ช่วยน้องส้มด้วย! แซลมอนในฟาร์มเลี้ยงกำลังแย่ พวกมันกำลังจะตายเพราะวิกฤตโลกร้อน

ช่วยน้องส้มด้วย! แซลมอนในฟาร์มเลี้ยงกำลังแย่ พวกมันกำลังจะตายเพราะวิกฤตโลกร้อน


.
คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ‘วิกฤตโลกร้อน’ ได้คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของปลาแซลมอนในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยิ่งยวด กระทบต่อทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของคนหาปลาพื้นเมืองไปจนชีวิตหมีกริซลี
.
ตัวอย่างเช่นปลาแซลมอนแอตแลนติก (หนึ่งสายพันธุ์ที่เรานิยมนำมาทานกัน) ตัวของมันถูกจัดให้เป็นปลาน้ำเย็น ก็ย่อมจะอยู่ไม่ได้เมื่ออุณหภูมิของน้ำเพิ่มสูงตามสภาพอากาศที่ถูกปกคลุมด้วย ‘คลื่นความร้อน’ ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะกินเวลานานกว่าที่เคยเป็นในอดีต
.
น้ำที่ร้อนขึ้นทำให้ออกซิเจนลดน้อยลง เมื่ออากาศในน้ำมีไม่พอ แซลมอนก็ต้องออกแรงว่ายน้ำมากขึ้น ใช้พลังงานเกินขีดพอดีที่ควรใช้เพื่อไปหาออกซิเจน อาหาร และน้ำที่เย็น ทำสุขภาพปลาอ่อนแอและย่ำแย่ลง
.
ซึ่งนั่นก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคน เริ่มใช้ปลาแซลมอนเป็นเครื่องมือชี้วัดสัญญาณอันตรายและระดับความรุนแรงของวิกฤตโลกร้อนกันเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย และเห็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงได้ทันตา แบบเดียวกับที่สังเกตได้จากการฟอกขาวของปะการัง และการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก หรือในเชิงเปรียบเปรยว่าเป็น ‘นกขมิ้นในเหมืองถ่านหิน’
.
ที่ผ่านมาว่า เราอาจคิดว่าปัญหานี้เป็นเรื่อง ‘ไม่เป็นไร’ - อย่างไรเสียก็ยังมีแซลมอนจากฟาร์มเลี้ยงอยู่ พวกมันคงไม่สูญพันธุ์ไปในช่วงชีวิตหรือทำให้คนอดอยากหรอก
.
หากเป็นเมื่อก่อน คิดเช่นนั้นคงไม่ผิดอะไรมากนัก - แต่ตอนนี้ก็ต้องขอบอกว่า ภัยจากโลกร้อนนั้นได้เดินทางมาถึงแซลมอนที่เพาะเลี้ยงตามฟาร์มต่างๆ เข้าให้แล้ว ด้วยสาเหตุเดียวกันในเรื่องน้ำในมหาสมุทรที่เลี้ยงแซลมอนนั้นมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

ตามปกติแล้ว การทำฟาร์มแซลมอนในมหาสมุทร ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว เนื่องจากการเลี้ยงปลารวมกันอยู่ในกรงตาข่าย (เส้นรอบวงประมาณ 400 ฟุตและลึกประมาณ 30 ฟุต) กรงละเป็นจำนวนมากๆ ย่อมนำมาซึ่งสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด การให้ยาเคมีทำให้แหล่งน้ำตรงนั้นเกิดการปนเปื้อนกลายเป็นน้ำเสีย ซึ่งโดยเฉลี่ยอัตราการตายของแซลมอนในฟาร์มจะอยู่ที่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมดทุกฟาร์มทั่วโลก
.
แต่เมื่อมีเรื่องความร้อนของน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้อัตราการตายของปลาเพิ่มสูงขึ้น
.
เรื่องนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2019 อันเป็นปีที่อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรพุ่งขึ้นสูงกว่าปีใดๆ ทำให้แซลมอนภายใต้การดูแลของ Northern Harvest Sea Farm ตายสูงถึง 2.6 ล้านตัว หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิต
.
Just Economics ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยในสหราชอาณาจักร ได้ทำการศึกษาวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นกับฟาร์มแซลมอน ชี้ว่า อุตสาหกรรมฟาร์มแซลมอนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตโลกร้อน ที่อย่างไรก็เกิดขึ้นแน่ๆ และเกิดขึ้นไปแล้วในบางส่วนของโลก
.
ดังที่ได้กล่าวไป การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล จะทำให้ระดับออกซิเจนลดลง ปลาในตาข่ายที่ไม่สามารถว่ายไปหาออกซิเจนที่อื่นได้ ก็จะพบจุดจบก่อนการเดินทางมาถึงจานอาหาร

