วานิลลา แมคคาเดเมีย กาแฟ พืชมีมูลค่าน่าปลูก จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

วานิลลา แมคคาเดเมีย กาแฟ พืชมีมูลค่าน่าปลูก จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

 1 | วานิลลา

แปลงทดลองปลูกวานิลลาตั้งอยู่บนดอยผาหมี อยู่ใกล้เส้นเขตแดนไทย-พม่า ซึ่งเดิมทีพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด พร้อมส่งเสริมให้เกิดอาชีพสร้างรายได้ และมีการจ้างงานผู้เข้าบำบัดที่สมัครใจอยู่ต่อ เมื่อโครงการสิ้นสุดลงได้มีการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ โดยปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงนั่นคือวานิลลา ซึ่งอยู่ในช่วงพัฒนาองค์ความรู้ในพื้นที่ปลูกทั้งหมด 12 ไร่ ซึ่งแต่ละแปลงจะมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน

วานิลลา สายพันธุ์ Planifolia Andrew. เป็นสายพันธุ์หลักที่ปลูกในพื้นที่ ตามธรรมชาติที่เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับกล้วยไม้ เครื่องปลูกจึงใช้เพียงกาบมะพร้าวสับเท่านั้น โดยสร้างเสาหุ้มด้วยกาบมะพร้อมสับในตะแกรงพลาสติก เมื่อต้นวานิลลาเริ่มเลื้อยจะเติบโตยึดกับเสาปลูกตามธรรมชาติ ซึ่งจากการทดลองพบว่าระดับความสูงของเสาอยู่ที่ 1.50 เมตร จะสะดวกต่อการดูแล ก้มเก็บฝักและผสมเกสรดอก ปัจจัยสำคัญในการปลูกคือแสงและความชื้น ต้องการแสง 50% นานครึ่งวันถึงเต็มวัน ความชื้นปานกลาง ไม่แฉะ พื้นที่ต่ำก็ปลูกได้

 

การใส่ปุ๋ยจะให้ปุ๋ยทั้งทางใบและทางดิน โดยใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำฉีดพ่นทางใบ และให้ปุ๋ยเม็ดสูตรเสมอบำรุงต้นทางดิน ทั้งนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองจึงอาจจะปรับเปลี่ยนตามช่วงการเจริญเติบโตด้วย

วานิลลาปลูกง่ายแต่ใช้เวลานาน และมีรายละเอียดที่ต้องดูแลหยิบย่อย กว่าจะเก็บผลผลิตนานถึง 15 เดือน อย่างเวลาออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายนต้องผสมเกสรในช่วงเช้าไม่เกิน 10.00 เมื่อวานิลลาติดฝักพร้อมเก็บเกี่ยว ก้นฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก่อนเข้าสู่กระบวนการบ่มซึ่งใช้เวลานานถึง 6 เดือน

 

มูลค่าของฝักแห้งจะวัดจากความยาว ตรง สวย ให้ระดับเป็นเกรด A B C โดยเกรด A จะมีความยาวอยู่ที่ 15-17 เซนติเมตร 

น้ำเชื่อมวานิลลา ผลิตผลที่ใช้ภายในโครงการหลวง วานิลลาจากแปลงปลูกส่งตรวจสารวานิลีน (สารให้กลิ่น) อยู่ในระดับ 1.5-2.0 ซึ่งใกล้เคียงกับกลิ่นของวานิลลาจากมาดากัสก้าที่อยู่ในระดับ 2.1-2.2

 

2 | แมคคาเดเมีย
แมคคาเดเมียเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงชนิดแรกที่ปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ แก้ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าที่กลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น จึงเกิดการจ้างงานให้ชาวเขาที่ไร้สัญชาติ เปลี่ยนกองกำลังติดอาวุธมาปลูกป่าทดแทนยาเสพติด ให้เกิดเป็นป่าเศรษฐกิจ และพืชมูลค่าสูง ซึ่งมีพืช 2 ชนิดที่ถูกผลักดันในแปลงทดลองคือกาแฟและแมคคาเดเมีย 

