มาราธอนที่เพิ่งสร้าง? การวิ่งมาราธอนอาจไม่ได้เริ่มต้นจากกรีกโบราณ อย่างที่เราเข้าใจ

มาราธอนที่เพิ่งสร้าง? การวิ่งมาราธอนอาจไม่ได้เริ่มต้นจากกรีกโบราณ อย่างที่เราเข้าใจ

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘ต้นกำเนิดของการวิ่งมาราธอน’ กันมาบ้างว่ามันย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ กองทัพเปอร์เซียซึ่งได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในเวลานั้นได้ยกทัพมาเตรียมเข้าตีกรุงเอเธนส์ เกิดสงครามกันขึ้นระหว่างกรีกและเปอร์เซีย ณ ที่ราบมาราธอน ซึ่งผลปรากฏว่า กองทัพกรีกกลับเป็นฝ่ายชนะในการศึกครั้งนี้ จนนำมาสู่ตำนานที่ว่า ‘ไฟดิปปิดีส’ (Pheidippides) นายทหารชาวกรีกได้วิ่งจากที่ราบมาราธอนกลับไปยังกรุงเอเธนส์เพื่อรายงานข่าวให้กับชาวเมืองได้รับรู้ ซึ่งระยะทางทั้งหมดอยู่ที่ราวๆ 26.2 ไมล์ (ประมาณ 42 กิโลเมตร) จนกลายมาเป็นตำนานการวิ่งมาราธอนอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน


อย่างไรก็ดี นี่อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นจริงๆ ของการวิ่งมาราธอน เพราะแม้จะมีการระบุว่าไฟดิปปิดีสเป็นนายทหารที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ทว่าจากบันทึกของ ‘เฮโรโดตัส’ นักประวัติศาสตร์กรีกผู้ยิ่งใหญ่ ไฟดิปปิดีสนั้นไม่ได้วิ่งจากที่ราบมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์เพื่อประกาศชัยชนะอย่างที่เข้าใจ เพราะเฮโรโดตัสเขียนไว้ว่า ไฟดิปปิดีสนั้นวิ่งไปๆ กลับๆ ระหว่างกรุงเอเธนส์กับสปาตาร์ เป็นระยะทางรวมกว่า 153 ไมล์ เพื่อรวบรวมกองทัพให้มาต่อสู้กับชาวเปอร์เซียต่างหาก


แน่นอนว่า ความอุตสาหะของไฟดิปปิดีสนำมาซึ่งชัยชนะของชาวกรีก ทว่ากลับไม่มีบันทึกว่าเขาเป็นคนที่วิ่งไปประกาศชัยชนะครั้งนี้แต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับมีบันทึกว่า นายทหารที่วิ่งไปแจ้งเรื่องนี้กับชาวเอเธนส์มีชื่อว่า ‘ยูคลีส’ ต่างหาก โดยในปี ค.ศ. 347 ‘พลูทาร์ค’ ปราชญ์ชาวกรีกคนสำคัญก็ได้บันทึกว่า “เป็นที่เข้าใจกันว่า ยูคลีสคือนายทหารที่วิ่งจากสมรภูมิพร้อมเสื้อเกราะร้อนระอุ และพอจะมีแรงพูดแค่ว่า ‘จงเป็นสุขเถิด พวกเราชนะแล้ว’ ก่อนจะหมดลมในทันที”


ทั้งนี้ ความเข้าใจที่ว่า ต้นกำเนิดของการวิ่งมาราธอนมาจากไฟดิปปิดีสนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ผ่านมาเท่านั้น จากกลอนบทหนึ่งของ โรเบิร์ต บราวนิง (Robert Browning) กวีชาวอังกฤษที่เล่าถึงวีรกรรมการวิ่งจากทุ่งมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์ของไฟดิปปิดีส เพื่อประกาศชัยชนะต่อหน้าฝูงชน ก่อนจะล้มลงตาย


อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นไฟดิปปิดีสหรือยูคลีส ก็ไม่มีหลักฐานที่ระบุว่า พวกเขาคือต้นกำเนิดของการแข่งวิ่งในโอลิมปิกยุคโบราณ เพราะมีหลักฐานระบุว่า ระยะทางของการแข่งวิ่งในยุคนั้นสั้นกว่าการวิ่งมาราธอนที่เราคุ้นเคยกันมาก เพียงแค่ 2.85 ไมล์เท่านั้น เพียงแต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า ระยะทางสั้นๆ จะเท่ากับการแข่งวิ่งง่ายๆ เพราะนักประวัติศาสตร์ชี้ว่า นักวิ่งยุคนั้นทุกคนต้องสวมชุดเกราะหนากว่า 60 ปอนด์ในการแข่งวิ่ง!


คำถามคือ แล้วการวิ่งมาราธอนตามความเข้าในใจปัจจุบันเริ่มขึ้นตอนไหนกันล่ะ

ขยับขึ้นมาในช่วงปี 1890s ซึ่งได้มีการก่อตั้ง ‘คณะกรรมการโอลิมปิกสากล’ (IOC) ขึ้นนั้น มิเชล เบรอัล (Michel Bréal) นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้เสนอไอเดียให้มีการแข่งขันวิ่งจากเมืองมาราธอนในประเทศกรีซไปยังเนินเขานิกซ์ (Pnyx) ในกรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นจุดที่ชาวกรีกโบราณมักจะมารวมตัวเพื่อเฉลิมฉลองกัน โดยเบรอัลมองว่า ไอเดียนี้อาจเป็นการแต่งเติมรสชาติแบบกรีกโบราณให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั่นเอง


ทว่าระยะทางจากเมืองมาราธอนไปถึง Pynx นั้นคือ 24.85 ไมล์ (ประมาณ 40 กิโลเมตร) ซึ่งน้อยกว่าวิ่งมาราธอนในปัจจุบัน ต้องรอจนกระทั่งปี 1908 ที่มีการจัดโอลิมปิกขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ระยะทางของการวิ่งมาราธอนได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 26.2 ไมล์ ด้วยเหตุผลที่อาจฟังดูประดักประเดิดอยู่สักหน่อย เพราะระยะทางที่เพิ่มขึ้นอีกไมล์กว่าๆ นั้นก็เพื่อให้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 และราชินีอเล็กซานดราสามารถมองเห็นเส้นชัยได้อย่างชัดเจนเต็มสองตาจากที่นั่งของพวกเขานั่นเอง


อ้างอิง

 
Visitors: 1,228,383