ระบุคำขอโทษ และกรณีที่มีการยอมรับผิด 

5. มีการฟ้องร้องกัน หมายถึง ผู้ที่ถูกทัวร์ลงฟ้องร้องคู่กรณี รวมไปถึงถูกจับกุม หรือถูกดำเนินคดีด้วย

6. ยกเลิก/ลาออก หมายถึง เหตุการณ์ที่ถูกทัวร์ลงนั้น มีการยกเลิกงาน หรือมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

สุดท้าย คือการสำรวจเส้นทางการมาของทัวร์ว่ามีรูปแบบอย่างไร โดยสามารถจำแนกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 

1. ทัวร์ลงที่ต้นเรื่อง หมายถึง บุคคลต้นเรื่องก่อให้เกิดทัวร์ลงด้วยตนเอง โพสต์เอง และภายหลังทัวร์ลงที่โพสต์นั้น 

2. ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่อง หมายถึง บุคคลต้นเรื่องโพสต์หรือทำบางสิ่งบางอย่าง ต่อมามีบุคคลหรือสื่อนำเรื่องราวไปขยายต่อ ทัวร์จึงกลับมาหาบุคคลต้นเรื่องหรือโพสต์นั้นๆ 

3. ทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่อง หมายถึง มีบุคคลหรือสื่อนำเรื่องราวไปรายงาน/เขียนถึงในที่สาธารณะ ต่อมามีทัวร์ไปลงในพื้นที่ที่มีการเขียนรายงานถึง 

4. ทัวร์ลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับต้นเรื่อง หมายถึง มีเรื่องราวหรือเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ทัวร์ไม่ทราบพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลที่จะถูกทัวร์ลง ต่อมาทัวร์จึงไปลงในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นต้นเรื่องแทน

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ในหมวดบันเทิงซึ่งมีทัวร์ลงมากที่สุด พบว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดคือปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ จำนวน 14 เรื่อง รองลงมาคือ ความเหมาะสม 11 เรื่อง ตามมาด้วย ความเหลื่อมล้ำ 9 เรื่อง โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบน้อยที่สุดคือเรื่องความโปร่งใส จำนวน 1 เรื่อง ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม 1 เรื่อง สิ่งแวดล้อม 1 เรื่อง และสิทธิมนุษยชน 1 เรื่อง

อันดับสองคือหมวดการเมือง โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดคือทัศนคติทางการเมือง จำนวน 34 เรื่อง ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ จำนวน 1 เรื่อง ชาตินิยม 1 ทัศนคติทางเพศ 1 เรื่อง และปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ 1 เรื่อง ตัวอย่างทัวร์ลงในหมวดหมู่การเมืองที่ใช้ทัศนคติทางการเมืองในการโต้ตอบ

อันดับที่สามคือหมวดสังคม โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดเป็นเรื่องความเหมาะสม 11 เรื่อง ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ 4 เรื่อง สิทธิมนุษยชน  4 เรื่อง และที่พบน้อยที่สุดเป็นเรื่องทัศนคติทางเพศ 1 เรื่อง ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม 1 เรื่อง สิ่งแวดล้อม 1 เรื่องและ anti-woke จำนวน 1 เรื่อง ตัวอย่างทัวร์ลงในหมวดหมู่สังคมที่ใช้แนวคิดเรื่องความเหมาะสมในการตอบโต้

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้เรื่องทัวร์ลงจะเกิดขึ้นในหมวดบันเทิงมากที่สุด ซึ่งในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนบันเทิงยังเป็นจุดสนใจของคนในสังคมเสมือนดังเช่นข่าวบันเทิงทั่วไป หรือคนบันเทิงที่มีแฟนคลับให้การสนับสนุน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบมากที่สุดในหมวดบันเทิงคือการปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ ซึ่งก็คือการที่แฟนคลับเป็นตัวการหลักในความเคลื่อนไหวของทัวร์ลงในแต่ละครั้ง 

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบรองลงมาในหมวดบันเทิงคือความเหมาะสม ซึ่งมีจำนวนไม่ห่างจากอันดับหนึ่งมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่คนที่สนใจข่าวดาราหรือแฟนคลับเท่านั้น ที่เป็นตัวการในการขับเคลื่อนทัวร์ลงในหมวดบันเทิง

แต่ยังอาจหมายรวมคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องราวของดาราหรือเป็นแฟนคลับ แต่ขึ้นขบวนรถทัวร์พร้อมกับแนวความคิดเรื่องความเหมาะสม มีเกณฑ์บรรทัดฐานทางสังคมบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมารยาท จริยธรรม ฯลฯ เพื่อตัดสินการกระทำของผู้ที่ถูกทัวร์ลง ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวผู้คนทั่วไปกับการทัวร์ลงในหมวดหมู่บันเทิง โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ เป็นการเฉพาะเช่นการเป็นแฟนคลับ

มากไปกว่านั้นก็คือ แม้จะเป็นทัวร์ลงในหมวดหมู่บันเทิง แต่เรายังได้เห็นการโต้ตอบของทัวร์โดยใช้แนวคิดอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เช่น กรณีของดีเจภูมิกับเรื่องส้มตำจานละ 600 บาทที่ออสเตรเลีย หรือกรณีของโตโน่กับเรื่องการใช้อุโมงค์ว่ายน้ำที่จุฬาฯ ซ้อมว่ายน้ำก่อนจะว่ายจริงในแม่น้ำโขง

หรือแม้กระทั่งประเด็นเรื่องความโปร่งใส, ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม, สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดเชิงสังคมที่ถูกนำมาใช้โต้ตอบในขบวนทัวร์ลง แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ของหมวดบันเทิงก็ตาม

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ทัศนคติทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่ใช้โต้ตอบถกเถียงกันมากที่สุด แนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบ

ทัศนคติทางการเมือง 43 เรื่อง 24.29%

ความเหมาะสม 23 เรื่อง 12.99%

ความเหลื่อมล้ำ 20 เรื่อง 11.30%

ปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบ 16 เรื่อง 9.04%

จรรยาบรรณวิชาชีพ 14 เรื่อง 7.91%

ทัศนคติทางเพศ 12 เรื่อง 6.78%

สิทธิมนุษยชน 10 เรื่อง 5.65%

ส่อทุจริต 8 เรื่อง 4.52%

ความเห็นไม่ตรงกัน 5 เรื่อง 2.82%

anti-woke 5 เรื่อง 2.82%

ความโปร่งใส 4 เรื่อง 2.26%

ชาตินิยม 4 เรื่อง 2.26%

ศาสนา/ความเชื่อ/ศีลธรรม 4 เรื่อง 2.26%

ทัศนคติทางเชื้อชาติ 3 เรื่อง 1.69%

วิทยาศาสตร์ 3 เรื่อง 1.69%

สิ่งแวดล้อม 3 เรื่อง 1.69%

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ จะพบว่ามีการใช้แนวความคิดเรื่องทัศนคติทางการเมืองมากที่สุด จำนวน 43 เรื่อง คิดเป็น 24.29% รองลงมาคือความเหมาะสม 23 เรื่อง คิดเป็น 12.99% ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ 20 เรื่อง คิดเป็น 11.30% โดยแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบที่พบน้อยที่สุดคือทัศนคติทางเชื้อชาติ วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม อย่างละ 3 เรื่อง คิดเป็นเรื่องละ 1.69% เท่ากัน

จากแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองมากที่สุด จำนวน 43 เรื่อง เมื่อนำมาพิจารณาต่อจะพบว่าอยู่ในหมวดการเมืองมากที่สุด จำนวน 34 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดบันเทิง 5 เรื่อง และหมวดสังคม 2 เรื่อง

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้ปรากฏการณ์ทัวร์ลง 177 เรื่องที่มีการเก็บข้อมูลนั้นอยู่ในหมวดบันเทิงมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองมากที่สุด ทำให้อาจจะกล่าวได้ว่า ที่จริงแล้วในการโต้ตอบถกเถียงกันในทัวร์ลงมาจากทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เรื่องทัศนคติทางการเมืองจึงอาจจะเป็นชนวนถกเถียงที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทัวร์ลงมากที่สุดก็ว่าได้ 

ไม่เพียงแค่นั้น จากข้อมูลยังเห็นได้ว่ายังมีการใช้แนวความคิดทางสังคมอื่นๆ อีกหลากหลายในการโต้ตอบในปรากฏการณ์ทัวร์ลง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องทัศนคติทางเพศ สิทธิมนุษยชน anti-woke ทัศนคติทางเชื้อชาติ หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

