นักวิจัยเชื่อรู้คำตอบแล้ว สโตนเฮนจ์ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร!?
นักวิจัยเชื่อรู้คำตอบแล้ว สโตนเฮนจ์ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร!?
“สโตนเฮนจ์” ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบซอลส์บรี (Salisbury Plain) ในสหราชอาณาจักร คือหนึ่งในปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ และยังคงมีการค้นพบใหม่ ๆ เกี่ยวกับหมู่หินนี้อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ส.ค. ทีมนักวิจัยเพิ่งหลักฐานที่บ่งชี้ว่า หินใจกลางสโตนเฮนจ์ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “หินแท่นบูชา” (Altar Stone) ถูกเคลื่อนย้ายมาจากบริเวณที่ปัจจุบันคือสกอตแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งของสโตนเฮนจ์มากกว่า 700 กิโลเมตร
ล่าสุดมีการค้นพบใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้นักวิจัยเชื่อว่า พวกเขาอาจค้นพบ “จุดประสงค์” ของสโตนเฮนจ์แล้วว่ามีไว้เพื่ออะไร!? ผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archaeology International เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ระบุว่า สโตนเฮนจ์อาจได้รับการ “สร้างขึ้นใหม่” ในอังกฤษเมื่อประมาณ 2620 ถึง 2480 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อช่วย “รวมชาวอังกฤษโบราณให้เป็นหนึ่งเดียว” ในช่วงเวลาที่มีคนจากพื้นที่อื่นของยุโรปเดินทางเข้ามา ความหมายก็คือ สโตนเฮนจ์ที่เราเห็นในปัจจุบันไม่ใช่แห่งแรก เคยมีการสร้างวงหินที่คล้ายกันมาก่อนในสถานที่อื่น แต่ถูกเคลื่อนย้ายมา เบาะแสสำคัญคือ ความคล้ายคลึงกันระหว่างสโตนเฮนจ์กับวงหินในสกอตแลนด์ แสดงให้เห็นว่า มันน่าจะมีความเชื่อมโยงระหว่างสังคมโบราณในพื้นที่สองแห่งที่ห่างไกลกันนี้มากกว่าที่เคยคิดไว้ ไมค์ ปาร์กเกอร์ เพียร์สัน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอังกฤษจากสถาบันโบราณคดีแห่ง University College London หัวหนาทีมวิจัย กล่าวว่า “ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เหล่านี้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นอย่างมากว่าจุดประสงค์เดิมของสโตนเฮนจ์คืออะไร ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสถานที่บนที่ราบนี้มีความสำคัญต่อผู้คนไม่เพียงแต่ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วทั้งอังกฤษอีกด้วย มากถึงขนาดที่พวกเขานำเสาหินขนาดใหญ่มาตั้งไกลหลายร้อยไมล์เพื่อมาตั้งที่แห่งนี้” นักวิจัยระบุว่า การก่อสร้างสโตนเฮนจ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล และเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่ที่เคยมีคนอาศัยอยู่เมื่อ 5,000 ถึง 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ไม่ได้มีอยู่แค่ในจุดที่พบในปัจจุบันเท่านั้น นักวิจัยเชื่อว่า หินแท่นบูชาถูกวางไว้ตรงกลางระหว่างช่วงการสร้างใหม่ แม้ว่าวันที่แน่นอนจะยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าหินดังกล่าวมาถึงระหว่างช่วง 2,500 ถึง 2,020 ปีก่อนคริสตกาล จากการวิจัยพบว่า ในช่วงการสร้างใหม่นั้น ผู้สร้างสโตนเฮนจ์ได้สร้างหินทรายขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อสร้างวงกลมด้านนอกและเกือกม้าด้านในที่ทำจากหินไตรลิธอน หรือหินคู่ที่เชื่อมกันด้วยคานหินแนวนอน ซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสโตนเฮนจ์จนถึงทุกวันนี้ โดยหินแท่นบูชาตั้งตระหง่านอยู่ที่เชิงหินไตรลิธอนที่ใหญ่ที่สุดและแทบมองไม่เห็นเมื่อมองผ่านหญ้า ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับจุดประสงค์ที่แน่ชัดของสโตนเฮนจ์และหินแท่นบูชา แต่ทีมวิจัยบอกว่า การที่อนุสรณ์สถานนี้ตั้งตรงกับดวงอาทิตย์ในช่วงวันครีษมายันและเหมายันอาจเป็นการบอกใบ้อะไรบางอย่าง เพียร์สันบอกว่า “มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า หินแท่นบูชาขนาดใหญ่นี้มีความสำคัญต่อบรรพบุรุษ โดยเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษของผู้ที่สร้างมันขึ้นมา ตำแหน่งของหินแท่นบูชาภายในสโตนเฮนจ์มีความสำคัญ เพราะหากคุณยืนอยู่ตรงกลางวงหิน ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าในช่วงกลางฤดูหนาวพอดี” เขาเสริมว่า ในช่วงฤดูหนาว ผู้คนในยุคหินใหม่จะมารวมตัวกันที่หมู่บ้านเดอร์ริงตันวอลส์ใกล้สโตนเฮนจ์ โดยนำหมูและวัวมาด้วยเพื่อร่วมงานเลี้ยง