ใครขโมยสมาธิไป! Stolen Focus หนังสือที่พาไปหาคำตอบว่า ทำไมเราถึงโฟกัสอะไรไม่ได้

ใครขโมยสมาธิไป! Stolen Focus หนังสือที่พาไปหาคำตอบว่า ทำไมเราถึงโฟกัสอะไรไม่ได้

จำได้ไหมว่า ครั้งล่าสุดที่คุณกำลังโฟกัสอยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่งคือเมื่อไหร่

ในปัจจุบันที่การจดจ่ออยู่กับกิจกรรมสักอย่างดูจะเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ‘สมาธิ’ กลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างก็อยากมี แต่มันกลับยากเสียเหลือเกินที่จะได้มา โยฮันน์ ฮารี (Johann Hari) นักเขียนชาวอังกฤษก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกว่า เขาสูญเสียสมาธิจนไม่สามารถจะโฟกัสกับอะไรได้เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว แต่แทนที่ฮารีจะยอมจำนนต่อข้อเท็จจริงนี้ เขากลับเลือกจะหาคำตอบว่า อะไรคือสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังซึ่งทำให้เขาและผู้คนมากมายทั่วโลกสูญเสียศักยภาพในการโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งตรงหน้าไป

‘Stolen Focus’ คือหนังสือที่จะพาเราไปหาคำตอบว่า อะไรอยู่เบื้องหลังสภาวะที่คนทั่วโลกขาดสมาธิ โดยที่ฮารีเริ่มต้นเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของเขาที่ ‘หักดิบ’ ตัดขาดตัวเองจากเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต โดยการพาตัวเองไปยังหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากหมู่บ้านเล็กๆ ท้องฟ้า และทะเล ณ ที่นั่น ฮารีไม่เพียงจะตระหนักว่า กิจกรรมที่เขาทำได้เมื่อพาตัวเองออกจากโลกออนไลน์นั้นมีมากมายเพียงใด หากเขายังได้รับรู้ถึงคุณค่าของการใช้เวลาอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว และไม่สับเปลี่ยนไปหาสิ่งอื่นอยู่เรื่อยๆ อย่างที่เขาคุ้นเคยจากการใช้โทรศัพท์มือถือ ฮารีค้นพบว่า ชีวิตที่ช้าลงทำให้เขาเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การพาตัวเองไปยังพื้นที่อื่นไม่ใช่ทางออกของการสร้างสมาธิ แต่เป็นประตูบานหนึ่งที่พาเขาไปหาคำอธิบายของสภาวะสูญเสียสมาธิต่างหาก

ผ่านหนังสือเล่มนี้ ฮารีได้เดินทางไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือนักวิชาการ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ช่วยแสดงให้เห็นภาพกว้างของสภาวะสูญเสียสมาธิที่กลายเป็นปรากฏการณ์ของยุคสมัย

ทั้งนี้ หนึ่งในพฤติกรรมที่ฮารีมองว่าส่งผลกระทบต่อการสูญเสียสมาธิเป็นอย่างมากคือ ‘multitasking’ ซึ่งดูจะเป็นค่านิยมที่ได้รับการชื่นชมในปัจจุบัน ทว่าฮารีกลับมองว่า การที่เราสับเปลี่ยนกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตประจำวันนี่แหละที่ยิ่งจะทำให้เราไม่สามารถจะโฟกัสกับอะไรได้เลย สอดคล้องไปด้วยกันฮารียังมองว่า ชีวิตของพวกเราทุกวันนี้อยู่กับการบริโภคข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ทุกๆ วินาทีจะมีข่าวใหม่ปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอ ซึ่งเขามองว่า ข่าวสารเหล่านี้เป็นเพียงแค่สิ่งชั่วคราวที่ผ่านมาเพื่อผ่านไป อย่างเช่นข้อมูลใน Twitter ซึ่งปัญหาของมันคือ สมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับข้อมูลมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงเวลาสั้นๆ

นอกจากนี้ Big Tech และบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ยังเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่คอยช่วงชิงสมาธิของพวกเราอยู่เสมอ โดยฮารีอธิบายว่า ยิ่งเราจับจ้องอยู่กับหน้าจอมากเท่าไหร่ บริษัทเหล่านี้ก็ยิ่งจะสร้างรายได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงมักจะทำทุกวิถีทางที่จะดึงความสนใจให้เราอยู่กับหน้าจอ อย่างเช่นระบบการแจ้งเตือนที่จะคอยบอกเราอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นกลวิธีหนึ่งในการดึงความสนใจของเราให้กลับมาที่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อชีวิตประจำวันของเรายึดโยงอยู่กับการเช็กมือถืออยู่ตลอดเวลา สมรรถภาพในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ย่อมจะถูกรบกวนอยู่เรื่อยๆ

แน่นอนว่าฮารีได้แนะนำเคล็ดลับที่พอจะช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียสมาธิเอาไว้ เช่น การตั้งกฎ 10 นาที นั่นคือเมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าต้องเช็กโทรศัพท์ ให้ลองรอสัก 10 นาทีก่อนเพื่อเป็นการจำกัดพฤติกรรมที่ต้องเช็กโทรศัพท์ทันทีลง หรือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่าง Freedom ที่จะช่วยกำหนดระยะเวลาที่จะใช้อินเทอร์เน็ตให้กับคอมพิวเตอร์ของคุณได้ อย่างไรก็ดี ฮารีก็ได้ย้ำเตือนว่า สภาวะสูญเสียสมาธินี้ไม่ใช่เรื่องที่ปัจเจกจะสามารถแก้ไขได้เสมอไป

แต่ความจริงก็คือ เราอาศัยอยู่ในระบบที่คอยแต่จะสาดน้ำกรดใส่สมาธิของคุณทุกวัน โดยที่คุณก็ถูกพร่ำบอกให้โทษตัวเองไว้ก่อน ว่าทุกสิ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคุณ ในขณะที่สมาธิของคุณก็โดนทำลายไปเรื่อยๆ กล่าวคือ สำหรับฮารีปัญหาเรื่องสมาธิไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่างหาก ซึ่งเมื่อมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การจัดการกับเรื่องนี้จึงไม่สามารถเป็นความรับผิดชอบของปัจเจกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจ การเมือง และสังคมที่ต่างก็พัวพันกันอย่างสลับซับซ้อน

ในแง่นี้ Stolen Focus จึงเป็นหนังสือที่พาเราไปสำรวจรากเหง้าของปัญหาการเสียสมาธิในสังคมปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้ง จริงจัง และที่สำคัญคือการเปิดเผยให้เห็นว่า การสูญเสียการโฟกัสหรือสมาธินั้นแม้มองเผินๆ จะดูเป็นปัญหาระดับบุคคล แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นปัญหาทางสังคมที่ใหญ่เกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้โดยลำพัง

  • อ้างอิง
  • หนังสือ Stolen Focus  | Johann Hari: เขียน

 

Visitors: 1,213,737