Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024
ปลูกป่า ปลูกคน ปั้นคาร์บอนเครดิต ทางรอดรับมือโลกเดือด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ชี้การปลูกป่า ปลูกคน เป็นทางออกของไทยที่จะบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส วันที่ 17 กันยายน 2567 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดเวทีเสวนา Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ “ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด” หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง ว่า “หัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลงประกอบด้วยการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ (nature-based solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชน” ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี “การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และนอกจากนั้นป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน ดังนั้นในการเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ และจะแยกจากกันไม่ได้” ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาคีต่าง ๆ ในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่โดยมีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน “ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM2.5 แต่เราพบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย “ปลูกป่า ปลูกคน” นี่จึงทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มปื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต” นอกจากนี้ ในขณะที่การแสวงหาคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยังตั้งข้อสังเกตว่าประชาคมโลกกำลังจัดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันใหม่ โดยมีแนวโน้มการพัฒนาคาร์บอนเครดิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” ว่า “เศรษฐกิจไม่ใช่อย่างเดียวที่เราพูดถึงแล้ว เพราะทุกวันนี้ธรรมชาติแปรปรวนมากและยากที่จะคาดเดา” ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช กล่าวว่า ตัวอย่างเห็นได้ชัด การที่น้ำทะเลร้อนขึ้นทำให้โอกาสการเกิดพายุไต้ฝุ่นมากขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วยเช่นเหตุการณ์พายุยางิเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงอนุสัญญาปารีสว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีการพัฒนาและออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายโลกร้อน” ในปี 2568 โดยจะมีทั้งภาคสม้ครใจและภาคบังคับเพื่อให้ประเทศลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม “ป่าชุมชน ยังเป็นโมเดลสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อลดกระทบทางสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง“ พื้นที่ป่าชุมชนเป็นพื้นที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และผลกระทบ จากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหรือภาวะโลกเดือด โดยในภาพรวมของประเทศไทย ผลจากการขยายป่าชุมชนและจากความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ ประชาชนและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาป่าชุมชน ส่งผลให้ประชาชนกว่า 4 ล้านครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนโดยการเก็บหาของป่า ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 5 พันล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำในดินและปลดปล่อยน้ำได้มากกว่า 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร และที่สำคัญต้นไม้ในป่าชุมชนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า 42 ล้านตันคาร์บอน งานดังกล่าว ยังมีวงเสวนาถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลพลอยได้เป็นคาร์บอนเครดิตที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ นางปราณี ราชคมน์ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ขณะเดียวกันยังมีการเสวนาหัวข้อ “ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ: จากทางเลือกสู่ทางรอด” โดยตัวแทนภาคเอกชนมาแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน กลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริง ประกอบด้วย นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน)นางสุศมา ปิตากุลดิลก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ นางสุมลรัตน์ ทวีกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท ยูนิ.ชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังพร้อมนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปเสริมทัพกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเอกชนเพื่อนำกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชุมชน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการระบบน้ำ การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการของเสีย เป็นต้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมุ่งมั่นต่อยอดแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนควบคู่กับการฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติ สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solution) และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์จากระบบนิเวศเป็นแนวทางในการปรับตัว (Ecosystem-based adaptation) การจัดงานครั้งนี้ยังได้รับตรารับรอง Net Zero Event งานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก “สุทธิเป็นศูนย์” จาก อบก. โดยมีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในงานด้วย “คาร์บอนเครดิตจากการอนุรักษ์ป่าไม้” ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการพิจารณาหลากหลายทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส ซึ่งประเทศไทยร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตันเทียบเท่าภายในปี พ.ศ.2580 นอกจากนี้ไทยก็ได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) เพื่อที่จะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 – หรือเป้าหมาย 30×30 #MaeFahLuangSustainabilityForum2024 #MaeFahLuang #Doitung #NatureBasedSolutions #CarbonCredit #CommunityForrest #Climate #Biodiversity #BestPractice #Sustainability #แม่ฟ้าหลวง #ดอยตุง #ป่า #ปลูกป่า #ปลูกป่าปลูกคน #ความหลากหลายทางชีวภาพ #ระบบนิเวศ #ป่าชุมชน #คาร์บอน #ยั่งยืน #SDThailand
ที่มา : https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1653992 |