นมจากพืชดีกับคน แล้วดีกับโลกด้วยไหม?

สำหรับใครก็ตามที่ชอบดื่มนมเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะรสชาติใด เปรี้ยว หวาน มัน จืด เป็นนมวัวหรือนมถั่วเหลือง และนมชนิดอื่นๆ เราทราบกันหรือไม่ว่านมชนิดใดที่ดีต่อโลกมากที่สุด

จั่วหัวมาเช่นนี้ อาจชวนมึนงงสักเล็กน้อย เพราะตามปกติคนเราจะดื่มนมด้วยเหตุทางสุขภาพ คัดสรรนมที่ดีต่อร่างกาย (และรสชาติ) เอาไว้ก่อน

แต่ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุร้อยแปดพันเก้าจากชีวิตประจำวัน (โดยไม่รู้ตัว) ก็อาจต้องรู้กันหน่อยว่านมแบบไหนที่ดีกับเราแล้ว ยังดีกับโลกด้วยเช่นกัน

 

 

การเติบโตของอุตสาหกรรมนมจากพืช

แน่นอนว่า นมวัว ถือเป็นนมที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคนเรามากที่สุด แต่มันก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

ดังที่พบเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยแพ้แลคโตส หรือน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบได้ในน้ำนมของวัว แพะ หากร่างกายใครรับไม่ได้ก็จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หนักเข้าก็ถึงอาเจียน ถ่ายเหลวถ่ายหนักตามมา

ด้วยเหตุนั้น จึงมีคนหัวใสคิดค้น ‘นมทางเลือก’ ให้คนที่อยากดื่มนมแต่แพ้แลคโตส ซึ่งที่คุ้นกันมากที่สุดก็คือ นมถั่วเหลือง ที่เห็นได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตยันร้านโชห่วยริมทาง

แต่ในปัจจุบัน นมทางเลือกจากพืช ไม่ได้มีแต่ถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียว ยังมีนมมังสวิรัติชนิดอื่นๆ ตามออกมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะจากข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ ฯลฯ

โดยตามข้อมูลล่าสุดพบว่า ‘นมทางเลือก’ ที่ทำมาจากพืชสารพัดสารเพ กำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดสินค้าประเภทนมอย่างน่าสนใจทีเดียว

ปัจจุบัน ครัวเรือนในสหรัฐหันมาซื้อนมจากพืชมากถึง 41% แล้ว และตลาดก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ตามที่คาดกันไว้ในปี 2026 จะมีมูลค่าในตลาดถึง 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดขายทั่วโลก (รายงานโดย Global Market Insights)

 

 

โตขึ้นเพราะอะไร

เหตุที่ทำให้ตลาดโตขึ้นนั้น มีการวิเคราะห์กันว่า การดื่มนมจากพืชตื่นขึ้นพร้อมๆ กับกระแสผู้คนที่หันมาสนใจอาหารมังสวิรัติกันมากขึ้น

แน่นอนว่า เหตุผลเรื่องแลคโตสก็ยังถือเป็นกลุ่มใหญ่ ในความหมายมากกว่าดื่ม หรือคือการแพ้นมที่เป็นส่วนผสมในอาหาร

ส่วนเรื่องทางสิ่งแวดล้อมถูกระบุไว้เป็นหมายเหตุต่อท้าย แม้ว่าจริงๆ แล้วประเด็นนี้มีเรื่องมีราวให้ชวนขบคิดต่อ

แล้ว ‘นม’ อะไรดีที่สุด

ตามที่จั่วหัวไว้ตั้งแต่ตอนต้น ในที่นี้เราคงไม่มาชั่งน้ำหนักว่านมชนิดไหนดีต่อสุขภาพมากที่สุด แต่จะมาคุยกันต่อถึงนมจากพืชที่ออกมามากมายว่าอย่างไหนดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน

