เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ศิลปะการถ่ายภาพ เป็นภาษาสากลที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ทันที ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ โดยเสริมสร้างกระบวนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิอากาศ และมหาสมุทร ในทางที่ดี

ช่างภาพด้านสิ่งแวดล้อมสามารถใช้ภาพถ่ายกระตุ้นให้ผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และคิดค้นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพื่อคิดทบทวนชีวิตและเศรษฐกิจของเราให้ดีขึ้น มูลนิธิเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งโมนาโก จึงได้จัดประกวดภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมขึ้น

มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบรางวัลให้กับช่างภาพ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนในการถ่ายภาพ เพื่อสร้างประโยชน์สำหรับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการปกป้องโลก และเฉลิมฉลองความงามอันน่าทึ่งของโลกของเรา 

พร้อมเน้นย้ำถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านหมวดหมู่ทั้งห้า ได้แก่ มหัศจรรย์แห่งขั้วโลก (Polar Wonders) สู่ป่าพนาไพร (Into the Forest) โลกใต้ทะเล (Ocean Worlds) มนุษยชาติปะทะธรรมชาติ (Humanity versus Nature) ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง: เหตุผลแห่งความหวัง (Change Makers: Reasons for Hope) พร้อมด้วย 2 รางวัลพิเศษ Public Award winner และ Students’ Choice 2025

ในปี 2024 มีภาพถ่ายเกือบ 11,000 ภาพ ถูกส่งเข้าร่วมการประกวดครั้งที่ 3 ได้รับการคัดเลือกอย่างรอบคอบโดยคณะกรรมการ ซึ่งเป็นช่างภาพมืออาชีพที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ โดยคำนึงถึงความเป็นเลิศด้านเทคนิคและสุนทรียศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือความเกี่ยวข้องและความแข็งแกร่งของข้อความ

 

รางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 แห่งโมนาโก (The Prince Albert II of Monaco Foundation's Environmental Photography Award) จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2021 วาระครบรอบ 15 ปีของมูลนิธิ โดยภาพถ่ายเหล่านี้ได้จัดแสดงที่อิตาลี ซานมารีโน สเปน สหรัฐ และฝรั่งเศส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับภาพที่ชนะรางวัลในแต่ละประเภทได้แก่

 

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชื่อภาพ: Unseen Unsung Heroes
ช่างภาพ: Angel Fitor
หมวด: โลกใต้ทะเล (Ocean Worlds) และ Environmental Photographer 2025 
คำอธิบาย: หนอนทะเลไล่ทรายออกจากโพรง, สเปน, 2023

หนอนทะเลที่ขุดรูเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการรักษาออกซิเจนและการหมุนเวียนของสารอาหารในชั้นตะกอนบนก้นทะเล ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างระบบนิเวศทั้งหมดที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวดิน ช่วยให้หญ้าทะเลทั้งหมดตามแนวชายฝั่งของโลกเจริญเติบโตได้ดี สร้างความอุดมสมบูรณ์ของปากแม่น้ำชายฝั่งและชั้นโคลนในน้ำลึก อีกทั้งความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นบนพื้นทะเลล้วนมาจากหนอนทะเลที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเหล่านี้

หนอนทะเลบางตัวดูเหมือนจะจำศีล บางตัวจะว่ายน้ำเพียงไม่กี่นาทีต่อวัน ในขณะที่บางตัวเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน แต่ด้วยความถี่ที่คาดเดาไม่ได้ ภาพนี้เป็นผลงานจากการทำงานเป็นเวลาสองเดือน โดยดำน้ำ 20 ครั้ง ครั้งละ 5 ชั่วโมง ที่ความลึก 8 เมตร

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชื่อภาพ: Training Day
ช่างภาพ: Angel Fitor
หมวด: ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง: เหตุผลแห่งความหวัง (Change Makers: Reasons for Hope)
คำอธิบาย: ลูกเต่าหัวค้อนในศูนย์ฟื้นฟู, สเปน, 2022

ลูกเต่าหัวค้อน (Caretta caretta) ถูกป้อนแมงกะพรุนเป็นอาหารครั้งแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการช่วยเหลือที่จัดขึ้นในบาเลนเซีย ประเทศสเปน