ซึ่งอาจจะเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าสังคมในปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญกับ ‘คุณค่า’ แบบใด และต้องการจะผลักดันแนวความคิดหรือคุณค่าใหม่ๆ ทางสังคมให้กลายเป็นที่ยอมรับเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่ทุกคนควรยึดถือหรือให้การเคารพ ผ่านการนำเอาแนวความคิดนั้นๆ มาใช้ในการโต้ตอบในการนำทัวร์ไปลง และทำให้สามารถมองไปได้อีกว่า

ในอีกนัยหนึ่งปรากฏการณ์ทัวร์ลงจึงไม่ใช่แค่คนในโซเชียลมีเดียทะเลาะกันจากความเห็นไม่ตรงกัน แต่มันคือปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่กำลังจะขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนทัศนคติและการให้คุณค่าในประเด็นใดประเด็นหนึ่งให้เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับในสังคมปัจจุบัน 

ทัวร์ลงเพื่อถกเถียง หรือลงเพื่อล้อเลียนเสียดสี? 

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ลักษณะคอมเมนต์ 4 ประเภทของทัวร์ที่มาลงที่พบจากปรากฏการณ์ทัวร์ลง *1 เหตุการณ์อาจมีลักษณะคอมเมนต์มากกว่า 1 แบบ 

การล้อเลียน/เสียดสี 115 เรื่อง 29.49%

ด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียน 97 เรื่อง 24.87%

เข้ามาสนับสนุน/ปกป้อง 92 เรื่อง 23.59%

โต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ 43 เรื่อง 11.03%

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์ จะพบว่าลักษณะที่พบมากที่สุดคือ การล้อเลียน/เสียดสี จำนวน 115 เรื่อง คิดเป็น 29.49% รองลงมาคือด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียน 97 เรื่อง คิดเป็น 24.87% ตามด้วยการเข้ามาสนับสนุน/ปกป้อง 92 เรื่อง คิดเป็น 23.59% และที่พบน้อยที่สุดคือคอมเมนต์ในเชิงโต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ 43 เรื่อง คิดเป็น 11.03% 

ในหมวดวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่พบเพียง 1 เรื่องเท่านั้น เป็นเรื่องของทัวร์ที่ลงเพจ สื่อมวลชนอย่าง Spectrum หลังลงบทสัมภาษณ์บุคคลที่ตัวเองรู้สึกไม่เข้ากับสังคม เพราะมีสิว และเป็นเพราะสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้เธอต้องทำตัวตามมาตรฐานผู้หญิง

ซึ่งความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบเป็นเรื่อง anti-woke โดยมองว่าข้อความที่ผู้ให้สัมภาษณ์พูดไม่สอดคล้องกัน เป็นการตื่นรู้เกินความเป็นจริง พร้อมอธิบายว่า สิวนั้นเกิดได้กับทุกเพศและการรักษาสิวคือการดูแลสุขอนามัย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องชายเป็นใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำภาพโควทข้อความจากบทสัมภาษณ์ไปล้อเลียนต่อในเพจอื่นๆ 

นอกจากนี้หากพิจารณาลักษณะคอมเมนต์ของทัวร์ ควบคู่ไปกับแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ ก็จะเห็นได้ว่า ลักษณะคอมเมนต์แบบด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียน พบแนวคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบคือเรื่องทัศนคติทางการเมือง 16 เรื่อง รองลงมาคือความเหมาะสม 15 เรื่อง ตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำ 11 เรื่อง เช่น กรณีของเพจวิ่งตามชีวิต พลทหาร โพสต์ภาพถาดอาหารทหารที่เต็มไปด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีหน้าตาที่น่ารับประทาน

ส่วนลักษณะคอมเมนต์ประเภทโต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ นั้นพบแนวคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบมากที่สุดยังเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมือง 12 เรื่อง รองลงมาคือความเหลื่อมล้ำ 8 เรื่อง ความเหมาะสม 4 เรื่อง ทัศนคติทางเพศ 4 เรื่อง

ลักษณะคอมเมนต์ประเภทล้อเลียน/เสียดสีนั้น พบแนวคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบมากที่สุดคือเรื่อง ทัศนคติทางการเมือง 34 เรื่อง ตามมาด้วย ความเหลื่อมล้ำ 16 เรื่อง ความเหมาะสม 11 เรื่อง