ซึ่งผลที่ได้จากการเปรียบเทียบจากนมจากพืช 5 ชนิด ได้แก่ อัลมอนด์ เฮเซลนัท ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต และกัญชา

หากว่ากันในเรื่องใหญ่ๆ อย่างปัญหาโลกร้อน การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จากภาคอุตสาหกรรม เราพบว่า นมอัลมอนด์และเฮเซลนัทมีปริมาณคาร์บอนฯ ต่ำที่สุด เนื่องจากเราสามารถปลูกร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ได้ แทนที่เพาะปลูกแบบทุ่งพืชเชิงเดี่ยว จึงใช้พื้นที่น้อยกว่ามาก และมีข้อดีด้วยว่าต้นไม้ที่ปลุกร่วมยังดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้อีกต่อหนึ่ง

ตรงกันข้าม หากพูดกันถึงเรื่องการประหยัดน้ำ กลับพบว่า การปลูกถั่วเหลืองกลับใช้น้ำน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับปริมาณนมที่เท่ากัน

หรือในอีกด้านหนึ่ง กลับพบด้วยว่า หากต้องการรักษาธาตุอาหารในดิน นมข้าวโอ๊ตถูกยกเป็นทางเลือกดีที่สุด เพราะมีศักยภาพในฐานะพืชคลุมดิน สามารถปลูกได้ในช่วงอากาศเย็น จึงสามารถช่วยคืนสารอาหารให้กับดินในช่วงนอกฤดูเพาะปลูก

ดังนั้น ผลมันจึงกลับกลายเป็นว่า แต่ละอย่างกลายเป็นมีดีคนละด้าน ไม่มีแบบไหนที่ดีที่สุด คำตอบจึงเป็นเรื่องการ “ผสมผสาน” สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

เช่น อุตสาหกรรมต้องไม่เพิ่มคาร์บอนฯ จนถึงจุดที่ทำให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ต้องสอดคล้องกับทรัพยากรของน้ำจืดที่เหลืออยู่ในอนาคต หรือต้องไปทำให้คุณภาพดินเสื่อมสภาพจนเพาะปลูกสิ่งใดไม่ได้

หรือในอนาคตหากเราสามารถพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อให้ผลที่มีประสิทธิภาพได้ดีกว่าเดิม นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (เช่นเดียวกับที่ตอนนี้เราพยายามลดก๊าซมีเทนจากการเรอของวัวได้สำเร็จ)

ในฐานะผู้บริโภคเราควรเลือกแบบไหน

ปัจจุบัน มีงานวิจัยทางสิ่งแวดล้อมหลายชิ้นที่พยายามโน้มน้าวให้คนหันมาดื่มนมจากพืชแทนนมวัว ถึงแม้นมจากพืชจะมีข้อดีในหลายๆ ด้าน แต่ก็อาจมีเรื่องเบื้องหลังดำมืดซ่อนอยู่ และกลายเป็นอุตสาหกรรมทำลายป่าทำโลกร้อนได้เหมือนกัน

หากจะว่ากันง่ายๆ ก่อนการซื้อสินค้า ควรพยายามมองหา “ฉลากเขียว” หรือ “ฉลากสิ่งแวดล้อม” บนผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งจะช่วยการรันตีได้ระดับหนึ่งว่าต้นทางของสินค้านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง (ต่อให้เป็นนมวัวก็ตาม)

ใครอยากรู้เรื่องฉลากเพิ่มเติม สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ในบทความเรื่อง “ดู ‘ฉลาก’ ก่อนซื้อ วิธีง่ายๆ ที่ผู้บริโภคจะช่วยให้โลกไม่โดนทำร้าย” ได้ที่: https://bit.ly/3wv2mLX

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่เราควรใส่ใจคือ การดื่มนมให้หมดพอดีกับวันหมดอายุ ก็เป็นอีกทางที่ช่วยให้เราใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่เสียเปล่าที่สุด

ข้อมูลจาก : BrandThink

Visitors: 1,213,540