รู้จัก Jitasa.Care เว็บไซต์ค้นหาจุดตรวจ จุดพักคอย ที่เผาศพ ไปจนถึงอัพเดตเคสผู้ป่วยที่รอรับการช่วยเหลือแบบเรียลไทม์

รู้จัก ‘Jitasa.Care’ เว็บไซต์ค้นหาจุดตรวจ จุดพักคอย ที่เผาศพ ไปจนถึงอัพเดตเคสผู้ป่วยที่รอรับการช่วยเหลือแบบเรียลไทม์

 

 

ปัจจุบัน การระบาด COVID-19 ไม่ได้เกิดเป็นกลุ่มก้อน แต่ไวรัสได้กระจายตัวไปพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและผู้รอรับการรักษาอยู่ทั่วไปหมด กลุ่ม ThaiFightCOVID จึงสร้างแผนที่ Jitasa.Care อัพเดตสถานการณ์แบบกึ่งเรียลไทม์ ทั้งเคสผู้ป่วย จุดรับตรวจ จุดพักคอย ไปจนถึงวัดที่รับเผาร่างผู้เสียชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ ในระหว่างที่โรค COVID-19 ระบาดหนัก

กลุ่ม ThaiFightCOVID และวิศวกรอาสาสมัครได้ร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ Jitasa.Care ซึ่งเป็นเว็บไซต์แผนที่ดิจิทัล แสดงความต้องการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นพิกัดผู้ป่วยที่รอการรักษา โรงพยาบาลที่เปิดให้ตรวจหาเชื้อ โรงพยาบาลสนาม หรือจุดพักคอยที่ยังว่างอยู่ ไปจนถึงวัดที่รับฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจาก COVID-19

เว็บไซต์นี้ทำงานโดยอาศัยความร่วมมือจากอาสาสมัครมาร่วมแบ่งปันข้อมูลการจุดต่างๆ โดยจะแบ่งเป็น

– อาสาข้อมูล : ช่วยปักหมุดและอัพเดตข้อมูลทั่วไป เช่น ศูนย์พักคอย A เต็มแล้ว ไม่ต้องมาเพิ่มวันนี้ หรือเพิ่มข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบ

– อาสาติดต่อ : ติดต่อสื่อสารกับผู้เดือดร้อนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ หรือช่วยให้คำปรึกษาทางแพทย์ต่างๆ

– อาสาพาไป : ผู้ดำเนินงานในพื้นที่หน้างาน ทำงานร่วมกับนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์

The MATTER ได้ไปพูดคุยกับ ปิยพรรณ หันนาคินทร์ และสรณ์กุล เถาหมอ ผู้ร่วมพัฒนาเว็บไซต์ดังกล่าว โดยทั้งคู่เล่าว่า จุดมุ่งหมายที่ทำเริ่มทำเว็บไซต์นี้คือ ต้องการเป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยเหลือประเทศ

ในช่วงแรก ทางทีมเริ่มต้นที่การหาวัดสำหรับฌาปนกิจเคสที่เสียชีวิตจาก COVID-19 และนำมารวบรวมข้อมูลในรูปแบบแผนที่ดิจิทัล โดยอาศัยการเก็บข้อมูลด้วยวิธีให้อาสาสมัครแต่ละคนมาอัพเดตข้อมูลร่วมกัน

จากนั้นทีมเริ่มต่อยอดด้านอื่น โดยมีโจทย์หลักคือ ต้องการมอบความช่วยเหลือไปยังประชาชนได้ทันท่วงทีและไม่ซ้ำซ้อน จึงมีการขยายข้อมูลความต้องการด้านต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบการปักหมุด ซึ่งทีมตั้งเป้าจะให้ทั้งผู้ต้องการความช่วยเหลือ และผู้ให้ความช่วยเหลือเข้ามาใช้งานร่วมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้แพลตฟอร์มนี้เป็นเหมือนกระดาษทดออนไลน์ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้

ปิยพรรณและสรณ์กุล เล่าว่า ในตอนแรกสุด ทีมนี้เริ่มมากจากอาสาสมัครภาคเอกชน แต่ช่วงหลังก็มีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น อย่างช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าไปประชุมกับ สมช. และหน่วยงานรัฐที่ทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา COVID-19 ซึ่งภาครัฐก็ส่งสัญญาณบวกว่าจะนำระบบนี้ไปใช้ร่วมกับภาคปฏิบัติ เช่น Call Center เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่ซ้ำซ้อน

แต่ตอนนี้ เคสต่างๆ ที่รอรับความช่วยเหลือ ก็มีอาสาหลายส่วนเข้ามาช่วยติดต่อ ช่วยประสานเตียง ช่วยเคลื่อนย้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมหมออาสา ทีมไทยรอด ทีมจาก Thai PBS แต่ก็ยังต้องการอาสาสมัครมาช่วยเหลืออีกมาก

 

เมื่อสอบถามว่าในอนาคตจะมีการขยายขอบเขตไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือไม่ ทั้งคู่เล่าว่า ทีมได้ทำระบบรองรับไว้แล้ว และพร้อมให้ประชาชนในต่างจังหวัดมาใช้งาน แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยข้อมูลอัพเดตจากอาสาสมัครในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งตอนนี้ จังหวัดอื่นๆ ก็เริ่มมีเข้ามาบ้างแล้ว

สำหรับใครที่ต้องการเป็นอาสาสมัคร เพียงแค่เพียงเข้าเว็บ https://jitasa.care/ และสมัครโดยใช้เลขหมายโทรศัพท์และ OTP ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานต่างๆ อาทิ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิร่วมกตัญญูมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดที่รับเผาร่างผู้เสียชีวิต รวมถึงมีเครือข่ายบุคลากรแพทย์มาช่วยตอบปัญหาสุขภาพผู้ป่วยระหว่างที่ยังไม่สามารถหาเตียงได้

และสำหรับผู้ป่วยคนดังที่ต้องการความช่วยเหลือก็สามารถสมัครโดยใช้เบอร์โทรศัพท์ โดยจะไม่มีการบันทึกข้อมูลใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยทุกคน

สำหรับใครที่ต้องการเข้าไปดูรายละเอียดเว็บไซต์ ตามไปดูได้ที่ : https://www.jitasa.care/

 

อ้างอิงจาก

https://www.thairath.co.th/news/society/2150517

https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6531157

https://web.facebook.com/photo?fbid=5990457660996166&set=a.235072089868114

ที่มา : 

#Brief #TheMATTER

 

 

Visitors: 1,405,376