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าลักษณะคอมเมนต์ที่พบมากที่สุดคือการล้อเลียน/เสียดสี ทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะผู้ใช้โซเชียลมีเดียในขบวนทัวร์ปกป้องตนเองจากการถูกฟ้อง จึงทำเพียงเข้าไปคอมเมนต์ในเชิงล้อเลียน/เสียดสีเพื่อทำให้ผู้ถูกทัวร์ลงรู้สึกอับอายเพียงเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับในส่วนของปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลง ที่พบว่าประเด็นของทัวร์ลงที่มีคอมเมนต์ในลักษณะด่าทอด้วยคำหยาบคายเป็นส่วนมาก มักก่อให้เกิดการฟ้องร้องตามมา

นอกจากนั้นยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกว่า การที่ลักษณะคอมเมนต์ที่พบมากที่สุดคือการล้อเลียน/เสียดสี ทำให้เห็นถึงรูปแบบของปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียของไทย กล่าวคือ ความเคลื่อนไหวที่เรียกว่าทัวร์ลงนี้ เมื่อพิจารณาจากคอมเมนต์จะเห็นว่าไม่ได้มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน เป็นเพียงการล้อเลียน เสียดสีหรือด่าทอเสียมากกว่า ไม่ได้นำไปสู่ปฏิบัติการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงแค่บางกรณีเท่านั้น ที่ปรากฏการณ์ทัวร์ลงมาพร้อมด้วยข้อเรียกร้องบางอย่างในลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า Cancel Culture หรือมีข้อเรียกร้องให้ ‘แบน’ เช่น กรณีของตู้เต่าบิน, แบนนันยาง หรือแบนลีน่าจัง 

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

ยิ่งด่าทอด้วยคำหยาบคายมากเท่าไร ยิ่งมีสิทธิถูกฟ้องมากขึ้นเท่านั้น ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลง 6 แบบจากปรากฏการณ์ทัวร์ลง

ไม่ได้ทำอะไร 84 เรื่อง 43.98%

ออกมาอธิบาย/ชี้แจง 50 เรื่อง 26.18%

ลบ/แก้ไข/ปิดคอมเมนต์โพสต์ 33 เรื่อง 17.28%

ออกมาขอโทษ 17 เรื่อง 8.90%

มีการฟ้องร้องกัน 5 เรื่อง 2.62%

ยกเลิก/ลาออก 2 เรื่อง 1.05%

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลง พบว่า ไม่ได้ทำอะไรมากที่สุด 84 เรื่อง คิดเป็น 43.98% รองมาคือออกมาอธิบาย/ชี้แจง จำนวน 50 เรื่อง คิดเป็น 26.18% อันดับที่สามคือลบ/แก้ไข/ปิดคอมเมนต์โพสต์ จำนวน 33 เรื่อง คิดเป็น 17.28% โดยปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบน้อยที่สุดคือการยกเลิก/ลาออก พบเพียง 2 เรื่อง คิดเป็น 1.05% จากทั้งหมด

จากปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบมากที่สุดคือการไม่ทำอะไรเลย พบมากที่สุดในแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบเรื่องทัศนคติทางการเมือง ซึ่งพบมากในหมวดการเมือง รองลงมาคือเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งพบมากที่สุดในหมวดบันเทิง

เช่น ในเรื่องเพจเฟซบุ๊กการบินไทย โพสต์ประชาสัมพันธ์ขอบคุณเจ้าหนี้ที่ให้ความเชื่อมั่นและยอมรับการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงมอบโอกาสให้การบินไทยได้ดำเนินธุรกิจ เพื่อกลับมาเป็นองค์กรที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยและคนไทย

ภายหลังเผยแพร่โพสต์ มีผู้ใช้โซเชียลที่ระบุว่าเป็นลูกหนี้ไปทวงหนี้และทวงถามการคืนค่าตั๋วจำนวนมาก โดยมากล้วนโพสต์ถึงทัศนคติทางการเมืองของการบินไทยว่าไม่เป็นกลางทางการเมืองจากกรณีให้กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. จังหวัดสงขลาซื้อตั๋วเครื่องบินการบินไทยแบบเหมาลำเพื่อให้ผู้ชุมนุมร่วมเดินทางชัตดาวน์ ที่กรุงเทพฯ ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม เพจการบินไทยก็ไม่ได้ออกมาทำอะไรเพิ่มเติม 

ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบรองลงมาคือออกมาอธิบาย/ชี้แจง จำนวน 50 เรื่อง ซึ่งพบมากที่สุดในเรื่องความเหมาะสม 10 เรื่องซึ่งพบมากในหมวดบันเทิง ตามมาด้วยเรื่องทัศนคติทางการเมือง 9 เรื่องซึ่งพบมากในหมวดการเมือง

