จากโกคูถึงมูราคามิ วันละนิดกับทฤษฎีไมโล

 

จากโกคูถึงมูราคามิ วันละนิดกับทฤษฎีไมโล
 
โกคู ตัวละครเอกในการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอลฝึกซ้อมโดยสวมชุดหนักๆ ไว้ตลอดเวลา มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นเคี่ยวกรำมัดกล้ามเนื้อเพื่อลงแข่งมาราธอนด้วยการซ้อมวิ่งเป็นประจำ ไมโล นักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงในยุคโบราณเป็นหมุดหมายแรกในประวัติศาสตร์ “ทฤษฎีการเพิ่มความหนักในการฝึก” เรื่องราวของทั้งสามคนบอกเราว่าสิ่งสำคัญของการฝึกฝนคือวินัยและความต่อเนื่อง
 
Step 1
โกคู
 
ฉากหนึ่งในการ์ตูนดังเรื่อง ดราก้อนบอล (Dragon Ball) ประพันธ์โดย โทริยามะ อากิระ (Toriyama Akira) นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ระหว่างการประชันฝีมือในศึกชิงเจ้ายุทธภพของโกคูกับเท็นชินฮัง โกคูได้ขอเวลาสั้นๆ เพื่อถอดเสื้อตัวในของตัวเองออกบนเวทีแข่งขัน
 
หลังจากไม่ได้พบกันมานานราว 3 ปี ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปฝึกปรือวิทยายุทธและกลับมาพบกันอีก ทั้งคู่ต่อสู่กันอย่างดุเดือดและสุดสูสี ยากที่คนดูจะตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่ง เท็นชินฮังก็เริ่มมั่นใจว่าตนเองจะเป็นฝ่ายมีชัย ได้รับการชูมือ
 
เท็นชินฮังประเมินแล้วว่าสิ่งที่ตนเองมีเหนือกว่าโกคูคือความเร็ว
 
“ฉันสังเกตการเคลื่อนไหวของนายมาพักหนึ่งแล้ว ความเร็วของนายไม่ได้เปลี่ยนไป” เท็นชินฮังเชื่อมั่นว่าความเร็วในการเคลื่อนไหวคือปัจจัยขี้ขาดผู้ชนะ !
 
ก่อนที่โกคูจะขอเวลาสั้นๆ เพื่อที่จะถอดเสื้อ
 
ชุดสีเข้มที่ถูกพระเอกหนุ่มสวมใส่ไว้ด้านในค่อยๆ ถูกถอดออกทางศีรษะ ก่อนที่เขาจะโยนลงบนพื้น
 
“ตุบ” เสียงเสื้อกระทบพื้นเวที ทำให้เท็นชินฮังประหลาดใจ เมื่อลองหยิบจับก็ต้องตกใจกับน้ำหนักเสื้อที่มากกว่าปรกติ
 
ไม่เพียงเสื้อเท่านั้นที่หนักผิดปรกติ สายรัดข้อมือ รวมถึงรองเท้าที่โกคูทยอยถอดออกทีละชิ้นล้วนเป็นวัสดุพิเศษที่มีน้ำหนักสูงทั้งสิ้น
 
“นี่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝน” พระเอกหนุ่มกล่าวหน้าตาย
 
“ตอนเด็กๆ ฉันเคยฝึกด้วยการแบกกระดองเต่าทะเล นี่เป็นแนวคิดเดียวกัน”
 
หลังถอดเครื่องถ่วงน้ำหนักทั้งหมด ทั้งคู่ก็กลับเข้าสู่การประลองอีกครั้ง
 
ขณะนั้นใบหน้าของเท็นชินฮังเต็มไปด้วยเม็ดเหงื่อผุดพลาย
 
บนโลกแห่งความจริงที่ไม่ใช่เรื่องราวในการ์ตูนหรือนิยาย การแบกสิ่งของหนักๆ ระหว่างฝึกซ้อมมีเค้าลางความจริงมากแค่ไหน
 
การซ้อม “หนัก” แบบโกคูในชีวิตจริงมีความเป็นไปได้แค่ไหนกัน
 
Step 2
มูราคามิ
 
ในหนังสือวิ่งระดับเบสต์เซลเลอร์ What I Talk About When I Talk About Running ของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียน-นักวิ่งชาวญี่ปุ่น ซึ่งสำนักพิมพ์กำมะหยี่ของประเทศไทยนำมาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง สำนวนแปล นพดล เวชสวัสดิ์ อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า
 
