กระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) กำลังหมุนกลับด้าน กระทบโลกอย่างไร

กระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) กำลังหมุนกลับด้าน กระทบโลกอย่างไร

 

หลายคนอาจยังไม่ลืมปรากฏการณ์แปลกๆ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 ที่จู่ๆ ตื่นเช้ามากลางฤดูร้อน อากาศก็หนาวเย็นลงฉับพลัน อุณหภูมิในกรุงเทพมหานครเช้าวันนั้นอยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือยิ่งหนาวกว่านั้น ต่ำสุดคือ 12.0 องศาเซลเซียส ที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เรียกว่าทำเอางงกันไปทั้งประเทศ

 

นั่นคือครั้งแรกๆ ที่เราได้ยินคำว่า ‘โพลาร์วอร์เท็กซ์’ (Polar Vortex) จากสื่อสำนักต่างๆ โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ เพราะปรากฏการณ์หนาวเย็นฉับพลันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

 

‘โพลาร์วอร์เท็กซ์’ คืออะไร

 

โพลาร์วอร์เท็กซ์หรือกระแสลมวนขั้วโลกนั้น คือกระแสลมความเร็วสูงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) หรือที่ความสูงประมาณ 50 กิโลเมตรจากผิวโลก กระแสลมนี้จะพัดวนรอบขั้วโลกทั้ง 2 ขั้ว โดยในขั้วโลกเหนือ กระแสลมนี้จะหมุนทวนเข็มนาฬิกา 

 

โดยปกติแล้ว โพลาร์วอร์เท็กซ์มีบทบาทในการเก็บรักษาอากาศหนาวเย็นเอาไว้ที่ภูมิภาคอาร์กติกไม่ให้ไหลออก รวมทั้งไม่ให้ความร้อนจากภายนอกไหลเข้าไปเมื่อกระแสลมนี้พัดเสถียร แต่หากปีใดกระแสลมโพลาร์วอร์เท็กซ์อ่อนแรงลงดังเช่นในปี 2554 ก็จะเกิดสภาพอากาศหนาวเย็นในละติจูดต่ำ เนื่องจากอากาศหนาวเย็นที่เก็บกักไว้ได้รั่วไหลลงมาจนทำให้เกิดอากาศหนาวในฤดูร้อนขึ้นกับหลายประเทศ (รูปด้านบนคือ ‘โพลาร์วอร์เท็กซ์’ ในสภาพปกติ)

 

ล่าสุดเกิดอะไรขึ้น

 

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) ตรวจพบเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ทิศทางของกระแสลมวนบริเวณขั้วโลกเหนือหรือโพลาร์วอร์เท็กซ์ เกิดการหมุนกลับด้าน นั่นคือเปลี่ยนจากการหมุนทวนเข็มไปเป็นการหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยปรากฏการณ์นี้ค่อยๆ เกิดขึ้นจากการที่ความเร็วของกระแสลมโพลาร์วอร์เท็กซ์เริ่มลดต่ำลงจนเกือบหยุดนิ่งในช่วงหนึ่ง จากนั้นเครื่องมือของโนอาก็ตรวจพบในเวลาต่อมาว่า ความเร็วที่ลดลงนั้นกำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่เป็นทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางปกติ โดยสามารถวัดค่าความเร็วได้สูงสุดถึง -20.5 เมตรต่อวินาที (เครื่องหมายลบหมายถึงหมุนถอยหลัง)

 

 

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

 

ดร.เอมี บัตเลอร์ ผู้นำทีมวิจัยโพลาร์วอร์เท็กซ์ของโนอา กล่าวถึงที่มาของปรากฏการณ์นี้ว่า เกิดจากการที่คลื่นรอสส์บี (Rossby Wave) ซึ่งเป็นคลื่นที่วนอยู่รอบโลกจากความแตกต่างของอุณหภูมิที่โดยปกติคลื่นนี้จะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เกิดการหยุดชะงักลงที่ระดับความสูงระดับสตราโตสเฟียร์ ทำให้ชั้นบรรยากาศที่เป็นที่ตั้งเดียวกันกับกระแสลมโพลาร์วอร์เท็กซ์เกิดความอบอุ่นขึ้นกว่าปกติ ลักษณะดังกล่าวทำให้การหมุนวนของโพลาร์วอร์เท็กซ์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือพัดย้อนกลับในทิศตรงกันข้าม ส่วนสาเหตุที่คลื่นรอสส์บีที่ระดับสตราโตสเฟียร์เกิดการหยุดชะงัก อาจเนื่องมาจากอุณหภูมิที่ผิวมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน อาจเข้ากันได้กับสภาพเอลนีโญรุนแรงที่เกิดในปีนี้ด้วย

 

ผลของการหมุนกลับด้านคืออะไร

 

โชคดีที่แม้หมุนกลับด้าน แต่กระแสลมวนขั้วโลกหรือโพลาร์วอร์เท็กซ์ยังมีความเร็วลมค่อนข้างสูง รวมทั้งมีการหมุนอย่างเสถียร ทำให้บทบาทของการเป็นกำแพงกั้นความเย็นจากขั้วโลกไม่ให้รั่วไหลลงมายังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่เพิ่มมาคือเกิดการเคลื่อนย้ายโมเลกุลของก๊าซโอโซนจากแถบศูนย์สูตรไปสู่ขั้วโลก ทำให้บริเวณขั้วโลกมีโอโซนสูงกว่าปกติ โดยในขณะนี้ การเพิ่มขึ้นของโอโซนขั้วโลกหรือ ‘Ozone Spike’ มาถึงจุดสูงสุดนับย้อนไปถึงปี 1979

 

ฟังดูก็เป็นเรื่องดี เพราะโอโซนมีหน้าที่ป้องกันรังสีอันตรายจากอวกาศ ปัญหาคือการเคลื่อนย้ายในลักษณะนี้ อาจทำให้ปริมาณของโอโซนในแถบศูนย์สูตรที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าขั้วโลกลดปริมาณลง 

 

“ปรากฏการณ์นี้จะเกิดไม่นาน” ดร.บัตเลอร์ อธิบาย “เวลานี้ค่าความเร็วของการหมุนของโพลาร์วอร์เท็กซ์กำลังลดลง ทีมงานเราคาดว่ามันจะกลับไปหมุนตามทิศทางเดิมใน 10 วันนับจากนี้ และหากเป็นตามที่คาด การเกิด Ozone Spike ของขั้วโลกก็จะกลับสู่สภาพปกติ”

 

ที่ควรกังวลไม่ใช่เรื่องของการเคลื่อนย้ายโอโซนไปมา ที่แม้จะเกิดขึ้นแล้วแต่ก็คงอยู่ไม่นานและยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจน แต่ที่ต้องใส่ใจคือสภาวะโลกร้อนไปเร่งสภาพเอลนีโญจนทำให้ธรรมชาติของลมขั้วโลกเปลี่ยนแปลงไปได้ สิ่งนี้บอกเราว่ามนุษย์ทุกคนยังคงต้องใส่ใจในการลดต้นเหตุของโลกร้อนให้ได้ผลในเร็ววัน ก่อนที่มันจะส่งผลลามไปถึงระบบอากาศกว้างขึ้นหรือมากขึ้นกว่านี้

 

ภาพ: Scott Olson / Getty Images

อ้างอิง: 




Visitors: 1,430,173