เช่น เรื่องทัศนคติทางการเมือง จากกรณีของตู้เต่าบินที่กรุงเทพธุรกิจเปิดเผยว่าบริษัทผู้ผลิตตู้เต่าบินเกี่ยวข้องกับตระกูลชิดชอบและมีความสัมพันธ์กัน การชี้ช่องดังกล่าวทำให้เกิดแฮชแท็ก #แบนตู้เต่าบิน ในทวิตเตอร์เพื่อถกเถียงประเด็นนี้ ภายหลังบริษัทผู้ผลิตตู้เต่าบินออกมาแถลงว่าไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลชิดชอบ 

ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่มีการขอโทษ จำนวน 16 เรื่อง พบในหมวดสังคมมากที่สุด จำนวน 7 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดบันเทิง 5 เรื่อง หมวดธุรกิจ 2 เรื่อง หมวดการเมือง 2 เรื่อง หมวดวิทยาศาสตร์/การแพทย์ 1 เรื่อง และไม่พบเลยในหมวดการศึกษา นโยบายรัฐ วัฒนธรรม ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบพบประเภทใดที่พบมากที่สุดจากเนื้อเรื่องทั้งหมด พบว่าเป็นเรื่องความเหมาะสมมากที่สุด เช่น กรณีของแฮชแท็กอย่าง #ฝึกงานแบไต๋ ที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์

โดยเกิดจาก หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ หนุ่ยแบไต๋ ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กฝึกงานของบริษัทว่า เด็กฝึกงานไม่ทักใครในที่ทำงาน ก้มหน้าก้มตาทำงานเพียงอย่างเดียว โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นพร้อมติดแฮชแท็ก #ฝึกงานแบไต๋ ในทวิตเตอร์โดยฝั่งหนึ่งเห็นว่าหากเด็กฝึกงานทำงานได้ดี ก็ถือเป็นสิ่งที่ตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรแล้ว

ส่วนเรื่องบุคลิกภาพเป็นเรื่องส่วนตัว หัวหน้างานที่ดีไม่ควรเอาลูกน้องหรือใครมาแฉในโลกออนไลน์ และบางส่วนก็มองว่าทักษะที่ควรมีนอกเหนือจากการทำงานคือเรื่องการเข้าสังคม น้องฝึกงานอาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อประเด็นดราม่านี้โหมกระพือออกไป ทางหนุ่ยแบไต๋ก็ได้เขียนขอโทษในเฟซบุ๊กว่า “ในนามบริษัท เราได้ขอพบน้องทั้งคู่เมื่อวาน และกล่าวคำขอโทษตรงหน้ากับการกระทำนี้ของผม ผมเขียนบันทึกภายในส่งในไลน์กลุ่มองค์กรที่มีพนักงานทุกคนอยู่พร้อมเพื่อแสดงความขอโทษ และความผิดพลาดแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใคร หรือกับบุคคลสถานะไหน” 

ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงในประเด็นทัวร์ลงที่น่าสนใจคือเรื่องมีการฟ้องร้องกัน โดยในระยะเวลาที่เก็บข้อมูลนั้นพบทั้งหมด 4 เรื่อง ซึ่งแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบนั้นล้วนแตกต่างกัน โดยพบในหมวดบันเทิงมากที่สุดและหากพิจารณาลักษณะของคอมเมนต์นั้นพบว่ามีด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียนมากที่สุด จำนวน 4 เรื่อง

เช่น กรณีของดีเจภูมิ ภูมิใจ ตั้งสง่า ถูกทัวร์ลงหลังโพสต์ภาพในเฟซบุ๊กพร้อมรูปภาพเมื่อตนไปเที่ยวออสเตรเลีย วันที่ 10 กันยายน 2565 ความว่า “เมลเบิร์นขายส้มตำจานละ 600 จิ้มจุ่มหม้อละ 1000 คนยังเข้าแถวต่อคิวกันถึงเที่ยงคืน… โชคดีขนาดไหนเกิดมาเป็นคนไทย” ภายหลังจากโพสต์ไม่นานก็เกิดปรากฏการณ์ทัวร์ลง

โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาแสดงความเห็นกันเป็นจำนวนมาก ส่วนมากสวนกลับว่าเอาราคาอาหารมาเทียบกันแบบนี้ไม่ได้ เพราะค่าแรงรวมไปถึงค่าครองชีพของบ้านเขากับบ้านเราไม่เท่ากัน ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2565 มีข่าวระบุว่าดีเจภูมิแต่งตั้งทนายเพื่อฟ้องผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เข้ามาล้อเลียนและใช้คำหยาบคายต่อตน 

และสุดท้ายปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่ก่อให้เกิดการยกเลิกหรือลาออก มี 2 เรื่องคือ การจัดอบรมลัทธิอนุตตรธรรม ของโรงเรียนดังในจังหวัดอุบลราชธานี ที่เกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #bmfact เมื่อมีผู้มาแฉเหตุการณ์ในโรงเรียนว่ามีการจัดอบรมค่ายธรรมะให้นักเรียนชั้น ม.5 ซึ่งหากใครไม่เข้าอบรมจะถูกหักคะแนน แต่เมื่อเข้าไปแล้วกลับพบว่าเป็นการอบรมของลัทธิความเชื่อหนึ่ง คาดว่าเป็น "ลัทธิอนุตตรธรรม"

ซึ่งมีต้นกำเนิดจากจีนไม่ใช่พระพุทธศาสนา หากใครไม่เข้าอบรมจะถูกหักคะแนน ซึ่งเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในแฮชแท็กจำนวนมาก จนต่อมาผู้อำนวยการโรงเรรียนได้สั่งยกเลิกกิจกรรมในภาคบ่ายไป และเรื่องนิทรรศกี ของพรรคเพื่อไทยที่ถูกรื้อบูธในการจัดงานปฐมนิเทศที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (มจล.) โดยภายหลังนายกฯ องค์การนักศึกษา มจล. ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ผู้ใหญ่ของสถาบันรื้อบูธออกโดยไม่แจ้ง

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงที่พบมากที่สุดอย่างการไม่ทำอะไรเลย อาจเป็นเพราะในหลายๆ ครั้งการถกเถียงกันของทัวร์นั้นโดยมากไม่ใช่การทะเลาะกันระหว่าง ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ แต่เป็นการถกเถียงในเรื่อง ‘ประเด็น’ กับ ‘ประเด็น’ ซึ่งอาจไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นมากนักโดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีบุคคลที่ 3

เช่น เพจเฟซบุ๊ก Lomosonic โดนทัวร์ลงเมื่อเพจตั้งสเตตัส “มามาคอนเสิร์ตร็อกแล้วนั่งดู ก็คงเหมือนเวลาพระสวดแล้วมึงลุกขึ้นเต้นอะ มึงคิดว่าไง” ดังนั้นเมื่อเกิดการทัวร์ลงจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องออกมาชี้แจงหรืออธิบายอะไรอีก เพราะการโพสต์สเตตัสดังกล่าวก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้อื่น

ในขณะที่ประเด็นที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล เช่น ดารา นักร้อง หรือองค์กร มักจะเกิดการออกมาอธิบาย/ชี้แจง หรือการขอโทษตามมาหลังจากนั้น เช่นในกรณีของแฮชแท็ก #แบนตู้เต่าบิน ที่ภายหลังบริษัทผู้ผลิตตู้เต่าบินจึงออกมาแถลงว่าไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลชิดชอบ หรือในกรณีของ #ฝึกงานแบไต๋ ที่แม้จะเกิดขึ้นโดยบุคคล ซึ่งก็คือ หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ หนุ่ยแบไต๋ เจ้าของบริษัท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร โดยภายหลังเจ้าตัวก็ได้ออกมาขอโทษผ่านเฟซบุ๊ก

หรือในกรณีที่มีการฟ้องร้องก็เกิดจากผลกระทบทางด้านชื่อเสียงของตัวบุคคล ธุรกิจ หรือองค์กรเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดีเจภูมิ จากกรณีที่ตนโพสต์ภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวออสเตรเลียว่าขายส้มตำจานละ 600 บาท คนยังต่อแถวเข้าคิว แต่ต่อมาโดนทัวร์ ทั้งยังเข้ามาต่อว่าด้วยคำหยาบคาย เสียดสีว่าดีเจภูมิไม่เข้าใจเรื่องค่าแรงที่แตกต่างกัน บ้างก็มองว่า “ตรรกะนี้พังจริงพี่! มันเทียบกันไม่ได้เลย” ซึ่งดีเจภูมิได้แต่งตั้งทนายฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตน โดยโพสต์ภาพพร้อมคำอธิบายว่า “ผมคิดว่าเราต่างได้ แล้วก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ รวมถึงติชม แนะนำตักเตือนอย่างสร้างสรรค์ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องมีขอบเขตและมีกฎกติกาของมัน ….ผมจะเรียกท่านละ 300,000 บาท ไม่รับการขอโทษ” 