สโตนเฮนจ์ยังเป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้นอีกด้วย ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่าสถานที่แห่งนี้อาจเคยใช้เป็นเทวสถานทางศาสนา ปฏิทินสุริยคติ และหอดูดาวโบราณในที่เดียวกัน และผู้คนในยุคหินใหม่เกือบครึ่งหนึ่งที่ถูกฝังใกล้สโตนเฮนจ์มาจากที่อื่นที่ไม่ใช่ที่ราบซอลส์บรี งานวิจัยใหม่นี้เพิ่มความน่าสนใจทางการเมืองให้กับเรื่องราวเบื้องหลังของสโตนเฮนจ์ที่สร้างขึ้นใหม่ “ความจริงที่ว่าหินทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากภูมิภาคที่ห่างไกล ทำให้วงหินนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างจากวงหินอื่น ๆ กว่า 900 วงในอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าวงหินนี้อาจมีจุดประสงค์ทางการเมืองและศาสนาเช่นกัน โดยเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการรวมตัวของผู้คนในอังกฤษ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ชั่วนิรันดร์ระหว่างพวกเขากับบรรพบุรุษและจักรวาล” เพียร์สันกล่าว ทีมวิจัยบอกว่า การขนย้ายหินขนาดยักษ์เป็นระยะทางไกลคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้คนในยุคหินใหม่ และพวกเขาไม่คิดว่าเรือในสมัยนั้นจะมีกำลังเพียงพอที่จะขนอะไรก็ตามเช่นหินแท่นบูชาข้ามน่านน้ำชายฝั่งมาได้ “แม้ว่าล้อจะถูกประดิษฐ์ขึ้นแล้วในภุมิภาคอื่น แต่เทคโนโลยีนั้นยังมาไม่ถึงอังกฤษ ดังนั้นหินขนาดมหึมาเหล่านี้จึงน่าจะต้องถูกลากด้วย “เลื่อนไม้” ที่ลากอยู่บนราวไม้ซึ่งสามารถยกขึ้นและปูใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง” เพียร์สันกล่าว ทีมวิจัยกล่าวว่า เลื่อนไม้ควรมี “โช้คอัพ” ที่ทำจากพืชพรรณเพื่อรองรับหิน ซึ่งอาจแตกร้าวได้ง่ายในระหว่างการเดินทางไกล นอกจากนี้ จะต้องมีคนหลายร้อยคนหรืออาจถึงหลายพันคนเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายหินบนบก และการเดินทางอาจใช้เวลาประมาณ 8 เดือน “การเดินทางทางบกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแสดง ขบวนแห่ งานเลี้ยง และการเฉลิมฉลองได้ดีกว่ามาก ซึ่งจะดึงดูดผู้คนนับพันให้มาร่วมเป็นสักขีพยานและมีส่วนร่วมในการผจญภัยครั้งพิเศษนี้” ทีมวิจัยระบุ การย้ายหินก้อนใหญ่จากสกอตแลนด์ไปยังตอนใต้ของอังกฤษแสดงให้เห็นว่ามีเครือข่ายระหว่างกลุ่มที่อยู่ห่างไกล 2 กลุ่มที่มะความร่วมมือกัน ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่านี่เป็นเรื่องจริง เนื่องจากมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นในทั้งสองสถานที่ “นี่คือการประสานงานกันอย่างมากทั่วทั้งบริเตนใหญ่ ผู้คนร่วมมือกันอย่างแท้จริงในยุคก่อนที่จะมีโทรศัพท์และอีเมล” เพียร์สันกล่าว ทีมวิจัยเสริมว่า ประชากรของเกาะอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เกษตรกรในยุคแรก ๆ ของภูมิภาคนี้สืบเชื้อสายมาจากผู้คนจากตะวันออกกลางที่อพยพมายังเกาะนี้เมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อน และเข้ามาแทนที่ชุมชนล่าสัตว์และเก็บของป่าที่เคยอาศัยอยู่ในอังกฤษมาก่อนและเป็นประชากรส่วนใหญ่ในช่วง 4,000 ถึง 2,500 ปีก่อนคริสตกาล แต่ประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ผู้คนจากที่อื่นเริ่มเดินทางมาถึงอังกฤษจากยุโรป ส่วนใหญ่มาจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน และตามการศึกษาพบว่าสโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นใหม่ในช่วงเวลานี้ นักวิจัยเชื่อว่า กระบวนการสร้างสโตนเฮนจ์ใหม่เป็น “การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ด้านความชอบธรรมที่เกิดจากการหลั่งไหลเข้ามาของผู้คนกลุ่มใหม่” และเป็นความพยายามที่จะรวมประชากรชาวนาในยุคหินใหม่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ชาวยุโรปที่อพยพมา เรียกกันว่าชาวบีคเกอร์ เนื่องจากพวกเขาฝังเครื่องปั้นดินเผาอันเป็นเอกลักษณ์ร่วมกับผู้เสียชีวิต และนำเทคโนโลยี เช่น ล้อและงานโลหะติดตัวมาด้วย ในที่สุด ลูกหลานของชนเผ่าบีคเกอร์ก็เข้ามาแทนที่เกษตรกรในยุคหินใหม่และกลายเป็นประชากรหลักของอังกฤษ ดังนั้น ในที่สุด สโตนเฮนจ์ซึ่งเป็นการรวบรวม “หินที่แปลกประหลาดเหล่านี้ และเป็นตัวแทนของชุมชนที่อยู่ห่างไกล การแสดงออกถึงความสามัคคีระหว่างผู้คน แผ่นดิน บรรพบุรุษ และสวรรค์ที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่” ก็ล้มเหลวในการรวมชุมชนที่สร้างสโตนเฮนจ์ให้เป็นหนึ่งเดียว เรียบเรียงจาก CNN |