รู้จัก 'สารสไตรีนโมโนเมอร์' จากเหตุโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล 'กิ่งแก้ว21' ระเบิด

รู้จัก 'สารสไตรีนโมโนเมอร์' จากเหตุโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล 'กิ่งแก้ว21' ระเบิด

รู้จัก 'สารสไตรีนโมโนเมอร์' จากเหตุโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล 'กิ่งแก้ว21' ระเบิด
5 กรกฎาคม 2564 | โดย ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
 29,598

เหตุการณ์ 'โรงงานโฟมระเบิด' ที่ 'กิ่งแก้ว21' สมุทรปราการ นอกจากผู้บาดเจ็บจำนวนมากแล้ว ยังมีความกังวลต่อ 'สารสไตรีนโมโนเมอร์' ที่รั่วไหลออกมา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและถึงแก่ชีวิตได้

จากเกิดเหตุระเบิดภายในโรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เป็นโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 87 ซอยกิ่งแก้ว 21 ม. 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กลางดึกเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการระเบิดของถังบรรจุเคมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ไฟลุกท่วมเจ็บนับสิบ เพลิงไหม้วอด ขณะเดียวกัน แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีบ้านเรือนเสียหาย 70 หลัง บาดเจ็บ 15 ราย และรถยนต์เสียหาย 15 คัน
 

โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม ได้เร่งให้กรมควบคุมมลพิษ​สืบสวน​ข้อเท็จจริง​ว่าสาเหตุ​เกิดจากอะไร พร้อมกับยอมรับว่าครั้งนี้ มีความเสียหาย​เกิดขึ้น​มากมาย​ทั้งบ้านเรือน​ประชาชน​และผลกระทบทางมลพิษ​ เร่งให้​ผสานกับในพื้นที่​ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหา​พร้อมกับเตือนพี่น้องประชาชน​ในบริเวณ​ดังกล่าวสวมใส่หน้ากากอนามัย​ตลอดเวลา

 

ขณะเดียวกัน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย สั่งประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานดังกล่าวในรัศมี 5 กิโลเมตร อพยพด่วน เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ และหวั่นไฟลามไปติดถังสารเคมี 20,000 ลิตร ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ยังมีความกังวลเรื่อง 'สารสไตรีนโมโนเมอร์' เป็นสารตั้งต้นถังเก็บถูกไฟไหม้และระเบิด กระจายออกไปโดยรอบถึง 10 กิโลเมตร

 
  • สารสไตรีนโมโนเมอร์ คืออะไร 
 
 
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว  Sonthi Kotchawat โดยระบุถึงเหตุการ 'โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้' และสารสไตรีนโมโนเมอร์ ว่า สารสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นของเหลวใสและข้นเหนียว สูตรทางเคมี C8H8 , CAS #. 100-42-5 น้ำหนักโมเลกุล 104.16 ถ้าสารมีอุณหภูมิ 31°C (88°F) ขึ้นไป จะติดไฟและกลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) จำนวนมากอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
 
 
  • การใช้งาน
 
 
1. ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์ และพลาสติก เรซิน สี ฉนวนที่เป็นโฟม
 
2. ใช้ผลิตพลาสติกกับสารอื่น เช่น Acrylonitrile- butadiene- styrene plastics
 
3. ใช้ทำกระเป๋าแบบแข็ง Acrylonitrile- styrene plastics
 
4. ใช้ในชิ้นส่วนรถยนต์และของใช้ในบ้านและบรรจุภัณฑ์
 
  
  • ผลต่อสุขภาพ
 
1. เป็นสารระเหย แม้อยู่ในน้ำหรือดิน การปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินเพราะสารนี้ไม่ค่อยจับตัวกับดิน
 
2. ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายระบบทางเดินหายใจ และคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา
 
3. ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้
 
4. การหายใจเข้าไปในระยะนานๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง
 
5. ส่วนผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าเข้าตา จะเคืองตา
 
6. ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้ง แตก
 
  • หลักการปฐมพยาบาล

 

1. ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผิวหนัง ให้ล้างผิวหนังบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุด เพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีเป็นกรดให้รีบถอดเสื้อผ้าออกก่อน 

 

 

2. ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที ป้ายขี้ผึ้งป้ายตา แล้วรีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว 

 

3. ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีในการสูดดม ให้ย้ายผู้ที่ได้รับสารไปที่อากาศบริสุทธิ์ ประเมินการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ทำการ CPR 

 

162545932832

 

  • 7 ขั้นตอนการทำ CPR

 

ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า CPR วิธีการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินร้ายแรง เพื่อทำให้ระบบไหลเวียนในเลือดผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ โดยการนำออกซิเจนเข้าร่างกาย และทำให้หัวใจเต้น สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจที่หมดสติเฉียบพลัน หยุดการหายใจจาการจมน้ำ ถูกไฟฟ้าช็อต ขาดอากาศหายใจได้ด้วย

 

1. ตรวจดูว่าผู้ป่วยหมดสติจริงหรือไม่ โดยการเรียกและตีที่ไหล่เบาๆ

 

2. จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายราบกับพื้นแข็งและตรวจดูในปากว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้นำออก

 

3. เปิดทางเดินหายใจโดยดันหน้าผากและยกคางให้ใบหน้าหงายขึ้น

 

4. ตรวจว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่โดยการฟัง ก้มลงให้หูอยู่ใกล้ปากและจมูกของผู้ป่วย ฟังเสียงลมหายใจตามองดูหน้าอกว่าขยับขึ้นลงหรือไม่

 

5. ถ้าผู้ป่วยหายใจดีและไม่มีการเจ็บของกระดูกคอและกระดูกสันหลัง ให้จัดท่านอนตะแคงกึ่งคว่ำ ให้จับแขนด้านไกลตัว ข้ามหน้าอกมาวางมือไว้ที่แก้มอีกข้างหนึ่งแล้วดึงตัวให้พลิกตัว

 

6. ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าปาก โดยประกบปากผู้ป่วยเป่าลมเข้าปากผู้ป่วยช้า ๆ สม่ำเสมอ10-12 ครั้ง ใน 1 นาที อย่าเป่าติดกันโดยไม่รอให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออก (ปัจจุบัน เป่าปาก 2 ครั้ง นวดหน้าอก : 30 ครั้ง : จำนวน 5 รอบ )

 

ข้อควรระวัง คือ ต้องมั่นใจว่าในปากผู้ช่วยเหลือและผู้ป่วยไม่มีแผล ไม่เป่าลมมากจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการอาเจียน ซึ่งอาจมีเศษอาหารติดทางเดินหายใจ

 

7.ตรวจชีพจร ให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางลงบนลูกกระเดือกของผู้ป่วย วางแล้วเลื่อนมือลงมาด้านข้างระหว่างช่องลูกกระเดือกกับกล้ามเนื้อคอ

 

  • กรณีเกิดเพลิงไหม้

 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ระบุใน คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง ทั้งกรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย และกรณีเพลิงไหม้รุนแรง ดังนี้ 

 
กรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย


ใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ โฟม (Regular foam) หรือฉีดน้ำเป็นฝอย

 

กรณีเพลิงไหม้รุนแรง

 

1. ใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง และให้ฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อหล่อเย็นให้กับถังเก็บ

2. ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงมากขึ้น

3. หากกระทำได้ให้เคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุที่ยังไม่เสียหายออกจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้

4. ให้รายงานแจ้งเหตุ และปฏิบัติตามแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

5. แจ้งเหตุการณ์เกิดเพลิงไหม้ไปยังโรงงานข้างเคียง เพื่อป้องกันเหตุหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเพลิงไหม้

6. ในกรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นต้น เพื่อขอความช่วยเหลือในการควบคุมสถานการณ์

 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/947056?utm_source=grf-eng&utm_medium=partner&utm_campaign=giraff.io


Visitors: 1,429,848