นอกจากนั้น น้ำที่ร้อนขึ้นยังทำให้เกิดการระบาดของเหาทะเลและทำให้ยาฆ่าแมลงตามปกติใช้การไม่ได้ผล ทั้งยังเพิ่มความถี่ของการเกิดสาหร่ายที่เป็นอันตรายต่อปลา (ตามผลการศึกษาในปี 2022 โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา)
.
ความยากของเรื่องนี้ ยังมีเรื่องที่ว่าแนวโน้มการพบเจอน้ำเย็นในอนาคตจะเป็นเรื่องยากขึ้น ไม่ว่าเราจะเสกให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็น ‘ศูนย์’ ได้ในวันพรุ่งนี้ทันที แต่ของเก่าที่สะสมมาก็ยังสร้างผลกระทบอยู่ดี
.
อีกทั้งการย้ายสถานที่เลี้ยงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำฟาร์มปลาก็ถูกจับจองไปจนเกือบจะหมดแล้ว รวมไปถึงข้อครหาที่ว่าที่ไหนมีฟาร์มแหล่งน้ำที่นั่นจะเสีย ก็ยิ่งทำให้การขออนุญาตทำฟาร์มปลาแหล่งใหม่ๆ ทำได้ยากยิ่งขึ้น
.
แล้วทางออกของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
.
ฝ่ายเจ้าของกิจกรรมอุตสาหกรรมฟาร์มปลาแซลมอนเองก็ตระหนักถึงปัญหานี้ดี และพยายามหาทางออกในการผลิตฐานอาหารให้กับมนุษย์โลกด้วยวิธีใหม่ๆ กันอยู่
.
ในแนวทางที่เริ่มขยับกันมาบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น การหันมาพัฒนาแหล่งเพาะเลี้ยงแซลมอนบนบกในระบบปิดไม่ยุ่งเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในช่วงการทดลองและพัฒนา แต่วิธีนี้ยังไม่แพร่หลายสักเท่าไหร่นักเพราะมีต้นทุนสูง
.
หรือในกลุ่มนักวิจัยของนอร์เวย์และออสเตรเลียก็กำลังพยายามเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนที่ต้านทานความร้อนได้ดีกว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ - แต่ก็ยังไม่สำเร็จ
.
แต่ถ้าถามว่าเราจะยังมีแซลม่อนกินกันอยู่ไหม ก็ยังคงมี แต่เชื่อว่าเลยถ้าวิกฤตโลกร้อนยังทวีความรุนแรงต่อไป และมีวิธีการใหม่ๆ ในการทำฟาร์ม แซลม่อนอาจหายาก และมีราคาพุ่งสูงจนเราเอื้อมไม่ถึงเลยก็เป็นไปได้
.
ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเราจะเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้อย่างไร เราก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าในอนาคตวิกฤตโลกร้อนที่มีแนวโน้มแรงขึ้นจะตามคุกคาม หรือเพิ่มความเสี่ยงใหม่ๆ ต่อแนวทางที่เปลี่ยนไปหรือไม่
.
ในวิกฤตที่ยังเดินทางมาไม่ถึง หนทางที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่การเปลี่ยน แต่อาจเป็นการร่วมมือกันทำให้โลกกลับมามีความสมดุลได้อีกครั้ง
.
อ้างอิง: Saltwire, Without salmon farming, Newfoundland town would be just 'waiting to die' mayor says of industry that's saving Hermitage, https://shorturl.asia/xX7cu
Yale, Warming Waters Challenge Atlantic Salmon, Both Wild and Farmed, https://shorturl.asia/jkhCf

 

ที่มา : BrandThink.me
https://www.instagram.com/p/CjO9R06vIM9/

 

Visitors: 1,211,483