“กล้ามเนื้อของคนเราเหมือนวัวควายไถนา ไม่มีความคิดแต่หัวไว ถ้าเราเพิ่มน้ำหนักให้ทีละน้อย สัตว์บรรทุกเรียนรู้ที่จะแบกภาระเพิ่ม...กล้ามเนื้อจะเชื่องเชื่อปฏิบัติตาม และจะเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้น
 
“แน่นอนอยู่แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ตราบใดที่เราใช้เวลาอดทน รอคอย และเพิ่มภาระงานให้ทีละขั้น สัตว์ทรงพลังจะไม่บ่น...สัตว์งานจะเชื่อฟังและเพิ่มความแข็งแกร่งแบกรับงาน”
 
นักเขียนญี่ปุ่นที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่” เข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอนรายการใหญ่ๆ ของโลกเป็นประจำสม่ำเสมอ เฉลี่ยปีละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบอสตัสมาราธอน นิวยอร์กซิตี้มาราธอน โตเกียวมาราธอน ฯลฯ ตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ฝึกซ้อมของตนเองว่าถ้าภาระงานขาดหายไปแม้เพียงสองสามวัน มัดกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายจะอนุมานโดยอัตโนมัติว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำงานหนักแล้ว เมื่อไม่ต้องแบกรับภาระก็จะเริ่มปรับเข้าสู่โหมดพักร้อนผ่อนคลาย ลบล้างความทรงจำของการทำงานหนักไป
 
“หากเราต้องการสอนสั่งประทับความทรงจำใหม่ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการนับหนึ่งใหม่ในกระบวนการนั้นอีกรอบ…
 
“นับเป็นเรื่องสำคัญที่คนเราจะต้องพักเสียบ้าง แต่ในช่วงวิกฤติเช่นการฝึกหนักเพื่อลงวิ่งมาราธอน ผมต้องวางอำนาจ สั่งการมัดกล้ามเนื้อให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าใครเป็นเจ้านาย ผมต้องประกาศให้ทราบชัดว่าผมคาดหวังสิ่งใด ผมต้องเคี่ยวกรำมัดกล้ามเนื้อไม่ให้ลืมเลือน แต่ก็ต้องระวังไม่ฝึกหนักเกินไปจนเผาเครื่องตัวเอง ยุทธวิธีนี้ นักวิ่งที่มีประสบการณ์เรียนรู้ผ่านกาลเวลา”
 
บางสิ่งที่นักเขียนนามอุโฆษชาวญี่ปุ่นถ่ายทอด โดยเฉพาะประโยคที่บอกว่า “กล้ามเนื้อของคนเราเหมือนวัวควายไถนา ไม่มีความคิดแต่หัวไว ถ้าเราเพิ่มน้ำหนักให้ทีละน้อย สัตว์บรรทุกเรียนรู้ที่จะแบกภาระเพิ่ม...กล้ามเนื้อจะเชื่องเชื่อปฏิบัติตาม” ตลอดจนถึงแนวทางการฝึกซ้อมของโกคูในการ์ตูนดังเรื่องดราก้อนบอลมีเค้ารางสอดคล้องกับทฤษฎีไมโล
 
Step 3
ไมโลแห่งครอตัน
 
ราว 532-516 ปีก่อนคริสตกาล ณ เมืองครอตันซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรกรีกโบราณ (ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี) มีชายคนหนึ่งนามว่าไมโล มุ่งมั่นฝึกซ้อมร่างกายให้แข็งแกร่งเพื่อลงแข่งมวยปล้ำ กีฬาโบราณที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น
 
มีบันทึกว่าในวัยเด็ก ไมโลเป็นคนตัวเล็กจนถูกเพื่อนหัวเราะเยาะ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ มุมานะฝึกซ้อม หาทางพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงใหญ่โต ไมโลพยายามฝึกฝนด้วยวีธีการต่างๆ มากมาย หนึ่งในวิธีที่เขาเลือกใช้ในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ร่างกายคือการแบกของหนัก
 
สิ่งที่เขาแบกไม่ใช่ข้าวของธรรมดา หากแต่เป็นลูกวัวที่มีชีวิต
 
ในแต่ละวันไมโลมักจะอุ้มลูกวัวและยกขึ้นเหนือศีรษะ วางพาดบ่า แล้วออกเดินไปรอบๆ หมู่บ้าน ไมโลทำแบบนี้เป็นประจำตลอดระยะเวลา 4 ปี วันเดือนเคลื่อนผ่าน ลูกวัวเติบใหญ่ จากลูกวัวแรกเกิดที่มีน้ำหนัก 13-15 กิโลกรัม กลายเป็นวัวตัวโตน้ำหนักร่วม 600 กิโลกรัม ระหว่างนั้นร่างกายของไมโลก็ค่อยๆ มีพัฒนาการใหญ่โตแข็งแรงขึ้นตามน้ำหนักวัวที่เขาค่อยๆ แบกเพิ่มขึ้นทีละน้อย
 