แมคคาเดเมียในพื้นที่แปลงนวุติ อายุต้นอยู่ที่ 30 ปี ซึ่งตามธรรมชาติต้นแมคคาเดียเมียจะมีอายุยืนว่า 100 ปี โดยจะติดผลครั้งแรกเมื่ออายุได้ 15 ปี ทางโครงการได้พัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ผลผลิตที่เร็วขึ้น แต่มีความแข็งแรง ต้านโรคได้ดี ด้วยการทดลองปลูกรวม 13 สายพันธุ์ เพื่อคัดสายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุด นำผลมาเพาะเมล็ดเมื่ออายุครบ 1 ปีจะทำการตัดยอดเพื่อต่อยอดกับอีกสายพันธุ์ให้ผลผลิตจำนวนมาก ทำให้ร่นระยะเวลาการให้ผลผลิตเหลือเพียง 8-9 ปีเท่านั้น

 

 

 

การปลูกและดูแลแมคคาเดเมีย ยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชอบน้ำมาก ไม่ชอบน้ำขัง จึงเหมาะกับพื้นที่ลาดชันบนดอยทั้งการป้องกันแมลงศัตรูพืชที่จะมากัดกินช่อดอก หรือศัตรูพืชอย่างกระรอกที่จะกัดกินผลแมคคาเดเมียในช่วงติดผล หลังติดผลต้องตัดแต่งกิ่ง ตัดสางเปิดระยะ ก่อนจะออกดอกรอบใหม่

 

แมคคาเดเมียทุกต้นมีการทำทะเบียนข้อมูลอย่างชัดเจน รวมพื้นที่ปลูก 1,100 ไร่ กำลังให้ผลผลิตที่ 2 หมื่นต้น 1 ต้นจะให้เมล็ดเขียวเฉลี่ย 50 กิโลกรัม/ต้น/ปี เมื่อสีแล้วจะเป็นเปลือกกะลาเหลือ 20 กิโลกรัม สีเปลือกกะลาออกจะเหลือเม็ดถั่ว 4 กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่าต้นแมคคาเดเมีย 1 ต้นจะให้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 4 กิโลกรัม/ต้น/ปี

 

แมคคาเดเมียรสชีส อร่อยชนะใจแอดมินไปเลย ผลิตภัณฑ์จากแมคคาเดเมียของโครงการพัฒนาดอยตุง

 

3 | กาแฟ
กาแฟ เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านรอบๆ ปลูกเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน ทั้งเสริมองค์ความรู้ให้ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ และรับซื้อเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟออกสู่ตลาดซึ่งพบเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าทั่วไป

การพัฒนาผลิตผลของกาแฟให้มีราคาที่สูงขึ้นในข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ปลูกที่ไม่สามารถขยายเพิ่มไปได้ นั่นคือจะต้องพัฒนาสายพันธุ์และจัดการแปลงให้แต่ละต้นผลิตผลกาแฟในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งการตัดแต่งทำสาว การจัดการระยะห่างแต่ละต้น ไปจนถึงการตัดต้นบางส่วนเพื่อปรับปรุงพันธุ์และทดลองปลูก Specialty coffee ที่มีราคาสูงในตลาดกาแฟ โดยคัดเลือกพันธุ์ที่ปลูกในที่สูง 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นค่าตรงกลางจากสายพันธุ์ที่ชาวบ้านปลูกอยู่แล้ว ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมคือ Catimor Arabica ที่เติบโตใต้ป่าสนที่เป็นป่าปลูกดั้งเดิมได้

สเตชั่นดริปจาก 3 เมล็ดคุณภาพ Bourbon ,Caturra และGI Doitung เมล็ดกาแฟ Bourbon ,Caturra, GI Doitung เป็นกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ดอยตุง จัดการแปลงและ Process แบบดอยตุง ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

 

การส่งเสริมให้ชาวบ้านรอบๆ โครงการปลูกกาแฟเพื่อเน้นแก้ปัญหาเรื่องความยากจนเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่ป่าสนดั้งเดิมให้เกิดประโยชน์ ซึ่งได้ทดลองปลูกที่แปลงนวุติจำนวน 88 แปลง เมื่อปลูกสำเร็จโครงการหลวงดอยตุงได้ส่งความเป็นเจ้าของให้ชาวบ้าน และขยายผลไปทั้งผาหมี ผาฮี้ ลิเช ฯลฯ กระจายไปทั่วทั้งดอยจำนวน 1,402 แปลงรวม 9,350 ไร่ เป็นจำนวนรวม 3 ล้านกว่าต้น

Doitung Latte ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่จากดอยตุง

 

ที่มา : บ้านและสวน
https://www.facebook.com/BaanlaesuanGardenAndFarm

 

 

Visitors: 1,216,820