TDRI วิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

 

   
     TDRI ชี้ PM2.5 กทม. กับภาคเหนือมีสาเหตุต่างกัน
 
     PM2.5 ในเขต กทม. เกิดจากอุณหภูมิผกผัน การใช้รถยนต์ การผลิตไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดใกล้เคียง
วิกฤตฝุ่น PM2.5 ในเขต กทม. ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบายอากาศในเมืองอยู่ในอัตราต่ำกว่าปรกติ ช่วงปลายฤดูหนาวเกิดอุณหภูมิผกผัน ทำให้มีอากาศสามชั้น อุณหภูมิที่ผิวพื้นมีความเย็นกว่าชั้นอากาศที่อยู่เหนือกว่า ขณะเดียวกันก็มีอากาศขั้นที่สามที่อยู่บนสุด แต่มีความเย็น เพราะอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ชั้นอากาศร้อนชั้นที่สองกลายเป็นฝาครอบกักอากาศที่ผิวพื้นไว้ ทำให้หมอกควันไม่เคลื่อนตัว สะสมอยู่ใกล้พื้นโลก
 
    อีกประการคือ การขนส่งบนท้องถนนและปัญหาจราจร ข้อมูลกรมขนส่ง (ธ.ค. 2566) แสดงให้เห็นว่า จากยานพาหนะทั้งหมด 11.99 ล้านคันในเขต กทม. เป็นเครื่องยนต์ดีเซลมากถึง 3.28 ล้านคัน (27.37%) ส่วนจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ณ สิ้นปี พ.ศ. 2566 ทั่วประเทศรวม 72,699 แห่ง กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 28,177 แห่ง
 
    ส่วนฝุ่นภาคเหนือ ส่วนหนึ่งมาจากภูมิประเทศที่เป็นที่ราบในหุบเขาที่มีภูเขาล้อมรอบ เหมือนแอ่งกระทะ จึงเกิดการสะสมหมอกควันมากกว่าพื้นที่ราบที่อากาศหมุนเวียนได้ง่าย อีกทั้งกระแสลมก็พัดจากทิศตะวันออกของแนวเทือกเขาเข้าสู่ตัวเมือง โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ อย่างไรก็ดี การเผาจากฝีมือมนุษย์ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด และการเผาไหม้ในป่ามีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาคือการเผาเศษวัสดุการเกษตรในไร่นา
 
    การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากระหว่างปี 2553–2562 โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม จุดความร้อนและการใช้ที่ดิน ของเจน ชาญณรงค์ และคณะ (2564) พบว่า จากพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก 9,726,247 ไร่ เป็นพื้นที่ป่า 6,337,501 ไร่ (65.16%) ภาคเกษตร 3,145,414 ไร่ (32.34%) ที่เหลือเป็นการเผาประเภทอื่นในที่โล่ง
   
    ฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง มิได้เกิดขึ้นแต่ภายในจังหวัด แต่มีกระแสลมพัดพามาทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงและจากประเทศเพื่อนบ้าน แอ่งฝุ่นควัน PM2.5 นี้เรียกว่า airshed ที่มีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ลุ่มน้ำ หรือ rivershed
 
 
Visitors: 1,219,235