หรือกรณีทัวร์ลงรีสอร์ทสะปัน บ่อเกลือที่จังหวัดน่าน หลังนักท่องเที่ยวมารีวิวว่าครัวที่รีสอร์ทปิด จึงสั่งหมูกระทะข้างนอกเข้ามากิน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ต่อว่าจนมีปากเสียงกัน และเมื่อโทรแจ้งตำรวจให้มาเคลียร์แต่ไม่เป็นผล จึงย้ายออกกลางดึกเพราะกลัวถูกทำร้าย หลังโพสต์ถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก ทางรีสอร์ทได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.บ่อเกลือว่าโพสต์ดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตามภายหลังรีสอร์ทได้ถอนแจ้งความแล้ว แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการในกรณีนี้คือ ลักษณะของคอมเมนต์ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นการด่าทอด้วยคำหยาบคาย/ตำหนิติเตียนมากที่สุด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้น เช่นเดียวกันกับการยกเลิกหรือลาออก ที่สัมพันธ์กับผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของตัวบุคคลหรือองค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรอีกด้วย 

กล่าวได้ว่า ปฏิกิริยาของผู้ที่ถูกทัวร์ลงนั้น อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับหมวดหมู่หรือแนวความคิดที่ทัวร์ใช้ตอบโต้โดยตรง แต่มีความสัมพันธ์กับผลกระทบจากปรากฏการณ์ทัวร์ลงนั้นๆ ที่อาจสร้างความเสียหายอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือธุรกิจ ของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเด็นนั้นเสียมากกว่า

 

ส่องสถิติคนไทย ปรากฏการณ์ "ทัวร์ลง" เรื่องวุ่นๆ ที่มากกว่าชาวเน็ตทะเลาะกัน

เส้นทางการมาของทัวร์จากปรากฏการณ์ทัวร์ลง

ทัวร์ลงที่ต้นเรื่อง 103 เรื่อง

ทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่อง 84 เรื่อง

ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่อง 66 เรื่อง

ทัวร์ลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับต้นเรื่อง 4 เรื่อง

จากปรากฏการณ์ทัวร์ลงทั้ง 177 เรื่อง เมื่อนำมาแยกเส้นทางการมาของทัวร์พบว่า ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องมากที่สุด จำนวน 103 เรื่อง รองลงมาคือทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่อง 84 เรื่อง ตามมาด้วยทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่อง จำนวน 66 เรื่อง และพบน้อยที่สุดในทัวร์ลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับต้นเรื่อง โดยพบเพียง 4 เรื่อง

เมื่อพิจารณากรณีที่ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องมากที่สุด พบว่าเกิดขึ้นในหมวดการเมืองมากที่สุด 28 เรื่อง รองลงมาคือหมวดบันเทิง 25 เรื่อง หมวดสังคม 22 เรื่อง ขณะเดียวกันในหมวดบันเทิงที่พบมากที่สุดนั้น เมื่อพิจารณาลงไปถึงแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบนั้น จะพบเรื่องการปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบมากที่สุดจำนวน 6 เรื่อง 

ส่วนกรณีของทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่อง พบในหมวดบันเทิงมากที่สุด 39 เรื่อง รองลงมาคือหมวดสังคม 14 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดการเมือง 11 เรื่อง โดยพบผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นผู้ชี้ช่องมากที่สุด หากพิจารณาลงไปถึงแนวความคิดที่ทัวร์ใช้โต้ตอบ จะพบความเหมาะสม 13 เรื่อง รองลงมาคือความเหลื่อมล้ำ เช่น ในหมวดสังคม

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้เส้นทางของขบวนรถทัวร์ จะเป็นทัวร์ลงที่ต้นเรื่องมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาจาก ‘การชี้ช่อง’ ทั้ง ทัวร์ลงที่ต้นเรื่องจากการชี้ช่องและทัวร์ลงในพื้นที่ที่มีการชี้ช่องรวมกัน จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมากกว่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่โซเชียลมีเดียของไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนเฉพาะกลุ่มหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับเรื่องนั้นๆ เท่านั้น