ไมโลไม่ได้ยกลูกวัวแรกเกิดแล้วเปลี่ยนมายกแม่วัวตัวใหญ่ในทันที แต่เลือกเพิ่มความทนทรหดแก่ร่างกายทีละน้อยอย่างใจเย็น ไม่หักโหม ไม่ผลีผลาม เขาเลือกทำเป็นประจำสม่ำเสมอ สะสมความเข้มข้นของการฝึกซ้อมตามน้ำหนักวัวที่เพิ่มขึ้น
 
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในการยกตัววัวตัวใหญ่ๆ ถึงแม้ต่อให้เป็นคนร่างการสูงใหญ่กำยำ หรือแชมเปี้ยนมวยปล้ำก็อาจไม่สามารถทำได้สำเร็จในทันที แต่ที่ไมโลทำสำเร็จเพราะเขาฝึกยกวัวตัวนี้ทุกวัน น้ำหนักของวัวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันได้สร้างพละกำลังให้แก่ไมโลอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุดร่างกายของชายคนนี้ก็เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อที่คุ้นชินกับน้ำหนักวัว
 
มีบันทึกว่านอกเหนือจากการแบกลูกวัว ไมโลยังให้ความสำคัญกับการกินอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์และขนมปัง หลังแบกวัวและกินอาหารแล้วเขาจะมุ่งมั่นกับการฝึกมวยปล้ำ
 
ในที่สุดความฝันของเขาก็เป็นจริง ไมโลได้เป็นนักมวยปล้ำสมใจ และก้าวไปเป็นแชมป์มวยปล้ำในยุคโอลิมปิกโบราณถึง 6 สมัยซ้อน ชนะเลิศการแข่งขันมวยปล้ำอื่นๆ อีกหลายรายการ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคโบราณ ชื่อของนาย “ไมโลแห่งครอตัน” (Milo of Croton) ยังได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ในฐานะพลทหารคนสำคัญของกองทัพกรีก วีรกรรมการนำทัพชนะสงครามที่ข้าศึกมีจำนวนไพร่พลมากกว่า ถึงขนาดทำให้ไมโลถูกนำไปเปรียบเทียบกับตำนานกรีกโบราณอย่างเฮอร์คิวลีส แต่เรื่องราวของไมโลที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้คือเทคนิคการฝึกซ้อมเพื่อเคี่ยวกรำตัวเองที่ไม่เหมือนใคร
 
การสะสมเพิ่มความเข้มข้นหรือเพิ่มน้ำหนักที่แบกขึ้นทีละน้อยของไมโลสอดคล้องกับการทำ Progressive Training หรือ “ทฤษฎีการเพิ่มความหนักในการฝึก” (the principle of progressive overload) ในแวดวงกีฬายุคปัจจุบัน เทคนิคการฝึกซ้อมของไมโลถูกเรียกว่า “ทฤษฎีไมโล” (Milo’s principle) ที่นักกีฬาหลายคนนำมาประยุกต์ใช้
 
ทุกวันนี้วงการกีฬาสมัยใหม่ยังคงฝึกความแข็งแกร่งเพิ่มศักยภาพให้แก่นักกีฬาตามทฤษฎีไมโล เรื่องเล่าในตำนานประหนึ่งนิทานพื้นบ้านอายุยาวนานหลายพันปี ไม่มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาคัดค้าน ไม่เว้นกระทั่งในหลักสูตรผู้พิชิตมาราธอน
 
สิ่งสำคัญที่ทฤษฎีไมโลบอก หัวใจสำคัญของการฝึกฝนคือความมีวินัย สิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองคือความต่อเนื่องในการฝึกซ้อม เหมือนดั่งที่ไมโลแห่งครอตันได้แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างไว้เมื่อหลายพันปีก่อนแล้ว
 
#PlayNowThailand 
โดย TERI2497 
ขอบคุณที่มา : Play Now Thailand : https://www.blockdit.com/posts/60d6e5c97eeaa30c70747c4c
 
 
 
Visitors: 1,405,377