Google ของเราไม่เหมือนกัน : เมื่อผู้คนในแต่ละมุมโลกเห็นผลลัพธ์การเสิร์ชที่แตกต่างกัน
Google ของเราไม่เหมือนกัน : เมื่อผู้คนในแต่ละมุมโลกเห็นผลลัพธ์การเสิร์ชที่แตกต่างกันก่อนจะเริ่มอ่านบทความนี้ ลองเสิร์ชหาคำว่า ‘God’ ดูสิ คุณเจอผลลัพธ์แบบไหนบ้าง? แล้วคุณคิดว่าทุกคนจะเห็นผลลัพธ์แบบเดียวกันกับคุณไหม?
“เราจะจัดระเบียบข้อมูลต่างๆ บนโลก และทำให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างถ้วนหน้า” เป็นพันธกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่แทบทุกวันว่า Google ได้ครอบครอง ‘โลกของการค้นหา’ สิ่งต่างๆ ในชีวิตเรา (บางทีเด็กๆ ก็เชื่อ Google มากกว่าครูหรือพ่อแม่เสียอีก) แต่ Search Atlas โปรเจกต์ใหม่จาก MIT อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า “ถ้วนหน้า” ไม่ได้แปลว่า “เหมือนกัน” โครงการวิจัย Search Atlas ของ Rodrigo Ochigame จาก MIT และ Katherine Ye จาก Carnegie Mellon University คือการทำให้เรารับรู้และดูง่ายๆ ว่า เมื่อเราค้นหาคำคำหนึ่งใน Google ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่เหมือนกัน เช่นถ้าหากเราอยู่คนละมุมของโลก หรือแม้แต่แค่เราเลือกภาษาที่ใช้บน Google ต่างกัน (วิธีเปลี่ยนภาษาคือเข้าไปหน้าแรกของ Google กดรูปเฟืองมุมขวาบน และเลือกเปลี่ยนภาษา) ยกตัวอย่างเช่น หากเราเสิร์ชคำว่า ‘God’ เราอาจจะเห็นผลลัพธ์ลิงก์และภาพของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ ตามแบบรูปวาดในยุโรปและอเมริกา หรือผลลัพธ์ของเราอาจจะเป็นพระพุทธเจ้า พระอัลเลาะห์ หรือแม้แต่วง K-pop ก็ได้ หากเราใช้ภาษาหรืออยู่ในประเทศ (ตรวจจับจาก location) ที่แตกต่างกัน โดยโฆษกของ Google อธิบายเรื่องนี้ว่า นั่นเป็นเพราะบริการแปลภาษาของ Google พยายามที่จะหาความหมายเฉพาะของคำนั้นๆ ในบริบทของภาษาที่แตกต่างกัน
ส่วนตัวคิดว่าก็น่าจะดีที่ Google ก็ดูพยายามช่วยเราคิดมาในระดับหนึ่ง และพยายามที่จะนำเสนอผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับเรา แต่ข้อกังวลของทีมวิจัยที่สร้าง Search Atlas ขึ้นมานี้ ก็ชวนให้คิดมากเช่นกัน เมื่อพวกเขาตั้งคำถามกับเครื่องมือค้นหาที่บอกว่าตัวเอง ‘มีความเป็นกลาง’ และทุกคนเข้าถึงได้ แต่กลับถูกขีดคั่นด้วย ‘ขอบเขตของข้อมูล’ (information border) ที่ถูกแบ่งโดยเทคโนโลยีของ Google ซึ่งทำให้เราเห็นความจริงเพียงส่วนเดียวของโลก จากการที่เราอยู่ประเทศที่ต่างกัน หรือพูดภาษาที่ต่างกัน พวกเขาจึงทดลองสร้างเครื่องมือค้นหาขึ้นมาเว็บหนึ่ง (ซึ่งหน้าตาก็เหมือน Google เลยนั่นแหละ) เมื่อเราใส่คำค้นหาเข้าไป แทนที่จะแสดงออกมาเป็นรายการผลลัพธ์ยาวๆ ลงมาทีละเว็บ (เหมือน Google) เว็บนี้จะแสดงหน้าจอที่มี 3 คอลัมน์ แต่ละอันแสดงรายการผลลัพธ์ที่คุณจะได้เห็นจากการเสิร์ชคำนี้ในแต่ละส่วนของโลก ซึ่งคุณสามารถเลือกดูเองได้ (โดยที่แปลเป็นภาษาที่เราอ่านออก ด้วย Google Translate ให้) โดยการแสดงผลออกมาหน้าตาเป็นเส้นขีดแบ่งแบบนี้ ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะสะท้อนถึง ‘ขอบเขตของข้อมูล’ นั่นเอง
อีกมุมหนึ่งที่ทีมวิจัย Search Atlas กระตุกให้คิด คือเรื่องภาพสะท้อนด้านบริบททางวัฒนธรรมและทางการเมืองด้วย เช่นการเสิร์ชภาพ (Google Image) คำว่า ‘Tiananmen Square’ เราอาจจะได้เห็นผลลัพธ์เป็น ‘ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง’ แต่ถ้าเราอยู่ในจีนหรือเลือกใช้ภาษาจีน เราจะได้เห็นเพียงแค่ภาพสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น (อย่างไรก็ตาม จีนก็ได้บล็อคการเข้าถึง Google ไปแล้ว หลัง Google บอกว่าจะเลิกเซ็นเซอร์ผลการค้นหาที่ ‘เซนซิทีฟ’ ต่อรัฐบาลจีน) ซึ่งโฆษกของ Google ก็เคยต้องออกมาอธิบายเรื่องผลการค้นหาจตุรัสเทียนอันเหมินนี้เหมือนกัน ว่าไม่ได้เกี่ยวกับการเซนเซอร์เนื้อหาแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะการเลือกใช้ภาษาหรือโลเคชั่นนั่นแหละ ที่ทำให้ภาพสถานที่ท่องเที่ยวท่วมท้นภาพการปราบปรามทางการเมืองไปอย่างไม่ตั้งใจ ตัวอย่างอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น ถ้าเสิร์ชคำว่า “how to combat climate change” จะพบแนวโน้มผลลัพธ์ที่แตกต่างระหว่างประเทศที่อยู่บนภาคพื้นทวีปกับประเทศที่เป็นเกา เช่น ผลการค้นหาในเยอรมนี จะเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่างๆ อย่างการใช้พลังงานทางเลือก หรือความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ถ้าเสิร์ชที่ฟิลิปปินส์ จะได้ผลลัพธ์เกี่ยวกับการรับมือกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า ทีมวิจัยบอกว่า การทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาก็เพื่อเตือนให้เห็นว่าสิ่งที่ Google เลือกแสดงหรือไม่แสดงนั้น มันมีพลังในการทำให้คนมองข้ามหรือเลือกมองบางอย่าง ซึ่งทีมมองว่ามันสำคัญ เพราะคนมักจะถาม Google ในบางสิ่งที่พวกเขาอาจจะไม่ถามคนอื่นๆ รอบตัว และหลายๆ ครั้ง คำตอบนั้นก็เปลี่ยนชีวิตและความเชื่อของพวกเขาได้เหมือนกัน เช่น ฉันควรทำแท้งไหม? หรือ ฉันควรฉีดวัคซีนหรือเปล่า? นิตยสาร WIRED ได้ทดลองใช้ Search Atlas นี้ค้นหาเกี่ยวกับสงครามปลดปล่อยทิเกรย์ในเอธิโอเปียและพบความแตกต่าง ต่อให้เป็น Google ในประเทศที่ติดกันอย่างเคนยา นั่นคือเมื่อใช้ Google Ethiopia ค้นหา ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเพจและบล็อกที่วิจารณ์เกี่ยวกับแรงกดดันทางการทูตของกลุ่มประเทศยุโรปที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ขณะที่ถ้าขยับไปเสิร์ชในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง Google Kenya ผลการค้นหาจะเป็นลิงก์ของสื่อตะวันตกอย่าง BBC และ The New York Times ที่พยายามอธิบายแรงกดดันทางการทูตเหล่านั้นอย่างมีเหตุมีผล ต้องบอกว่าทีม Search Atlas ก็ไม่ใช่ทีมแรกหรอกที่ตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นกลาง’ ของเว็บไซต์ที่ให้บริการเครื่องมือค้นหา (แต่อาจจะเป็นทีมแรกที่สร้างเว็บไซต์โลกคู่ขนานขึ้นมาอย่างจริงจัง!) ก่อนหน้านี้ Safiya Noble ที่เขียนหนังสือ Algorithms of Oppression ก็ได้พยายามอธิบายอัลกอริธึมของ Google ที่ผลการค้นหาคำอย่าง Black หรือ Hispanic กลายเป็นการสะท้อนและส่งเสริมอคติและความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม โดย Noble มองว่า Search Atlas นี้อาจจะทำให้หลายๆ คน ‘เห็นภาพ’ มากขึ้นว่าเครื่องมือค้นหาเหล่านี้ไม่มีความเป็นกลางอย่างไร ยิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Google ที่ครอบครองทั้งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและข้อมูลของผู้ใช้จากบริการต่างๆ ไว้อย่างมหาศาล
ไอเดียของ Search Atlas ถูกนำเสนอที่งานประชุมวิชาการ Designing Interactive Systems เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และตอนนี้ทีมนักวิจัยก็กำลังปล่อยเวอร์ชั่นทดสอบในกลุ่มเฉพาะอยู่ ก็หวังว่าจะได้ออกมาให้เราลองเล่นลองใช้กันในเร็ววันนี้ และเป็นไปได้ว่าสิ่งที่ Search Atlas เผยออกมาให้เห็น อาจจะเป็นตัวเร่งให้มาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมกับการถกเถียงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น เป็นที่ถกเถียงกันเข้มข้นขึ้น ทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ
อ้างอิงข้อมูลจาก
ที่มา : The Matter
|