แต่อาจเกิดจากการแพร่กระจายของเนื้อหาโดยการ ‘ชี้ช่อง’ ที่ทำให้เกิดทัวร์ และหลายครั้งก็ถูกทำซ้ำโดยแพลตฟอร์มหรืออัลกอริทึม เช่น โพสต์เนื้อหาลงในติ๊กต็อกและถูกดันขึ้นฟีดโดยอัลกอริทึม มีคนแชร์ต่อๆ กันไปจนเกิดการถกเถียงและดราม่าบนอินเทอร์เน็ต หรือการที่สื่อ/อินฟลูเอนเซอร์นำไปรายงาน ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นโดยตรงเห็นเป็นจำนวนมากและกระโจนขึ้นรถทัวร์ด้วย

หากพิจารณาควบคู่ไปกับประเด็นลักษณะคอมเมนต์ ที่พบว่าใช้การล้อเลียน/เสียดสีมากที่สุด ก็ยิ่งอาจจะทำให้เห็นได้ชัดมากขึ้นว่าทัวร์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียกับเรื่องนั้นๆ โดยตรง เพราะไม่ได้พยายามที่จะเข้ามาคอมเมนต์เพื่อสนับสนุน/ปกป้อง หรือแม้กระทั่งโต้เถียงด้วยเหตุผล/ยกเหตุผลเพื่อมาลบล้างหลักการ ในประเด็นที่ทำให้เกิดทัวร์นั้นๆ การล้อเลียนเสียดสีจึงเป็นการแสดงออกร่วมในขบวนทัวร์โดยไม่ต้องแสดงความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรง เนื่องด้วยขบวนทัวร์มาด้วยการชี้ช่องมากกว่าจะเป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาเรียกร้องถกเถียง เอาชนะคะคานกันในประเด็นทัวร์ลงในแต่ละเรื่อง 

จากการสำรวจปรากฏการณ์ทัวร์ลงที่เกิดขึ้น จะพบว่า แม้เรื่องทัวร์ลงจะเกิดขึ้นในหมวดบันเทิงมากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะผู้คนในโซเชียลมีเดียของไทยหรือในขบวนทัวร์สนใจเรื่องดาราคนดังมากที่สุด หรือเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกความชื่นชอบหรือรสนิยมส่วนตัว เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาในส่วนของแนวความคิดที่ทัวร์ใช้ตอบโต้จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายของประเด็นมากกว่าแค่เรื่องการปกป้องบุคคลที่ชื่นชอบของแฟนคลับ ความไม่เหมาะสมหรือแนวความคิดทัศนคติไม่ตรงกัน 

โดยเฉพาะในการศึกษาครั้งนี้ที่พบว่าแนวความคิดที่ทัวร์ใช้ในการโต้ตอบนั้น มีแนวความคิดทางสังคมอื่นๆ อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องทัศนคติทางเพศ สิทธิมนุษยชน anti-woke ทัศนคติทางเชื้อชาติ หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าสังคมในปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญกับ ‘คุณค่า’ แบบใด

และต้องการจะผลักดันแนวความคิดหรือคุณค่าใหม่ๆ ทางสังคมแบบใด ให้กลายเป็นที่ยอมรับ เป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่ทุกคนควรยึดถือหรือให้การเคารพ ปรากฏการณ์ทัวร์ลงจึงไม่ใช่แค่คนในโซเชียลมีเดียทะเลาะกันจากความเห็นไม่ตรงกัน แต่มันคือปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่กำลังจะขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนทัศนคติและการให้คุณค่าในประเด็นใดประเด็นหนึ่งให้เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับในสังคมปัจจุบัน 

แต่ถึงอย่างนั้น ในสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทัวร์ลงนี้ ก็ยังไม่เห็นว่ามีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากนักว่าจะนำไปสู่ปฏิบัติการอะไร เมื่อพิจารณาจากคอมเมนต์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นเพียงการล้อเลียน เสียดสีหรือด่าทอเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามการศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ผลการศึกษาจึงเป็นเพียงภาพสะท้อนสังคมภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ในขณะที่ปรากฏการณ์ทัวร์ลงยังคงเกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม การศึกษาในประเด็นนี้ต่อไปในอนาคตหรือในแง่มุมอื่นๆ อาจช่วยทำให้เข้าใจความเคลื่อนไหวของผู้ใช้โซเชียลมีเดียไทยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

ที่มา : Rocket Media Lab 

 
Visitors: 1,429,830