ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

การใช้ซอฟต์แวร์ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้สร้างก่อน โดยใบอนุญาต (license) เป็นสัญญาระหว่างผู้สร้างกับผู้ใช้ซอฟต์แวร์

ใบอนุญาต เป็นการให้สิทธิผู้ใช้ในการใช้ซอฟต์แวร์ได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งผลก็คือใบอนุญาตทำหน้าที่เหมือนคำสัญญาว่าผู้สร้างจะไม่ฟ้องร้องผู้ใช้ในการใช้ซอฟต์แวร์ซึ่งถือเป็นสิทธิของผู้สร้างแต่เพียงผู้เดียว

โดยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ถือเป็นงานวรรณกรรม คือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้น ซึ่งได้รับการคุ้มครองแบบลิขสิทธิ์ ได้แก่

  • โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Program หรือ Computer Software) คือ ชุดคำสั่งที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน
  • งานฐานข้อมูล (Data Base) คือ ข้อมูลที่ได้รับเก็บรวบรวมขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ความสำคัญและข้อควรรู้

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ลิขสิทธิ์ หมายความว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

และตามพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ กำหนดว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด

ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หมายถึง เป็นผู้เขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเอง กรณีที่ไม่ได้ทำขึ้นมาเอง แต่เป็นการว่าจ้างพัฒนาขึ้นมา โดยมีสัญญาว่าจ้าง ผลลงานที่ได้จะเป็นของผู้ว่าจ้าง ผู้ถูกว่าจ้างจะนำไปขายต่อให้แก่องค์กรอื่นไม่ได้

  • เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างของบริษัทนำซอฟต์แวร์หรือผลงานลิขสิทธิ์ที่คิดขึ้นขณะที่เป็นลูกจ้างของเราออกไปหาผลประโยชน์ บริษัทจะต้องให้ลูกจ้างเซ็นสัญญายกลิขสิทธิ์ใน     ผลงานทุกอย่าง ที่ทำขึ้นขณะเป็นลูกจ้างของเราให้แก่บริษัท
  • ในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาระหว่างกัน เมื่อลูกจ้างทำการเขียนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ขึ้น ซอฟต์แวร์นั้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง แต่บริษัทสามารถนำซอฟต์แวร์ออกเผย     แพร่ หรือจำหน่ายได้ ตามวัตถุประสงค์ของการจ้างงานนั้น
  • เมื่อพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเว็บไซต์เสร็จ จะได้รับการคุ้มครองทันที โดยไม่ต้องไปทำการจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่เราสามารถไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ไว้ได้ เพื่อ     เป็นการแจ้งให้ผู้อื่นรับทราบ
  • หากเจ้าของขายลิขสิทธิ์ให้ผู้อื่นแล้ว ก็ยังสามารถแสดงตนว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์นั้นได้
  • หากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิตลง จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นต่อไปอีก 50 ปี หลังจากเสียชีวิต และกรณีถ้ามีทายาท สิทธิในการครอบครองลิขสิทธิ์นั้นจะตกแก่          ทายาท(ในระยะเวลาไม่เกิน 50 ปี) เช่นเดียวกัน
  • งานที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพราะอายุแห่งการคุ้มครองสิ้นสุดลง หากนำมารวบรวม ผู้ทำการรวบรวมสามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นได้
  • เมื่อซื้อซอฟต์แวร์มา แล้วมีการทำซ้ำ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือเสียหาย(Back up) ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
  • การดัดแปลงซอฟต์แวร์ โดยได้รับอนุญาตถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
  • การติชมหรือวิจารณ์ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ถือว่าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

 

 บทลงโทษเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์

  •  ในกรณีที่บุคคลใด ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บุคคลนั้นจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท
  • หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม (สนับสนุนให้เกิดการละเมิด) : มีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาท หากทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือ 50,000 -  400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกเหนือจากการแก้ไขบรรเทาความเสียหายในคดีอาญาแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หากศาลพบว่ามีการกระทำความผิดจริงอาจมีคำห้ามมิให้กระทำละเมิดอีกต่อไป และมีคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเนื่องจากการละเมิดดังกล่าว แต่บางครั้ง ก็อาจเจรจายอมความกันได้

 

.....อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์แต่ละชนิดที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน มีกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ การทำความเข้าใจเรื่องสิทธิการใช้งานอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรเรียนรู้ เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้

 

 

 

 

ขอบคุณที่มา : ลงทุนในบัญชีและภาษี
https://www.blockdit.com/posts/5fe036924cc55d0328fba687?id=5fe036924cc55d0328fba687&series=600c0bb02814f01d95e4ee1a



 

 
Visitors: 1,429,848