ข้าวไม่ใช่อาหารหลักอีกต่อไป? คนไทยกินข้าวน้อยลง หักดิบ-ตัดแป้ง เพราะกลัวอ้วน

ข้าวไม่ใช่อาหารหลักอีกต่อไป? คนไทยกินข้าวน้อยลง หักดิบ-ตัดแป้ง เพราะกลัวอ้วน

แม้ตลาดข้าวไทยจะมีมูลค่าสูงกว่า “แสนล้านบาท” เป็นที่รู้จักในฐานะอาหารหลักของคนไทยมาช้านาน แต่รู้หรือไม่ว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กลับมีตัวเลขออกมาว่า คนไทยกินข้าวน้อยลงทุกวัน จากเดิมที่มีปริมาณการบริโภคข้าวเฉลี่ย 105 กิโลกรัม/คน/ปี ปัจจุบันพบว่า หล่นลงมาเหลือเพียง 75 กิโลกรัม/คน/ปี เท่านั้น หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์กลมๆ จะเท่ากับว่า คนไทยกินข้าวน้อยลงราวๆ 40-50% ทีเดียว

 

“ปุณฑริก ตติยไพบูลย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (การตลาดช่องทางโมเดิร์นเทรด) บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด และตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากตอนนี้มีตัวเลือกอาหารการกินหลากหลาย ก่อนหน้านี้ความชันของกราฟอาจจะยังไม่ชัดเจน ทว่า ระยะหลังเทรนด์สุขภาพมาแรง การกินแบบลดแป้ง-ลดข้าว ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คนไทยบางส่วนหันไปกินอย่างอื่นที่อิ่มท้องเหมือนกันทำให้อัตราการบริโภคข้าวลดน้อยลงเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันแม้ปริมาณจะลดลง แต่คุณภาพของข้าวก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น คนไทยบางกลุ่มเปิดรับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในการคิดค้นข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างเช่น “ข้าวน้ำตาลต่ำ” ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย “ปุณฑริก” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สัดส่วนคนกินข้าวเพื่อสุขภาพอย่าง “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” หรือ “ข้าว กข 43” เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้างอย่างที่ควรจะเป็น

สิ่งสำคัญ คือจะทำอย่างไรให้คนไทยรู้จักพันธุ์ข้าวหลากหลายกว่านี้ มิติการรับรู้ของคนโดยส่วนใหญ่จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือข้าวขาว ข้าวกล้อง และข้าวเหนียว คล้ายกับแต่ก่อนที่ในตลาดกาแฟจะแบ่งหยาบๆ เป็นอเมริกาโน และลาเต้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วข้าวไทยมีมากกว่าหลักหมื่นสายพันธุ์ ถ้าผู้บริโภครู้จักพันธุ์ข้าวหลากหลายก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรผู้เพาะปลูก เพิ่มมูลค่าให้ทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชนได้

 

หากถามว่า เป็นเพราะราคาที่สูงกว่าข้าวหอมมะลิหรือไม่ที่ทำให้ข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ไม่ได้รับความนิยม “ปุณฑริก” ระบุว่า ราคาเป็นเรื่องรอง แต่ประเด็นหลักคือความเข้าใจในการกินมากกว่า ทุกวันนี้หลายคนเลือกลดแป้ง ลดข้าว หรือตัดข้าวออกจากสมการไปเลยก็มี สิ่งที่สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงสื่อสารอยู่บ่อยๆ คือการกินข้าวให้ได้สัดส่วน จากที่ตนพูดคุยหารือกับแพทย์และนักโภชนาการต่างระบุตรงกันว่า กินข้าวได้ แต่ต้องเลือกเมนูให้เหมาะสม มองว่า จริงๆ แล้ว “กับข้าว” ที่กินคู่กันต่างหากที่เป็นข้อควรระวังมากกว่า

“สิ่งหนึ่งที่เราคิดกันและคุยกัน คือข้าวไม่ใช่ผู้ร้าย ทำอย่างไรให้คนหันมากินเหมือนเดิม และไม่อ้วนอย่างที่คิด ถามว่า กินข้าวแล้วไม่อ้วนจริงหรือไม่ ก็จริงนะ จากที่เราคุยกับหลายๆ กลุ่ม ทั้งแพทย์และนักโภชนาการอาหารระบุว่า เรากินข้าวได้ แต่ต้องได้สัดส่วนกับตัวกับข้าว เรื่องเมนูต่างๆ ถ้าเลือกให้ดีอาจจะไม่ต้องถึงจุดตัดข้าวออก อย่าง “ข้าวกข 43” มีปริมาณน้ำตาลน้อย และหม้อหุงข้าวบางยี่ห้อเอาน้ำตาลออกได้ราวๆ 40% เลยก็มี”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนการบริโภคในครัวเรือนลดลง แต่พบว่า มูลค่าตลาดข้าวไม่ได้ลดน้อยลงไป เนื่องจากการเติบโตของร้านอาหารยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สัดส่วนการเติบโตของตลาดข้าวไม่ได้ลดลงเลย เพราะมีส่วนของร้านอาหาร และธุรกิจรับจัดเลี้ยง หรือ “Catering” เข้ามาเสริมทัพ ทำให้ปริมาณอุปสงค์ข้าวยังได้สมดุลตามกลไกเหมือนเดิม 

จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คนทำกับข้าวกินเองที่บ้านน้อยลง การสั่งอาหารจากแอปเดลิเวอรีมีเยอะขึ้น “ปุณฑริก” บอกว่า ปัจจุบันมีร้านอาหารเปิดใหม่ “หลักหมื่นร้านค้า” แทบทุกวัน แอปพลิเคชันเหล่านี้ทำให้การเปิดร้านอาหารง่ายขึ้น แม้ยอดการสั่งซื้อข้าวจากร้านอาหารจะไม่ได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ แต่การมีร้านเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดเรื่อยๆ ก็ช่วยเพิ่มแชร์ในตลาดได้เป็นอย่างดี

 

ที่มา : https://www.msn.com/th-th/news

 

 

Visitors: 1,405,426