ที่มูลนิธิ Fundación Oceanogràfic ทีมสัตวแพทย์และนักชีววิทยากำลังเลี้ยงลูกเต่าทะเลที่เพิ่งฟักออกมาในช่วงฤดูร้อน โดยไข่เหล่านี้มาจากแม่เต่าจะวางไข่บนชายหาดที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน 

ตลอดเวลาที่อยู่ในศูนย์เพาะเลี้ยง เต่าหัวค้อนเหล่านี้จะได้รับอาหารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต รวมถึงแมงกะพรุนที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม เพื่อฝึกให้พวกมันใช้ชีวิตในอนาคตเมื่อถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ แต่น่าเสียดายที่เมื่อเต่าทะเลกลับคืนสู่ท้องทะเลแล้ว พวกมันไม่สามารถแยกได้ว่าอันไหนเป็นพลาสติกหรืออาหารได้ แม้ว่านักวิจัยจะพยายามช่วยเหลือและทุ่มเทขนาดไหน ก็ไม่รับประกันว่าจะประสบความสำเร็จ

 

 

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชื่อภาพ: Breeding Machine
ช่างภาพ: Amy Jones
หมวด: มนุษยชาติปะทะธรรมชาติ (Humanity versus Nature)
คำอธิบาย: ลูกเสือโคร่งอินโดจีนอายุมากในฟาร์มเสือโคร่ง, ประเทศไทย, 2023

เสือโคร่งอินโดจีนชรา (Panthera tigris corbetti) ชื่อว่า “ซาลามาส” พิงร่างที่บอบบางของมันไว้กับผนังคอนกรีตของกรงในฟาร์มเสือโคร่งในภาคเหนือของประเทศไทย มันถูกขังอยู่ในกรงนี้มานานกว่า 20 ปี และถูกใช้เป็นเครื่องจักรเพาะพันธุ์ โดยให้กำเนิดลูกเสือสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การท่องเที่ยวงไปจนถึงการค้าหนัง ฟัน กระดูก กรงเล็บ และเนื้ออย่างผิดกฎหมาย

ต่อมา ซาลามาส ได้รับการช่วยเหลือจากฟาร์มพร้อมกับเสือโคร่งตัวใหญ่ 14 ตัวโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร Wildlife Friends Foundation Thailand (WFFT)

แม้จะมีร่างกายที่อ่อนแอและผอมโซ แต่ซาลามาสก็สามารถเอาชีวิตรอดจากการเดินทาง 12 ชั่วโมงไปยังป่าเขตรักษาพันธุ์เสือขนาด 17 เอเคอร์ ซึ่งมันสามารถเดินเตร่ได้อย่างอิสระและสัมผัสหญ้าใต้เท้าและความอบอุ่นของแสงแดดบนขนของมันเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ

น่าเสียดายที่ซาลามาสเสียชีวิตหลังจากได้รับการช่วยเหลือได้ 9 เดือน ความต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวเกี่ยวกับเสือและผลิตภัณฑ์จากเสือส่งผลให้มีเสือประมาณ 1,700 ตัวถูกเลี้ยงไว้ในฟาร์มเสือแบบโรงงานทั่วประเทศไทย ปัจจุบันเหลือเสือในป่าเพียงไม่ถึง 223 ตัวเท่านั้น

 

 

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชื่อภาพ: Clash of Kings
ช่างภาพ: Iacopo Nerozzi
หมวด: สู่ป่าพนาไพร (Into the Forest) 
คำอธิบาย: การต่อสู้ระหว่างด้วงกว่างตัวผู้สองตัว, อิตาลี, 2022

ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ด้วงกว่างตัวผู้ (Lucanus cervus) จะต่อสู้กันอย่างดุเดือด (แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย) โดยตัวผู้ที่ตัวใหญ่กว่ามักจะได้เปรียบกว่าตัวที่ตัวเล็กกว่า เนื่องจากมีขากรรไกรใหญ่กว่า 

ปัจจุบันด้วงกว่างดถูกคุกคามด้วยการจัดการป่าไม้ที่ไม่ดี การตัดไม้ และการตัดไม้ตายเพื่อทำความสะอาดป่า ด้วงกว่าง รวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด ปรากฏอยู่ในรายชื่อแดงขององค์กรอนุรักษ์ของอิตาลี 

