ShareWaste แพลตฟอร์มแชร์ขยะให้เพื่อนบ้าน น่าสนใจอย่างไร ?
ShareWaste แพลตฟอร์มแชร์ขยะให้เพื่อนบ้าน น่าสนใจอย่างไร ?
ช่วงที่ผ่านมา ขยะที่เกิดจากอาหารทั่วโลก มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด แค่เฉพาะสหรัฐอเมริกา ก็มีปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าภายใน 50 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าประชากรเสียอีก
หากมาดูที่ประเทศไทยบ้าง จะพบว่าร้อยละ 64% ของขยะทั้งหมดเกิดจากอาหาร และมีปริมาณมหาศาลถึง 17 ล้านตันต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
เพราะปกติขยะเหล่านี้มักจะถูกกำจัดโดยการฝังกลบลงในดิน เพื่อรอวันย่อยสลาย แต่ทว่ากระบวนการย่อยสลายขยะนั้นจะค่อย ๆ ผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า
แต่มีแพลตฟอร์มหนึ่งที่กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาส นั่นคือ ShareWaste แพลตฟอร์มแชร์ขยะเศษอาหารแก่เพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนขยะที่มีแต่โทษให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา แถมยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
ทำไมคนเราถึงต้องแชร์ขยะอาหารให้แก่คนอื่น ?
และ ShareWaste มีเรื่องราวน่าสนใจอย่างไร ?
จุดเริ่มต้นของ ShareWaste เกิดจากคู่รักคู่หนึ่งคือคุณ Eliska Bramborova และคุณ Tomas Brambora ซึ่งพวกเขาได้ย้ายที่อยู่อาศัยจากปราก ประเทศเช็กเกีย สู่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ได้สำเร็จ ทั้งคู่ก็ต้องพบเจอปัญหาเรื่อง “การกำจัดขยะ” ซึ่งพวกเขามักจะมีเศษอาหารหลังจากการทานอาหารอยู่เป็นประจำ แต่พวกเขาก็ไม่อยากนำเศษอาหารเหล่านี้ไปทิ้งให้เป็นขยะที่ส่งผลเสียต่อโลก
ดังนั้น ทั้งคู่จึงลองกลับมาคิดหาวิธีแก้ปัญหากันอยู่สักพัก จนได้คำตอบว่า ถ้าเศษอาหารเหล่านี้ถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก หรืออาหารสัตว์ ก็น่าจะเกิดประโยชน์ไม่น้อย แต่อุปสรรคก็คือ พวกเขาไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับการทำสิ่งเหล่านี้ และนี่ก็น่าจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่คนจำนวนมากต้องพบเจอเช่นกัน
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ทั้งสองจึงตัดสินใจนำเศษอาหารไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านที่เขาต้องการ และมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนขยะเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์
หลังจากที่พวกเขาทำแบบนี้ไปสักพัก ก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากเพื่อนบ้าน โดยอย่างแรก คือเป็นการช่วยให้เพื่อนบ้านของพวกเขาสามารถลดค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้ที่ปลูกต้นไม้ ก็จะได้ปุ๋ยหมักจากธรรมชาติ ซึ่งมีข้อดีมากมาย เพราะเป็นสารเติมแต่งดินที่ยอดเยี่ยมและเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่พืชชอบด้วย และที่สำคัญเลยคือสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของฟรีอีกด้วย
สอง ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านรอบข้าง เพราะปกติแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักจะอาศัยแบบต่างคนต่างอยู่กัน
แต่หลังจากที่ทั้งคู่เริ่มกิจกรรมเหล่านี้ ก็ได้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น แม้กระทั่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับขยะแล้วก็ตาม จนนำไปสู่การสร้างสังคมชุมชนขนาดเล็กขึ้นมา
สาม ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรอีกด้วย เช่น การทำปุ๋ยหมักที่บ้านสามารถทำได้อย่างไร หรือการสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ ปลูกสวนผัก มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ในขณะที่คนเรียนรู้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้น คนสอนก็เอนจอยที่เจอคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่
จากเรื่องราวดี ๆ เหล่านี้ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจสร้าง “ShareWaste” แพลตฟอร์มที่ให้บริการจับคู่ฟรีระหว่างผู้คนที่ต้องการกำจัดเศษอาหารกับผู้คนที่ยินดีจะรับ
โดยที่บริการแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคคลทั่วไป แต่เหล่าร้านค้าต่าง ๆ ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร
ซึ่งการใช้งานจะแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ “คนที่ต้องการขยะ” กับ “คนบริจาคขยะ”
คนที่ต้องการขยะ ปักที่อยู่ลงแผนที่บนแพลตฟอร์ม และใส่ข้อมูลขยะที่ต้องการ เช่น หากเป็นคนเลี้ยงไก่อย่างเดียว จะรับเฉพาะเศษอาหารประเภทนี้เท่านั้น
ส่วนคนบริจาคขยะ เพียงป้อนที่อยู่ของตัวเอง หลังจากนั้นรายชื่อผู้ที่อยู่รอบข้างจะปรากฏขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับติดต่อช่วงเวลาที่จะนำขยะอาหารไปส่ง
หลังจากแพลตฟอร์มเปิดให้ใช้บริการ ก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากเหล่าผู้ใช้งานเช่นเดียวกัน
ผู้ใช้งานคนหนึ่งชื่อว่า Kylie Newberry บอกว่าประทับใจในแพลตฟอร์มนี้อย่างมาก เพราะตัวเองเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องการเปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย แต่พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถทำได้
ซึ่งการมาของ ShareWaste เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องขยะให้เธอไปโดยทันที และยังทำให้เธอสนิทสนมกับเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
หากเรามองในด้านสิ่งแวดล้อม ก็ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะเราอาจคิดว่า ตัวการที่สร้างขยะจากอาหารมากที่สุด อาจเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหารขนาดใหญ่
แต่จากงานวิจัยกลับพบว่า ครัวเรือนต่างหาก ที่เป็นแหล่งผลิตขยะจากอาหารรายใหญ่ที่สุด ดังนั้น หากเราทุกคนเริ่มหันมาสนใจกับขยะถุงเล็ก ๆ ที่บ้านของตัวเองกันเสียก่อน
ไม่แน่ว่า ในอนาคตพวกเราอาจจะไม่ต้องขุมหลุมฝังกลบขยะ “แห่งใหม่” อีกต่อไป..
สำหรับในปัจจุบันแพลตฟอร์ม ShareWaste สามารถใช้งานได้ทั่วโลก แต่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในประเทศออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตามก็น่าคิดต่อว่า แม้ ShareWaste จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ถ้าคนทั่วโลกหันมาใช้แพลตฟอร์มนี้กันมากขึ้น ก็คงจะสร้างอิมแพ็กต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยทีเดียว..
References:
ที่มา : ลงทุนเกิร์ล
|