ด้วงกว่างตัวผู้สองตัวนี้ถ่ายภาพได้ในป่าใกล้ฟลอเรนซ์ ซึ่งกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดบนกิ่งโอ๊ค โดยใช้เวลาประมาณสิบวันในการสังเกตเพื่อบันทึกช่วงเวลานี้

 

 

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชื่อภาพ: Jellyfish and Iceberg
ช่างภาพ: Galice Hoarau
หมวด: มหัศจรรย์แห่งขั้วโลก (Polar Wonders)
คำอธิบาย: แมงกะพรุนขนสิงโต, กรีนแลนด์, 2019

การดำน้ำรอบ ๆ ภูเขาน้ำแข็งเป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครและน่าสนใจ ในระหว่างที่ผู้ถ่ายอยู่ระหว่างกรีนแลนด์ตะวันออก ได้พบแมงกะพรุนขนสิงโตอยู่บริเวณภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ สีของน้ำทะเลสีน้ำเงินเข้มและน้ำแข็งสีขาวแวววาวตัดกันอย่างชัดเจน

ฤดูใบไม้ร่วงในฟยอร์ดของกรีนแลนด์ตะวันออกเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งมีชีวิตแพลงก์ตอน ตั้งแต่โคพีพอดขนาดเล็กไปจนถึงแมงกะพรุนขนาดใหญ่ เช่น แมงกะพรุนขนสิงโต (Cyanea capillata) ที่มีหนวดยาวที่ต่อยได้ล่องลอยอย่างสง่างามในน้ำ

 

 

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชื่อภาพ: After the Flames, Hope
ช่างภาพ: Fernando Faciole
หมวด: Public Award winner 
คำอธิบาย: สมเสร็จที่รอดจากไฟป่า, บราซิล, 2024

สมเสร็จผู้วัยประมาณ 1 ขวบตัวนี้ (Tapirus terrestris) มีชื่อว่า “วาเลนเต้” ซึ่งแปลว่า "กล้าหาญ" ในภาษาโปรตุเกส ได้รับการช่วยเหลือจากเหตุการณ์ไฟป่าในปันตานัล โดยทีมโครงการ Onçafari ซึ่งปฏิบัติงานในเขตอนุรักษ์นิเวศวิทยาไคแมน ในตอนที่พบวาเลนเต้ถูกไฟไหม้รุนแรงที่ขาทั้งสี่ข้างและหู ไม่สามารถขยับตัวได้

เหตุการณ์ไฟป่าในครั้งนี้เป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยบันทึกไว้ โดยสูญเสียพื้นที่มากกว่า 2.6 ล้านเฮกตาร์ จากการศึกษาวิจัยของ ArcPlan พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีพื้นที่น้ำท่วมลดลงอย่างมาก โดยภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ปรกติแล้วมีน้ำท่วมขังเป็นเวลา 6 เดือนต่อปีหรือมากกว่านั้น ลดลงถึง 82% นับตั้งแต่ปี 1985

 

 

เปิดภาพรางวัลภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ชื่อภาพ: Forest guard
ช่างภาพ: Bambang Wirawan
หมวด: Students’ Choice 2025
คำอธิบาย: เสือโคร่งสุมาตรา, อินโดนีเซีย, 2021

จำนวนเสือโคร่งของโลกลดลงถึง 95% ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้พื้นที่ของเสือโคร่งลดลงอย่างมาก และการลักลอบล่าสัตว์

ในอินโดนีเซีย เสือโคร่งสายพันธุ์ย่อยบนเกาะชวาและบาหลีสูญพันธุ์ไปแล้ว เหลืองเพียงเสือโคร่งสุมาตรา (Panthera tigris sumatrae) เท่านั้นที่ยังคงอยู่ แต่ก็มีอยู่น้อยกว่า 400 ตัว ตามข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF)

ในปี 2552 สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดให้เสือโคร่งสุมาตราเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และรัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดให้เสือโคร่งสุมาตราเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในการคุ้มครอง

 

 


ที่มา: The Prince Albert II of Monaco Foundation's Environmental Photography Award

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1181586

 

 

 

Visitors: 1,538,691